ต้นแบบรถไฟฟ้าระบบราง ขบวนแรกของไทบ คาดเปิดใช้งาน มิ.ย.นี้

ต้นแบบรถไฟฟ้าระบบราง ขบวนแรกของไทบ คาดเปิดใช้งาน มิ.ย.นี้

ความก้าวหน้ารถไฟฟ้าระบบรางของไทย คาด ตัวต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบา ผลงาน มทร.อีสานร่วมกับ ช.ทวี เตรียมต่อยอดผลิตสำหรับขบวนรถไฟฟ้ากลางเมืองขอนแก่น เปิดใช้งาน มิ.ย.นี้

เนื่องจากรัฐบาลได้กําหนดเป็นแผนระยะยาวที่จะพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ โดยกําหนดการลงทุนมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาทในระยะ 4 ปี และในระยะยาว 20 ปี กําหนดแผนจะลงทุนพัฒนาระบบขนส่งทางรางเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท

ตามขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยในขณะนี้ เงินลงทุนดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อสร้างงานให้แก่คนไทยประมาณ 50 % ส่วนที่เหลือจะถูกใช้ออกไปนอกประเทศในรูปของการจัดซื้อชิ้นส่วน อุปกรณ์ และนวัตกรรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ประเทศไทยควรจะได้รับประโยชน์จากเงินลงทุนมากขึ้น

โดยนําไปก่อให้เกิดการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถไฟ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มพูนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังทําให้วิศวกร ช่างเทคนิค และแรงงานผลิตในภาคอุตสาหกรรม มีงานทํามากขึ้น

รวมถึงทําให้เกิดผลพลอยได้ในรูปของนวัตกรรมด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะช่วย ก่อให้เกิดการบูรณาการด้านเทคโนโลยี อันเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมีเกียรติภูมิของประเทศอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน

เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ได้ประชุมหารือและดําเนินการเพื่อกําหนดมาตรการที่จะเพิ่มบทบาทของภาคอุตสาหกรรมไทยในการพัฒนาระบบขนส่งทางราง และการจัดตั้งสถาบันพัฒนาระบบขนส่งทาง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนด้านความรู้ เทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแก่ภาคอุตสาหกรรม

ทั้ง สำหรับการพัฒนาระบบรางรถไฟฟ้าของไทยนั้น จากเส้นทางรถไฟปัจจุบัน (รถไฟระบบเดิม)  มีระยะทางรวม 4,346 กิโลเมตร หลังจากภาครัฐมีแนวคิดดำเนินการก่อสร้างทางคู่ เพื่อแก้ปัญหาการสับหลีกขบวนรถ

 

  • ความก้าวหน้าอุตสาหกรรมระบบรางในไทย

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างทางคู่เพิ่มเติมในหลายเส้นทาง รวมถึงเส้นทางรถไฟสายใหม่ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ตั้งเป้าปี 2580 ประเทศไทยจะมีโครงข่ายเส้นทางรถไฟ 6,463 กิโลเมตร

ส่วนการพัฒนารถไฟฟ้าของประเทศไทยมีพัฒนาการเกือบ 20 ปีใน 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 156 กิโลเมตร โดยแผนการเกิดโครงการรถไฟฟ้า ว่ากันว่า มีรถไฟฟ้า 14 สาย ใน ปี 2572 ระยะทางรวม 550 กิโลเมตร จำนวน 367 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 4,762 ตารางกิโลเมตร

อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟความเร็วสูง  ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับไทยที่จะขนส่งได้อย่างรวดเร็ว โดยตามแผนมี 4 เส้นทาง รวมระยะทาง 2,466 กิโลเมตร ปัจจุบัน ได้เริ่มโครงการใน  2 เส้นทาง คือกรุงเทพ –นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบรางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มาจากการที่ประเทศต้องการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจอื่นๆก็จะเติบโตตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น  ธุรกิจด้านท่องเที่ยว อันก่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดธุรกิจอื่นๆตามมาในท้องถิ่น

เมื่อเร็วๆ นี้ สื่อสารนโยบาย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ดำเนินรายการ Future Talk by NXPO ตอนที่ 9 “ปั้น Future Mobility ฝีมือคนไทยสู่เชิงพาณิชย์” โดยนำเสนอความก้าวหน้าระบบรางของไทย

รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ( บพข.) กล่าวว่า ตอนนี้มีหลายหน่วยงาน หลายกระทรวงกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของไทย ให้เป็นไปตามแผนในการพัฒนาของประเทศ

 

 

  • ไทยหลุดพ้นกับดับรายได้ปานกลาง มหาวิทยาลัย-เอกชนทำงานร่วมกัน

รศ.ดร.สิรี กล่าวต่อว่าที่ผ่านมามีหลายมหาวิทยาลัยได้มีการจัดทำเรื่องดังกล่าว โดยทำงานร่วมกับเอกชน  แต่ทั้งนี้หากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยไทยทำงานร่วมกับภาคเอกชนยังน้อยอยู่

ทุกประเทศที่หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง จะหลุดได้เมื่อมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือมหาวิทยาลัยพัฒนาควบคู่กับภาคเอกชน เพราะหากภาคเอกชนไม่มีการทำงานวิจัย พัฒนานวัตกรรม ก็ไม่สามารถจะช่วยให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้

การให้มหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนทำงานร่วมกัน มีความจำเป็นอย่างมาก แต่ในส่วนของประเทศไทย อาจจะยากลำบาก เนื่องจากมีช่องว่างในการบริหารจัดการไม่มีการเชื่อมการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน และการทำเหมือนเดิมอาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งตอนนี้ถือว่าเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะเราต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง และฝั่งอาจารย์ ภาคเอกชน ต้องมาลองทำงานร่วมกัน ผลิตนวัตกรรมร่วมกันรศ.ดร.สิรี กล่าว

หลายอย่างที่ บพข.ทำ จะไปออกดอกออกผลที่กระทรวงอื่นๆ บพข.เป็นเพียงต้นน้ำ และทำหน้าที่สนับสนุนกระทรวงอื่นๆ อาทิ  สนับสนุนการพัฒนาในเรื่องระบบราง พยายามประสานกับหน่วยงานต่างๆ  เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ประเทศจะได้ก้าวหน้า 

  • เตรียมเปิดตัวรถไฟฟ้ารางเบา ฝีมือคนไทยขบวนแรก มิ.ย.นี้ 

ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และหัวหน้าโครงการวิจัย โครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา กล่าวว่าในกลุ่มมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาและสนับสนุนเรื่องอุตสาหกรรมระบบรางอย่างมาก โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งวิศวกรรมแต่ละสาขาจะมีความเชี่ยวชาญในแต่ละส่วน เช่น วิศวกรรมระบบราง เขาก็จะเชี่ยวชาญเรื่องของระบบรางทั้งหมด ขณะที่วิศวกรรมไฟฟ้า จะเชี่ยวชาญระบบไฟฟ้า อันนำไปสู่การขับเคลื่อน ซึ่งสิ่งที่ภาคการศึกษาต้องปรับ คือการส่งงานวิจัยที่เกิดองค์ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคเอกชนด้วยวิธีไหนได้บ้าง

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีความตื่นตัวในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน และพยายามทำงานให้รวดเร็วเท่าทันความต้องการของภาคเอกชน แต่ทั้งนี้ การทำงานกับภาคเอกชน แม้จะใช้โจทย์จริง แต่ต้องมีการบูรณาการหลายๆ คณะ และมหาวิทยาลัยต้องมีการสนับสนุนในการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย

“ฝากผลงานโครงการวิจัยไฟฟ้ารางเบา ออกแบบและผลิตโดยคนไทยขบวนนี้ คาดว่าจะเดินรถในเดือนมิ.ย. นี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าขบวนรถที่ผลิตโดยคนไทยสามารถวิ่งได้ จะทำให้เห็นถึงศักยภาพผู้ผลิตชิ้นส่วน สามารถผลิตเทคโนโลยีด้านระบบราง”ดร.ไพวรรณ กล่าว

  • เอกชนแนะทุกกระทรวงอย่าแย้งผลงาน ควรทำงานร่วมกัน

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช ทวีจำกัด ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง เนื่องด้วยทาง มทร.อีสาน เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามาเรียนรู้ และได้ทำงานร่วมกัน หลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งเรื่องของระบบราง อุตสาหกรรมระบบราง ไม่ใช่เรื่องใหม่ วิศวกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ทุกคนสามารถทำเรื่องนี้ได้ หรือบางคนมีการทำอยู่แล้ว

"อุตสาหกรรมระบบราง ไม่ใช่ศาสตร์ใหม่ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีการสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง และไม่มีเวทีให้รถไฟฟ้าได้วิ่ง ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนกับมหาวิทยาลัยสามารถขับเคลื่อนได้ แต่เมื่อภาครัฐ กระทรวงต่างๆ เข้ามาร่วม ส่วนใหญ่กระทรวงจะนำไปเป็นหลักในการทำงานของตัวเอง  แต่การเป็นหลักในที่นี้ กลับไม่ได้เชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นๆ จะเป็นลักษณะต่างกระทรวงต่างแย้งผลงานต่อกัน" สุรเดช กล่าว

อย่าง งานวันนี้เป็นกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะดึงกระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม หรือสภาพัฒน์ฯ กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามา เพื่อทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

  • ขอให้เชื่อมั่น คนไทยสร้างรถไฟฟ้าระบบรางได้

สุรเดช กล่าวต่อไปว่า ถ้าจะดูภาพรวมในเรื่องระบบราง ซึ่งผู้ที่มองภาพรวมและมีอำนาจอาจต้องยอมรับว่า พวกเขาอาจจะไม่เข้าใจในเรื่องระบบราง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกแห่ง อาจต้องทำความเข้าใจกับผู้มีอำนาจว่าโครงการนี้ดีอย่างไร และอยากให้เชื่อมั่นว่าคนไทยทำได้ เพราะส่วนใหญ่คนไทยก็จะไม่เชื่อมั่นผลงานคนไทยด้วยกัน อย่าง  รถเข็นที่ใช้ในเครื่องบิน หรือการต่อเรือ ก็มองว่าคนไทยทำไม่ได้ จนคนไทยต้องผลิตและไปขายให้ต่างประเทศก่อน คนไทยถึงจะมาสั่งซื้อ หรือมองว่าคนไทยทำได้

"คนไทยสามารถสร้างนวัตกรรม ผลิตชิ้นส่วน หรือสร้างอะไรได้หลายอย่าง อดีต  คนไทยเคยสร้างเครื่องบินเอง สร้างรถไฟเอง แต่ตอนนี้กลับมองว่าเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้น  อยากให้รัฐบาลมองโอกาสและให้เวทีสำหรับคนที่ทำได้ และทำเป็น ขอให้มั่นใจงานวิจัยไทย สินค้าไทยสุรเดช กล่าว

ทั้งนี้ โครงการวิจัยพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาดังกล่าว เป็นโครงการที่ บพข. จัดสรรทุนวิจัยให้กับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ร่วมกับบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่าย 

ถือเป็นการพัฒนาด้านระบบขนส่งทางรางที่ผลิตได้ในประเทศไทย ทดแทนการนำเข้าขบวนรถไฟ และอะไหล่จากต่างประเทศ และเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถวิจัย พัฒนา และออกแบบการผลิตขบวนรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้เองภายในประเทศ และเพื่อรองรับความต้องการด้านการขนส่งทางรางในอนาคต 

ผู้ประกอบการในประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งมีเครื่องมือเครื่องจักรที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว การสนับสนุนทุนวิจัยนี้เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอุตสาหกรรมระบบคมนาคมของไทย