หลากทางเลือก”วัคซีนโควิด19” กระตุ้นคนฉีดเข็ม 3 เมื่อ2เข็มเอาไม่อยู่

หลากทางเลือก”วัคซีนโควิด19” กระตุ้นคนฉีดเข็ม 3 เมื่อ2เข็มเอาไม่อยู่

ข้อมูลชัดเจนทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย "วัคซีนโควิด19" ทุกชนิด ทุกยี่ห้อไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ “โอมิครอน”ได้ จำเป็นต้องได้รับเข็มกระตุ้น ฉีดเข็ม 3 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มีเป้าหมายฉีดให้ได้ 70-80 %ของเข็ม 1และ2 

ณ วันที่ 8 ก.พ.2565 ประเทศไทยมีการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด19 สะสมแล้วกว่า 117 ล้านโดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 52,567,327 โดส คิดเป็น 75.6 % เข็มที่ 2 จำนวน 49,017,760 โดส คิดเป็น 70.5% และเข็มที่ 3 จำนวน 16,404,731 โดส คิดเป็น 23.6%
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางที่จะกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการรฉีดวัคซีนโควิด19 เข็ม3เป็นบูสเตอร์โดส ว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เน้นย้ำในการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างมาก แนวทางตอนนี้คือต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันก็จะตกลง จึงต้องเข้ามารับวัคซีนกระตุ้น  ด้วยข้อมูลที่มียืนยันได้ว่า แม้การติดเชื้อโควิด19เพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตลดลงนั้น ก็เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากวัคซีน ซึ่งระยะหลังพบว่าผู้เสียชีวิตเกิน 90% เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น และเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ ทั้งนี้ ในวันที่ 11 ก.พ.ในการประชุมศบค. ทางสธ.ก็จะเสนอแผนการบริหารจัดการวัคซีนในเดือน มี.ค. 2565

วัคซีน 2 เข็มกันติดโอมิครอนไม่ได้
         นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค  เปิดเผยผลเบื้องต้นประสิทธิผลใช้จริงวัคซีนโควิด19 จังหวัดเชียงใหม่ ว่า  ข้อมูลการศึกษาในจ.เชียงใหม่ที่เผชิญการระบาดช่วงต.ค.-พ.ย. และคุมได้ในเดือนธ.ค. 2564และม.ค.2565ระบาดใหม่ส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน  โดยเปรียบเทียบกับช่วงที่เดลตาระบาด  ต.ค.-ธ.ค.2564 และโอมิครอนช่วงม.ค. ในแง่ประสิทธิผลวัคซีน พบว่า  ฉีด 2 เข็ม  ต.ค.-ธ.ค.2564 ช่วงเดลตา ป้องกันติดเชื้อ 71 % ป้องกันเสียชีวิต 97 %  ม.ค.2565 ช่วงโอมิครอน ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เลยหรือเป็น 0 %  ป้องกันเสียชีวิตได้ 89 %
        ฉีด 3 เข็ม ช่วง ต.ค.-ธ.ค.2564 ช่วงเดลตาระบาด ทุกสูตรตามคำแนะนำของสธ.ทั้ง  ซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม3ด้วย แอสตร้าฯ, ซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม3ด้วยไฟเซอร์,ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม3ด้วยไฟเซอร์, สูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯกระตุ้นเข็ม3ด้วย แอสตร้าฯ และแอสตร้าฯ2เข็มกระตุ้นเข็ม3ด้วยไฟเซอร์   ป้องกันติดเชื้อ 93 % ป้องกันเสียชีวิต 99 %

   ช่วงม.ค.2565 ช่วงโอมิครอนระบาด  ป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉลี่ยทุกสูตรไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 68 %  แยกเป็น ซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม3ด้วย แอสตร้าฯ ป้องกันติดเชื้อ  78 % ซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม3ด้วยไฟเซอร์ ป้องกันติดเชื้อ 63 % ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม3ด้วยไฟเซอร์ ป้องกันติดเชื้อ  66% สูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ กระตุ้นเข็ม3ด้วย แอสตร้าฯ ป้องกันติดเชื้อ  68 % และแอสตร้าฯ2เข็ม กระตุ้นเข็ม3ด้วยไฟเซอร์ ป้องกันติดเชื้อ  62%  ส่วนป้องกันเสียชีวิตทุกสูตร  96 % 
         “การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มขึ้นไป มีประสิทธิผลป้องกันต่อการป่วยรุนแรง/การเสียชีวิตได้สูงมากต่อเนื่อง ส่วนประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และไม่เพียงพอที่จะป้องกันต่อการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จำเป็นต้องฉีดเข็ม 3 กระตุ้น ส่วนการฉีดเข็ม 3 กระตุ้น เพิ่มประสิทธิผลการป้องกันให้สูงขึ้น โดยโควิดสายพันธุ์โอมิครอนสามารถป้องกันเสียชีวิตได้สูงมาก และป้องกันการติดเชื้อได้สูงพอควร โดยการกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดไวรัลแว็กเตอร์หรือmRNAมีผลไม่ต่างกัน”นพ.ทวีทรัพย์กล่าว  
         หลากสูตรวัคซีนฉีดเข็ม 3  
         ในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามคำแนะนำของสธ.สามารถฉีดได้หลากหลายสูตร ตามที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนเห็นชอบ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนเข้ารับการฉีดเข็ม 3  เนื่องจากบางคนอาจจะมีข้อกังวลในการรับวัคซีนบางชนิดบางยี่ห้อ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับวัคซีนที่มีอยู่ในแต่ละหน่วยฉีดวัคซีนด้วย จึงขึ้นกับการบริหารจัดการของพื้นที่
        สูตรฉีดเข็ม 3 อาทิ ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตาเซนเนก้าหรือไฟเซอร์,ซิโนแวค+แอสตร้าฯตามด้วยแอสตร้าฯ ,แอสตร้า 2 เข็มตามด้วยไฟเซอร์ หรือแอสตร้าฯ  เป็นต้น ซึ่งกรณีที่ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มก่อนหน้านี้คำแนะนำให้ฉีดเข็ม 3 เป็นไฟเซอร์ แต่เมื่อมีข้อมูลจากประเทศอังกฤษว่าสามารถฉีดด้วยแอสตร้าฯได้ สธ.จึงมีคำแนะนำเป็นทางเลือกให้สามารถฉีดเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าฯได้เช่นกัน เนื่องจากประชาชนจำนวนหนึ่ง ไม่ต้องการรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็ม3 ทำให้ยังลังเลที่จะเข้ารับวัคซีนเข็ม 3

       ทางเลือกวิธีฉีดเข็ม3
        นอกจากนี้  ในส่วนของ “วิธีการฉีด” ในกรณีที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก็มีการเปิดให้เลือกได้ และดำเนินการแล้วที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2565

         พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง ในฐานะผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ  กล่าวว่า จากข้อมูลวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่า การฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด mRNA ขนาดครึ่งโดส ประสิทธิภาพพอกับการฉีดเต็มโดส และคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภุมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน เห็นชอบให้สามารถฉีดได้ทั้งแบบเต็มโดส ครึ่งโดส และเข้าชั้นผิวหนัง ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 ศูนย์จะเปิดให้ประชาชนที่เข้ารับเข็ม3 ,4 สามารถเลือกวิธีการฉีดได้ 3 แบบตามความสมัครใจ ในกรณีที่ฉีดไฟเซอร์ คือ1. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular : IM) ขนาดยาปกติ 30 ไมโครกรัมต่อโดส 2.. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular : IM) ครึ่งโดส ขนาดยา 15 ไมโครกรัมต่อโดส และ3. การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal : ID) ขนาดยา 10 ไมโครกรัมต่อโดส

        "หลักๆ ที่ศูนย์ยังให้การฉีดวัคซีนแบบเต็มโดสเป็นหลัก แต่เป็นการเปิดทางเลือกถ้าประชาชนต้องการฉีดครี่งโดส หรือแบบเข้าชั้นผิวหนัง ทั้งหมดเป็นไปตามความสมัครใจของประชาชน และดุลยพินิจของแพทย์ โดยสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ว่าต้องการรับแบบไหน และ ขอย้ำว่า ไม่ดราม่าว่าวัคซีนไม่พอแล้วจึงมาเปิดให้ฉีดครึ่งโดส หรือเข้าชั้นผิวหนัง เพราะวัคซีนในสต็อคประเทศมีเพียงพอ แต่ต้องการเปิดเป็นทางเลือกให้ประชาชนตามความสมัครใจ ส่วนผู้ที่ฉีดเป็นวัคซีนแอสตร้าฯยังฉีดแบบโดสปกติ"พญ.มิ่งขวัญกล่าว