เช็ค 27 งานในไทยที่ "แรงงานต่างด้าว" ห้ามทำเด็ดขาด

เช็ค 27 งานในไทยที่ "แรงงานต่างด้าว" ห้ามทำเด็ดขาด

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจง  27 งานห้าม แรงงานข้ามชาติทุกสัญชาติห้ามทำโดยเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง โดยไม่มีข้อยกเว้น

 

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีช่างตัดผมชาวเกาหลี ที่มีการกล่าวถึงบนสื่อออนไลน์ และมีการถกเถียงว่า อาชีพ "ช่างตัดผม" เป็นอาชีพที่ชาวต่างชาติสามารถทำได้หรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว กรมการจัดหางาน ขอชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ประกาศไว้ในพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมว่า สำหรับประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีทั้งสิ้น 40 งาน

 

  • 27 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาดในไทย

เป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน ตามบัญชีที่ 1 ได้แก่

1.งานแกะสลักไม้

2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift)

3.งานขายทอดตลาด

4.งานเจียระไนเพชร/พลอย

5.งานตัดผม/เสริมสวย

6.งานทอผ้าด้วยมือ

7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ

8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ

9.งานทำเครื่องเขิน

10.งานทำเครื่องดนตรีไทย

11.งานทำเครื่องถม

12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก

13.งานทำเครื่องลงหิน

14.งานทำตุ๊กตาไทย

15.งานทำบาตร

16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ

17.งานทำพระพุทธรูป

18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า

19.งานนายหน้า/ตัวแทน

20.งานนวดไทย

21.งานมวนบุหรี่

22.งานมัคคุเทศก์

23.งานเร่ขายสินค้า

24.งานเรียงอักษร

25.งานสาวบิดเกลียวไหม

26.งานเลขานุการ

27.งานบริการทางกฎหมาย

 

  • แรงงานต่างด้าวทำได้แต่ต้องมีเงื่อนไข 

งานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน ตามบัญชีที่ 2 ได้แก่

วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม

โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้  ตามบัญชี 3 ได้แก่

1.งานกสิกรรม

2.งานช่างก่ออิฐ/ช่างไม้/ช่างก่อสร้างอาคาร

3.งานทำที่นอน

4.งานทำมีด

5.งานทำรองเท้า

6.งานทำหมวก

7.งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย

8.งานปั้นเครื่องดินเผา

โดย มีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง และตามบัญชีที่ 4 ได้แก่

งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) 

  • ย้ำฝ่าฝืน ผิดกฎหมาย ไม่มีข้อยกเว้น

กรมการจัดหางาน บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย ซึ่งขณะนี้มีการมอบหมาย สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีคนต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมายฯอย่างจริงจัง

"หากตรวจพบการฝ่าฝืกฎหมาย คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ และในส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่พบเห็นการจ้างคนต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วน 1694 กรมการจัดหางาน หรือแจ้งเบาะแสโดยตรงที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร. 02 354 1729