‘ทางตัน’ การเมือง ‘โควิด’ ติดเชื้อพุ่ง

‘ทางตัน’ การเมือง ‘โควิด’ ติดเชื้อพุ่ง

ยอดผู้ติดเชื้อโควิดกำลังสูงขึ้น นี่เป็นโจทย์เดิมของปีที่แล้วที่หมุนกลับมาอีกครั้ง ยิ่งตอนนี้ทั้งเศรษฐกิจทรุด เงินเฟ้อ น้ำมันแพง สถานการณ์น่าเป็นห่วง รัฐต้องรีบหันมาแก้สถานการณ์ก่อนที่ปัญหาจะวิกฤตไปมากกว่านี้

สองประเด็นที่จั่วหัวไว้ คือ สถานการณ์ในประเทศขณะนี้ ที่อยู่ในภาวะ “ล่อแหลม” และ “น่ากังวล” เป็นอย่างยิ่ง ยังไม่นับภาพรวมเศรษฐกิจที่ทรุดหนัก เงินเฟ้อ น้ำมันแพง สารพัดปัญหาที่กำลังรุมถล่มประเทศไทย วิกฤติโควิด-19 ยังไม่สิ้นฤทธิ์ง่ายๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาขยับสูงขึ้นแตะหลักหมื่นมากกว่าครึ่งสัปดาห์แล้ว และคาดการณ์ว่าจะทะยานต่อไป กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) คาดว่า ปลายเดือนกุมภาพันธ์-ต้นมีนาคม จะถึงจุดพีคของการระบาด หากไม่มีมาตรการอะไร คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 3 หมื่นรายต่อวัน 

แม้สถานการณ์โควิด19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ ยุโรป อเมริกา จะอยู่ในช่วงขาลง แต่ในเอเชียและไทย ยังเป็นช่วงขาขึ้น ปัจจัยหลัก คือ การเปิดกิจกรรมให้กลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น เหลือเพียงผับ บาร์ คาราโอเกะเท่านั้นที่ยังไม่ได้เปิด แต่ก็เปิดได้ในรูปแบบร้านอาหาร การใช้ชีวิตที่กลับมาสู่ภาวะเกือบปกติ แน่นอนว่าการติดเชื้อย่อมเพิ่มขึ้น แม้ตัวเลขที่คาดว่าจะพีคสุดถึง 3 หมื่นรายต่อวันยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ควรประมาทด้วยประการทั้งปวง เพราะด้วยสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 นี้ ติดต่อกันได้ง่ายมาก “องค์การอนามัยโลก” ก็กำลังจับตาดูอยู่ว่าสายพันธุ์ BA.2 ที่ติดต่อง่ายกว่า BA.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลัก จะเป็นเหตุให้การติดเชื้อใหม่ในหลายประเทศพุ่งสูงขึ้นหรือไม่

รัฐบาลไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามส่งสัญญาณ ไม่อยากให้กังวลเรื่อง “ตัวเลขผู้ติดเชื้อ” มากนัก เพราะเมื่อดูจำนวนผู้ป่วยหนัก และเสียชีวิตตัวเลขยังพอคุมได้ ข้อมูลล่าสุด มีผู้ติดเชื้ออยู่ในระหว่างรักษาทั้งที่โรงพยาบาล และรักษาที่บ้านราว 9 หมื่นราย ครึ่งหนึ่งอยู่ในโรงพยาบาล และพบว่า 90% ของคนที่อยู่ในโรงพยาบาล ไม่มีอาการ หรือมีเล็กน้อยมาก ส่วนผู้ที่อาการรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ มีราว 111 ราย คิดเป็นอัตรา 0.1% ของผู้ติดเชื้อ ซึ่งพยายามประคองให้ไม่เกินวันละ 200 รายจาก 1,300 รายช่วงเดลตาระบาด 

สิ่งที่ทำได้เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเลข 3 หมื่น เกิดขึ้นจริง ภาครัฐต้องระดมฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมมากที่สุด ขณะที่ภาคประชาชนต้องช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อ จากข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันมักเกิดการติดเชื้อในครอบครัวเป็นหลัก ดังนั้นต้องลดการรวมตัวของคน เช่น รับประทานอาหาร นักเรียนเล่นกีฬารวมกัน หรือลดความเสี่ยงในที่ทำงาน หากจะลดอัตราการป่วยหนัก ต้องลดการนำเชื้อเข้าไปติดในกลุ่มเสี่ยง 608 และขอให้กลุ่มนี้เข้ามารับวัคซีนบูสเตอร์โดสตามกำหนด

จะเห็นว่า ประเทศไทยยังเผชิญวิกฤติโควิด-19 และต้องฝ่าด่านหินอีกหลายด่าน แต่ก็ไม่วายที่จะมี “ปัญหาการเมือง” โผล่แทรกซ้ำเติมวิกฤติประเทศเข้ามาอีก นั่นเพราะ “นักการเมือง” ในประเทศยังหมกมุ่นอยู่กับผลประโยชน์ของตัวเอง และพวกพ้อง มากกว่าผลประโยชน์ประเทศ การ ‘เล่นเกมการเมือง’ มากไปจนเกินขอบเขต ระวังจะทำให้รัฐไทย กลายเป็น "รัฐที่ล้มเหลว ไร้เสถียรภาพ ไร้ศักยภาพ” แก้ปัญหาวิกฤติที่กำลังรุมถล่มประเทศอยู่ในขณะนี้