3 ข่าวใหญ่ ติดตามอย่างไร ไม่เพิ่มเสี่ยงซึมเศร้า-ปัญหาสุขภาพจิต  

3 ข่าวใหญ่ ติดตามอย่างไร ไม่เพิ่มเสี่ยงซึมเศร้า-ปัญหาสุขภาพจิต  

ขณะนี้มี 3 ข่าวใหญ่ในความสนใจของประชาชน “แตงโมนิดา” “รัสเซียยูเครน” และ “โควิดโอมิครอน” ช่วง 1 เดือนที่ผ่านกรมสุขภาพจิตจึงพบสัญญาณ”ปัญหาสุขภาพจิต” 4 เรื่องที่แนวโน้มเสี่ยงมากขึ้น  ซึมเศร้าเสี่ยงเพิ่ม 4.8 เท่า จะติดตามอย่างไรให้สมดุล ปลอดภัย

      พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ความเครียดและซึมเศร้าของประชาชนที่มีประวัติป่วยโรคจิตเวชเปรียบเทียบระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ กับ ต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา  พบว่ามีอัตราเครียดและซึมเศร้าสูงขึ้น จากการบริโภค  3 ข่าว ได้แก่ 1.ข่าวการเสียชีวิตของดาราดังตกน้ำ (แตงโมนิดา) เนื่องจากเป็นบุคคลที่ทุกคนชื่นชอบ ประกอบกับเงื่อนงำทางคดีจึงมีคนสนใจมาก  2. ข่าวสงครามรัสเซีย ยูเครน   ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก และ3. โควิดโอมิครอน  
เสี่ยงซึมเศร้าสูงขึ้น 4.8 เท่า 
         จากการพยากรณ์ความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่มาใช้บริการผ่านช่องทาง www.วัดใจ.com โดยเปรียบเทียบสถิติจริงของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กับ ค่าพยากรณ์สถิติของเดือนมีนาคม 2565 พบมีจะแนวโน้มความเสี่ยงโดยรวมที่สูงมากขึ้น
     โดยพบว่า ประชาชนอาจมีความเครียดสูงขึ้นเป็น 2.1 เท่า ซึมเศร้าสูงขึ้น 4.8 เท่า ฆ่าตัวตายสูงขึ้น 5.9 เท่า และภาวะหมดไฟ สูงถึง 9.7 เท่า นอกจากนี้ จากการพยากรณ์สถิติยังพบข้อมูลที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ จำนวนประชาชนมีพลังใจที่ลดลง จะมีเพิ่มมากขึ้นกว่า 80% 

 ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ
      ประชาชนควรบริโภคข่าวสารอย่างมีสติ อย่าใจจดจ่อกับข่าวสารมาก เลือกช่วงเวลาการรับข่าวสารแบบพอประมาณ ไม่ต้องติดตามทุกชั่วโมง  พยามยามเสริมภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง มีการเลือกเสพข่าวสารแบบแยกแยะ เช่น แหล่งข่าวที่น่าเชื่ออย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เสพสื่อทุกอย่าง ทุกความเห็นของทุกคน เพราะการรับข่าวสารมากเกินไป

      “จากการคุยกับจิตแพทย์ 4 คนที่มีการติดตามคนไข้ พบว่า อาการของผู้ป่วยน่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีจิตใจเปราะบาง ซึมเศร้า เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว  บางคนมีอาการนอนไม่หลับ ซึ่งปกติก็หลับยากอยู่แล้ว  หรือ หลับตาแล้วเห็นว่า การตกน้ำเป็นต้น  เป็นสัญญาณที่ทำให้อาการแย่ลง ไม่มีสมาธิ เบื่อหน่าย จึงแนะให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ดูแลต้องใส่ใจ ดึงผู้ป่วยออกจากการเสพข่าวสาร และหันไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้พบว่า ในผู้ใช้บริการสายด่วน 1323 มีคนใช้บริการมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความเครียด จึงเตรียมรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปหาแนวทางป้องกัน” พญ. อัมพร กล่าว

2 ไม่ 1 เตือนลดผลกระทบทางจิตใจ                

พญ.อัมพร กล่าวด้วยว่า ท่ามกลางความเศร้าโศกจากการเสียชีวิตของ  "คุณแตงโมนิดา พัชรวีระพงษ์" นักแสดงชื่อดัง กรมสุขภาพจิต อยากให้สังคมได้เรียนรู้จากการสูญเสียในเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะยังมีประเด็นที่สังคมยังมองข้าม เช่น ปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุทางน้ำ การจัดการกับเรือที่ใช้ความเร็วสูง การควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการขับขี่และโดยสารเรือ จึงขอความร่วมมือสื่อและสังคมช่วยกันใช้หลัก “2 ไม่ 1 เตือน” 
        คือ 2 ไม่ ได้แก่ 1. ไม่ผลิต 2. ไม่ส่งต่อข่าวที่ไม่สร้างสรรค์ และ 1 เตือน คือ เตือนภัยและช่วยกันสะท้อนความผิดปกติเหล่านี้จากเหตุการณ์เพื่อเป็นบทเรียน  และขอเน้นย้ำกับประชาชนว่า การพาตัวเองเข้าไปในเนื้อข่าวตลอดเวลา ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมไปกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งที่มองแง่บวกหรือลบ ทำให้เกิดความสับสน เกิดความวิตกกังวลต่อเนื่อง บางรายอาจถึงขั้นเห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น