สธ.เตือนระวัง"ไข้เลือดออก"ระบาดซ้อน"โควิด19" คนไทยภูมิคุ้มกันต่ำมาก

สธ.เตือนระวัง"ไข้เลือดออก"ระบาดซ้อน"โควิด19" คนไทยภูมิคุ้มกันต่ำมาก

สธ.เตือนไข้เลือดออกระบาดซ้อนโควิด19 เดงกี่ 2 มาแรงสายพันธุ์น่ากังวล คาดหลังช่วงสงกรานต์เจอหนัก หลังเว้นในไทยมา 2 ปี  คนไทยภูมิคุ้มกันต่ำมาก ปีนี้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย อย่าชะล่าใจมีอาการเข้าข่ายไข้เลือดออกรีบพบแพทย์ -กำจัดลูกน้ำยุงลาย

     เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นของไทย  โดยข้อบ่งชี้การระบาดไข้เลือดออกคือ ลูกน้ำยุงลาย  ซึ่งการสำรวจพบว่าขณะนี้ดัชนีลูกน้ำยุงลายเริ่มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะต้นปีนี้มีฝนตกมาก จึงจับสัญญาณว่า ไข้เลือดออกน่าจะมาแรง คาดเริ่มระบาดหลังสงกรานต์มากขึ้น น่าจะระบาดมาก เพราะธรรมชาติของไข้เลือดออกจะระบาดลักษณะ 1 ปีเว้นปีหรือเว้น 2 ปี เนื่องจากไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์  และไม่ได้ระบาดในไทยมา 2 ปีแล้ว ฉะนั้น คาดว่าคนไทยภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออกจะต่ำมาก

        “ปีนี้คาดว่าน่าจะเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์เดงกี่ 2 ซึ่งสายพันธุ์นี้น่ากังวล เพราะหากติดเชื้อร่วมกับสายพันธุ์อื่น ก็จะทำให้โรคมีความรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง ทั้งนี้ ไข้เลือดอกไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ โดยจะมีจุดวิกฤตคือ เมื่อไข้สูงแล้วไข้กำลังลด หลังจากนั้นจะมีอาการเลือดออก ช็อก ช่วงนี้ต้องประคับประคองให้ดีอย่างใกล้ชิด เช่น ดูดเลือดออก ให้สารน้ำเพื่อป้องกันอาการช็อก และหากเลือดออกมาก ก็จะเกิดน้ำท่วมปอดเสียชีวิตได้”นพ.โอภาสกล่าว 

    นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า อาการไข้เลือดออกช่วงแรกใกล้เคียงโควิด19มาก และโควิด19ที่ระบาดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เมื่อติดเชื้อพร้อมกัน อาการช่วงแรกจะมีไข้ อาจจะแยกไม่ออก ยกเว้นจะมีอาการระบบทางเดินหายใจชัดว่าเป็นโควิด19 เช่น น้ำมูก เจ็บคอ แต่ถ้ามีไข้ ปวดเมื่อยตัว ปวดหัวมาก คลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ก็จะเป็นอาการไข้เลือดออก ฉะนั้น หากมีอาการคล้ายเป็นไข้เลือดออก ก็ขอให้พบแพทย์ เจาะเลือดวินิจฉัย อย่าคิดว่าตัวเองเป็นเฉพาะโควิด19
        “ 2โรคนี้เป็นพร้อมกันได้ เจอผู้เสียชีวิตแล้ว อาการมีไข้ ปวดหัว มีน้ำมูกนิดหน่อย คิดว่าเป็นโควิด19 ตรวจเจอโควิด19 แต่อาการเริ่มแย่ลง มีอาเจียนเป็นเลือด แพทย์เจาะเลือดตรวจพบไข้เลือดออก ฉะนั้น ถ้าเจออาการแปลกๆ ไม่แน่ใจ ให้รีบพบแพทย์ ซึ่ง 3 เดือนแรกของปีนี้ พบการเสียชีวิตแล้ว 3 รายเมื่อเทียบกับปีที่แล้วทั้งปีเสียชีวิต 6 ราย โดยกลุ่มที่ต้องระวัง เดิมจะเกิดในเด็ก แต่หลังๆ พบในผู้ใหญ่มากขึ้น เนื่องจากพ่อแม่เริ่มป้องกันลูกมากขึ้น แต่ผู้ใหญ่อาจจะไม่ได้ระวังตัว แม้แต่อายุ 60 ปีก็เป็นได้ เป็นได้ทุกกลุ่มอายุคิดว่าเป็นไข้หวัดทั่วไป หรือโควิด ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระวัง ขอให้ทุกคนฝ่าย ทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อสม. ช่วยกันกำจัดลูกน้ำในภาชะที่มีน้ำขัง เพื่อลดโอกาสเกิดยุงลาย”นพ.โอภาสกล่าว

     ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกปีนี้เกิดจากรู้ตัว และรักษาช้าหรืออย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า เกิดขึ้นทั้งจากรู้ตัวช้า คิดว่าติดโควิด19 คิดว่าจะไม่เป็นอะไร และไม่นึกว่าไข้เลือดออกปีนี้จะมาแรงและเร็ว บางคนคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดาก็ไปกินยาลดไข้ ในกลุ่มของเอ็นเสด(NSAIDs) หรือแอสไพริน ทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารมากขึ้น ซึ่งผู้เสียชีวิตปีนี้เป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ยังไม่พบเด็กเล็กเสียชีวิต แต่ต้องระวังต่อไป

         นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า กรมควบคุมโรค เตรียมแผนรองรับแล้ว ซึ่งในวันที่ 22มี.ค.2565 จะมีการเสนอในที่ประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงฯ เพื่อให้นายแพทย์สาธารณสุขนำแผนปรับใช้ ผ่านกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่ไม่ได้ดูเฉพาะโควิดอย่างเดียว แต่ต้องดูโรคที่ก่ออันตรายให้ประชาชนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แผนแบ่งเป็นระยะ ในส่วนระยะก่อนระบาด จะต้องติดตามดูกรณีเจอคนไข้สงสัยรายแรก ก็ให้รีบเข้าไปควบคุม ซึ่งขณะนี้เราได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง เพื่อสำรวจและพ่นสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลาย