แยกให้ชัด! “อาการโควิด”- “ไข้เลือดออก” 2 โรคที่ระบาดเวลาเดียวกันตอนนี้    

แยกให้ชัด! “อาการโควิด”- “ไข้เลือดออก” 2 โรคที่ระบาดเวลาเดียวกันตอนนี้    

กรมการแพทย์เผย “อาการโควิด"โอมิครอน พบมากสุด ไอ เจ็บคอ ระบุอาการโควิด19ใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดแล้ว กำชับต้องระวังเพิ่มขึ้นอาจจะเจอ "โรคไข้เลือดออก" มีอาการไข้ อ่อนเพลียเหมือนๆ กัน

  เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ประเด็นอาการของโรคโควิด19 ในปัจจุบัน ว่า ขณะนี้พบว่าผู้ติดโควิด19ส่วนใหญ่ราว 50% ไม่มีอาการป่วย ส่วนที่มีอาการ 50% จำแนกอาการย่อยได้เป็น ไอและเจ็บคอ 50% อ่อนเพลีย เป็นไข้ 30-40% และถ่ายเหลว 10% ทั้งนี้ อาการโควิด19ใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดแล้ว แต่ช่วงนี้ที่ต้องระวังเพิ่มขึ้นอาจจะเจอโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งจะมีอาการไข้ อ่อนเพลียเหมือนๆ กัน
       ดังนั้น หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการคล้ายไข้หวัด หรือแม้แต่ถ่ายเหลว เบื้องต้นให้ตรวจ ATK ได้ทันที หากเป็นผลลบก็ให้สังเกตอาการตัวเองใน 48 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาล(รพ.) เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการโรคอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ หากติดแล้วก็ต้องกักตัวเอง เพราะแม้จะไม่มีอาการรุนแรง แต่หากไปพบคนอื่นที่ภูมิต้านทานน้อย มีโรคร่วมก็จะมีความเสี่ยง

        ผู้สื่อข่าวถามว่าการรองรับผู้ติดโควิด19 แบบผู้ป่วยนอก(OPD) เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากเป็น รพ.สังกัดกรมการแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตน์ รองรับผู้ติดเชื้อได้วันละ 1,000 ราย จาก 2 ช่องทาง คือ 1.คลินิกโรคไข้หวัด(ARI Clinic) ซึ่งผู้ติดเชื้อราว 70% เลือกการรักษาแบบ OPD และอีก 20-30% เลือกรักษาจากที่บ้าน(Home Isolation) และ 2.เพื่อแบ่งเบาภาระงานของสายด่วน 1330 รพ.แต่ละแห่งจะออก QR Code เพื่อให้ผู้ป่วยเก่าส่งต่อให้ผู้อื่นเพื่อเข้าระบบบริการ สัดส่วนเลือกการรักษาแบบ OPD ราว 60% และอีก 30-40% เลือกรักษาจากที่บ้าน(HI) อย่างไรก็ตาม เรากำลังทำ QR Code ส่วนกลางขึ้นมาแบ่งเบาภาระสายด่วน 1330 ให้ได้วันละ 1-2 พันราย

          เมื่อถามถึงความพร้อมของ รพ. เพื่อรองรับ UCEP โควิด พลัส ผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการสีเหลือง สีแดง นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วย UCEP โควิด พลัส ถือเป็นผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง รพ.ทุกแห่งรองรับได้อยู่แล้วทั้งรพ.รัฐ และเอกชน แต่สิ่งที่กังวลคือ กลุ่มสีเขียวที่อาการเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องจัดระบบที่ดีจากสิทธิสุขภาพนั้นๆ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ประกันสังคม ต้องประกาศเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า หากติดเชื้อแล้วมีอาการเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยสามารถเข้า รพ.ในเครือข่ายได้ทุกแห่งหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องรอการประกาศเกณฑ์ตรงนี้

อาการไข้เลือดออก
    กรมควบคุมโรค ระบุว่า  หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการคล้ายไข้เดงกี (dengue fever: DF) ไปจนถึงมีอาการรุนแรง (dengue hemorrhagic fever: DHF) และรุนแรงมาก จนถึงช็อกและเสียชีวิต (dengue shock syndrome: DSS)

      โรคไข้เลือดออกเดงกี มีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ดังนี้

  1. ไข้สูงลอย 2-7 วัน
  2. มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง
  3. มีตับโต กดเจ็บ
  4. มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก

การดำเนินโรคของโรคไข้เลือดออกเดงกี แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต/ช็อก และระยะฟื้นตัว

  1. ระยะไข้ 
    ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ เบื่ออาหาร อาเจียน และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้
         อาการเลือดออกที่พบบ่อยคือ ที่ผิวหนัง การทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน
           ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) ส่วนใหญ่จะคลำตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ
  2. ระยะวิกฤติ/ช็อก
    ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี จะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้
         อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก
  3. ระยะฟื้นตัว
    ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ระยะฟื้นตัวมีช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน

วิธีการติดต่อโรคไข้เลือดออก

  • โรคไข้เลือดออกเดงกีติดต่อกันได้โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นแมลงนำโรคที่สำคัญ และในชนบทบางพื้นที่ จะมียุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นแมลงนำโรคร่วมกับยุงลายบ้าน เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นป่วยได้