"หน่วยปฎิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ RAMA EMO" รองรับดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน

"หน่วยปฎิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ RAMA EMO" รองรับดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิด"หน่วยปฎิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ RAMA EMO" เข้าช่วยผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและเผชิญในภาวะวิกฤต บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย

วันนี้ (17 ก.พ. 2565) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน จัดพิธีเปิด หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ RAMA EMO: Ramathibodi Emergency Medical Operation Unit ขึ้น ซึ่งจะเป็นหน่วยที่ทำหน้าที่ในการประสานงานและส่งทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและเผชิญในภาวะวิกฤต ในพื้นที่โดยรอบคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม  ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ถือว่ามีความจำเป็นในอันดับต้น ๆ ของการบริการของโรงพยาบาล และยังเป็นหนึ่งในงานที่มีความสำคัญอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา

การมีหน่วยปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล จะช่วยเพิ่มการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้มาก ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่จุดเกิดเหตุ ระหว่างการนำส่งผู้ป่วย กระทั่งนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีการดูแลเฉพาะด้านที่เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยทั้งระบบและบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ RAMA EMO (Ramathibodi Emergency Medical Operation Unit) ที่จัดตั้งขึ้นนี้ จะช่วยให้การบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินบริเวณโดยรอบพื้นที่ของโรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น เกิดประสิทธิภาพ ครอบคลุมในการดูแลประชาชนที่ได้รับอุบัติเหตุ และเผชิญปัญหาระดับวิกฤตที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ

อีกทั้ง การดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นต้นแบบทั้งการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน และต้นแบบในการจัดตั้งระบบการสั่งการ บริหารจัดการดูแลพื้นที่ ระบบการเข้าช่วยเหลือต่อไปได้เป็นอย่างดี

 

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจหลักประการหนึ่งที่สำคัญคือการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน   ที่ต้องมีความเร่งรีบทั้งในการตรวจวินิจฉัย ประเมินผลการรักษา ซึ่งต้องแข่งกับเวลาและชีวิตของผู้ป่วย

ดังนั้น ระบบการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยในปัจจุบัน ค่อนข้างมีความรวดเร็วและมีคุณภาพมากขึ้นกว่าในอดีตค่อนข้างมาก ทำให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยสามารถทำได้หลากหลายและรวดเร็ว

การจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือ RAMA EMO (Ramathibodi Emergency Medical Operation Unit) ที่เกิดขึ้นนี้ จะช่วยทำหน้าที่ในฐานะหน่วยอำนวยการสั่งการและปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีมาตรฐานให้เทียบเท่าระดับสากล

รวมทั้งพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลที่มีคุณภาพสูง ควบคุมการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน และบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งยังเป็นหน่วยปฏิบัติการฝึกอบรมในหลักสูตรปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (paramedic) และหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินและพัฒนาหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาวิชาการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงในการพัฒนาการระบบการจัดเก็บข้อมูลการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ ได้มาตรฐาน   จนนำไปสู่งานวิจัยในระบบการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลในระดับนานาชาติ อีกทั้งยังมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือบริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นสำคัญ