สธ.ปรับฉากทัศน์โควิด19โอมิครอนใหม่ เดือนมี.ค.อาจทรงตัว

สธ.ปรับฉากทัศน์โควิด19โอมิครอนใหม่ เดือนมี.ค.อาจทรงตัว

สธ.คาดมี.ค.ติดโควิด19ใหม่จะเริ่มทรงตัว   ปรับฉากทัศน์โควิดโอมิครอนใหม่  คาดติดเชื้อใหม่กว่า 20,000-สูงสุด 1 แสนราย  ปอดอักเสบอยู่ที่ 1,000 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 400-500 ราย เสียชีวิต 50 คนต่อวัน  ขาขึ้นอีก 2-6 สัปดาห์ก่อนทรงตัวและค่อยๆลดลง

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า  อัตราเสียชีวิตของโลกอยู่ที่ 1.37 % จากระยะเริ่มต้นระบาดเมื่อ 2 ปีก่อนอยู่ที่  3 %  แสดงว่าความรุนแรงลดลงในภาพรวมของโลก สำหรับประเทศไทยอัตราเสียชีวิตในยระลอกโอมิครอนตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 อยู่ที่ 0.18 % และในผู้เสียชีวิต 90 % เป็นกลุ่ม  608 คือผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ขณะที่ช่วงสายพันธุ์เดลตา มีผู้เสียชีวิตที่ไม่ใช่กลุ่ม 608 ราว 30 % แสดงว่าโอมิครอนค่อนข้างทำอันตรายผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น เชิญชวนผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีน ให้มีภูมิคุ้มกันช่วยลดป่วยและเสียชีวิตได้   

   “ สถานการณ์โรคโควิด19ประเทศไทย พบผู้ป่วยวติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกภูมิภาค ทำให้พบผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจ เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ดดยเฉพาะกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง  อ้วน และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้ เน้นตรวจจับการระบาดในลักษณะคลัสเตอร์ ในกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในวงกว้าง เช่น ร้านอาหารกึ่งผับ บาร์ กิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 500 คน ในสถานที่ปิด พูดคุยและไม่สวมหน้ากากเป็นเวลานาน  คาดการณ์เดือนมี.ค.ผู้ติดเชื้อน่าจะอยู่ในแนวระดับระนาบ และค่อยๆ ลดลง”นพ.เกียรติภูมิกล่าว   
คาดป่วยปอดอักเสบ 1,000กว่าราย 
    กรมควบคุมโรคได้คาดการณ์สถานการณ์หรือฉากทัศน์ในเดือนถัดๆไป  โดยดูจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเดือนมี.ค.จะเป็นระดับระนาบและค่อยๆลดลง ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่ 1,000 กว่าราย ระบบสาธารณสุขยังสามารถดูแลได้ ซึ่งสมัยเชื้อเดลตา อยู่ที่ 6,000-7,000 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ คาดอยู่ที่ 400-500 ราย ช่วงเดลตาอยู่ที่ 1,300 ราย จะดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อลดการเสียชีวิต สำหรับผู้เสียชีวิต อาจจะขึ้นเป็นสัดส่วนตามผู้ติดเชื้อและค่อยๆลดลง คาดจะอยู่ที่ 50 คนต่อวัน

 อัตราครองเตียงป่วยรุนแรง 20 %  
     นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า  สถานการณ์เตียง ภาพรวมทั้งประเทศมีการครองเตียง 59 %  แยกเป็นเตียงระดับ 3 ดูแลผู้ป่วยรุนแรง ครองเตียง 21.9 %  ระดับ2.2 ผู้ป่วยสีเหลืองแก่ อัตราครองเตียง 13 % ระดับ 2.1 ผู้ป่วยสีเหลือง ครองเตียง 23 %  และระดับ 1 อาการน้อยหรือไม่มีอาการ ครองเตียง 67.8 %  จึงอยากยืนยันว่าผู้ป่วยที่จำเป็นต้องอยู่รพ.คือผู้ป่วยระดับ2.1-3 จะใช้เตียงอยู่ประมาณ 20 % ซึ่งใช้ไป 1 ใน 5 ของศักยภาพที่มีอยู่ ส่วนที่เป็นเตียงเขียวจะเพิ่มบริการให้คนอยู่บ้านเพราะเชื้อรุนแรงลดลงและดูแลตนเองได้ เพื่อเข้าสู่การจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่นต่อไป
     ยันไม่ขาดยา
        การสำรองยาฟาวิพิราเวียร์  ทั่วประเทศกว่า 16.9 ล้านเม็ด  รวมถึงองค์การเภสัชกรรยังมีแผนจัดหาและผลิตยาเพิ่มอีก 87.6 ล้านเม็ด โดยวันที่ 28 ก.พ.ได้จัดส่งกระจายไปทุกภูมิภาคอีก 5 ล้านเม็ด และวันที่ 1 มี.ค.จัดส่งไปอีก 15 ล้านเม็ด ที่มีข่าวว่าจะขาดยาไม่เป็นความจริง เพราะมีการเตรียมยาอยู่ในแผนงานและพื้นที่จำนวนมาก
      คาดมี.ค.เริ่มทรงตัว

       ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  ดูตามเหตุการณ์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะระบาดมาก 1-2 เดือนแล้วค่อยๆลดลง  ขณะนี้ประเทศไทยแนวโน้มขาขึ้นมาราว 2 สัปดาห์ คาดว่าจะสูงอยู่อีกประมาณ 2-6 สัปดาห์  หลังจากนั้นก็จะเริ่มทรงตัว และลดลงได้ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มาตรการยังเข้ม มีการฉีดวัคซีนโควิด19เข็มกระตุ้นมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่อยู่รพ. 2 แสนรายนั้น เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบเพียง 0.45  %  และใส่ท่อช่วยหายใจ 0.13 %  ส่วนเรื่องสายพันธุ์โอมิครอน BA.2นั้น ความสามารถในการแพร่เชื้อเร็วกกว่า BA.1 แต่ความรุนแรงไม่ต่างกัน

        “หากพิจารณาแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นไป ติดเชื้อจะเริ่มทรงตัว และค่อยๆลดลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมาตรการต่างๆ  และได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เป็นต้น” นพ.โอภาสกล่าว 
ติดเชื้อใหม่วันละ 20,000-1แสนราย
     ผู้สื่อข่าวรายงาน  การคาดการณ์ตามฉากทัศน์ในส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้น ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด หากเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกันโรคมี.ค.-เม.ย.2565 ปฏิบัติได้ตามการเตือนภัยโควิด19 ระดับ 4 งดการรวมกลุ่ม ทำงานที่บ้าน ชะลอเดินทาง และเร่งการฉีดวัคซีนมากขึ้นทุกเข็ม และปฏิบัติตามVUCAอย่างเคร่งครัด จะอยู่ที่วันละ กว่า 20,000 ราย    จะเริ่มทรงตัวราว 16 มี.ค.2565  
    ระดับกลาง  คงมาตรการต่างๆและประชาชนร่วมมือในระดับปัจจุบัน และคาดการณ์พบการแพร่ระบาต่อเนื่องไปทุกจังหวัดจนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดอยู่ที่ราว 50,000 ราย ช่วงกลางเม.ย.2565
     ระดับแย่ที่สุด  ผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดแยกกัก-กักตัว ฉีดวัคซีนทุกเข็มต่ำกว่า  2 แสนโดสต่อวัน ประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนต่อมาตรการป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล(UP) ผู้ติดเชื้อสูงสุดราว 1 แสนราย  ช่วงกลางเดือนเม.ย.2565