เทคโนโลยีทางการแพทย์ กับการต่อสู้กับ “โรคมะเร็ง”

เทคโนโลยีทางการแพทย์ กับการต่อสู้กับ “โรคมะเร็ง”

โรคมะเร็งยังคงครองตำแหน่งการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก การพยายามเอาชนะของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เพียงคิดค้นและวิจัยเพื่อหาวิธีรักษา แต่รวมถึงการป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดและการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วย ยิ่งตรวจเจอระยะเริ่มต้นยิ่งเพิ่มโอกาสรักษาหายได้

โรคมะเร็งยังคงครองตำแหน่งสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก รองจากโรคหัวใจ โดยในปี 2020 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งถึง 10 ล้านราย เช่นเดียวกับประเทศไทยที่โรคมะเร็งนับเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยในอันดับต้นๆ และพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงพยายามคิดค้นวิจัยเพื่อหาวิธีต่อสู้กับโรคมะเร็งแต่ละชนิด โดยให้ส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายผู้ป่วยให้น้อยที่สุด ซึ่งนับเป็นงานที่ท้าทายเป็นอย่างมาก

การพยายามเอาชนะโรคมะเร็งของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ใช่เพียงการคิดค้นและวิจัยเพื่อหาวิธีรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ แต่ยังรวมถึงการป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งด้วย เพราะยิ่งตรวจเจอมะเร็งได้ในระยะเริ่มต้น จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้ โดยล่าสุดมีรายงานจากวารสาร Science Translational Medicine ว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเครื่องตรวจหามะเร็งปอดด้วย AI (Lung Cancer Artificial Intelligence Detector) โดยเป็นการตรวจหามะเร็งปอดระยะเริ่มต้น โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ได้จัดลำดับยีนของเนื้องอกที่เก็บจากผู้ป่วยมะเร็งปอดแล้วได้พบการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของการเผาผลาญไขมันในเซลล์ประเภทต่างๆ จากนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์จาก ม.ปักกิ่งกลุ่มนี้จึงได้เลือกไขมัน 9 ประเภท ที่สร้างโดยเซลล์มะเร็งเหล่านี้ ก่อนจะแพร่กระจายในพลาสมาของเลือด แล้วใช้อัลกอริธึมของ Machine Learning สร้างแบบจำลองการตรวจจับเชื้อมะเร็งด้วย AI ซึ่งจากการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 คน พบว่าเครื่องตรวจหามะเร็งปอดด้วย AI นี้ มีความแม่นยำสูงถึง 92% ด้วยเทคโนโลยีนี้ จะทำให้สามารถตรวจคัดกรองประชากรที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดได้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การรักษาโรคมะเร็งปอดทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในฝั่งของไทยเอง ล่าสุด มีรายงานความคืบหน้าจาก "โครงการแพทย์จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง” ถึงผลวิจัยวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 สำหรับขั้นตอนของการวิจัยวัคซีนนี้เริ่มจากการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละรายมาถอดรหัสพันธุกรรม แล้วตรวจหาการกลายพันธุ์ที่พบในชิ้นเนื้อมะเร็ง (Neoantigen) ซึ่งในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการกลายพันธุ์ที่แตกต่างกันกว่า 1,000 แบบ แล้วนำข้อมูลการกลายพันธุ์นั้นมาผลิตเป็นชิ้นส่วนโปรตีนของมะเร็งที่กลายพันธุ์ขนาดเล็ก ซึ่งจะมีเพียงข้อมูลการกลายพันธุ์เท่านั้นไม่สามารถก่อโรคได้ แล้วจึงฉีดวัคซีนที่ได้นี้เข้าไปในร่างกายผู้ป่วยเพื่อไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด T-Cell ให้รู้จักการกลายพันธุ์ของมะเร็งเฉพาะบุคคลนั้นๆ มากขึ้น ซึ่งการผลิตวัคซีนเฉพาะนี้จะทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมกับการกลายพันธุ์นั้นๆ และจะทำให้การรักษาโรคมะเร็งมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจากผลการทดลองในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการทดลองมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยคืออาการปวดบริเวณที่ได้รับวัคซีนเท่านั้น ในขณะที่การสร้างภูมิหลังได้รับวัคซีนเป็นที่น่าพอใจ โดยพบว่า หลังได้รับวัคซีน เซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งทำหน้าที่เป็นเซลล์หลักในการฆ่าเชื้อมะเร็งกระจายตัวเข้าไปในชิ้นเนื้อมะเร็งมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนและสามารถจัดการกับเชื้อมะเร็งได้ดีขึ้น

หากการวิจัยวัคซีนมะเร็งเฉพาะจุดของทีมนักวิจัยไทยนี้ประสบความสำเร็จ จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการพยายามคิดค้นวิจัยของทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เพื่อเอาชนะโรคมะเร็ง ศัตรูตัวฉกาจของประชากรโลก และคาดว่าด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นในอนาคต เราจะสามารถเอาชนะโรคมะเร็งได้อย่างแน่นอน

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPT Wealth Manager