คาดปลายก.พ.-ต้นมี.ค.ถึงจุดพีคโควิด19

คาดปลายก.พ.-ต้นมี.ค.ถึงจุดพีคโควิด19

ผอ.กองระบาดระบุอีก 2-3 สัปดาห์ตัวเลขป่วยหนัก-เสียชีวิตโควิด19เพิ่มขึ้น ปลายก.พ.-ต้นมี.ค.ถึงจุดพีค อาจถึง 30,000 รายต่อวันตามฉากทัศน์ หลังไทยเริ่มฟรีใช้ชีวิตเหมือนปกติ

เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2565 จากกรณีนี้ประเทศไทยมีการรายงานผู้ติดโควิด19 รายใหม่เพิ่มขึ้น นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.)  ให้สัมภาษณ์ว่า การประเมินสถานการณ์โควิด19 ทั่วโลกจะเห็นว่าต่างประเทศทางยุโรป อเมริกาอยู่ในช่วงขาลงของการระบาดพบติดเชื้อลดลง ขณะที่ทวีปเอเชียและประเทศไทย อยู่ในช่วงขาขึ้นจึงพบตัวเลขสูงขึ้นได้ ปัจจัยหลักของไทยเกิดจากเปิดกิจกรรมมากขึ้น เหลือเพียงผับ บาร์ คาราโอเกะที่ยังไม่ได้เปิดได้ แต่ก็สามารถเปิดในรูปแบบร้านอาหารได้  ตอนนี้จึงใช้ชีวิตเหมือนปกติแล้ว การติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นแน่นอน

       นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า  ไม่อยากให้กังวลเรื่องตัวเลขติดเชื้อ อยากให้ดูจำนวนป่วยหนักและเสียชีวิตเป็นสำคัญ ซึ่งข้อมูลล่าสุด มีผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระหว่างรักษาทั้งที่ รพ. และรักษาที่บ้าน(Home Isolation) รวมประมาณ 9 หมื่นราย ครึ่งหนึ่งอยู่ใน รพ. และพบว่า 90% ของคนที่อยู่ในรพ.ไม่มีอาการหรือมีเล็กน้อยมาก ส่วนผู้ที่อาการรุนแรงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ มีประมาณ 111 ราย คิดเป็นอัตรา 0.1% ของผู้ติดเชื้อ ซึ่งพยายามประคองให้ไม่เกินวันละ 200 รายจากที่เคยพบสูงถึง 1,300 รายในช่วงเดลตาระบาด

     นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า รอบนี้ค่อนข้างสบายใจได้กว่ารอบเดลตาที่ติดเชื้อสูงและมีตัวเลขป่วยหนัก เสียชีวิตตามมา แต่รอบนี้ติดเชื้อสูง แต่อาการหนักยังน้อยอยู่  ซึ่งอีก 2-3 สัปดาห์จะมีตัวเลขป่วยหนัก เสียชีวิตเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะคาดว่าปลายก.พ.-ต้นมี.ค.จะถึงจุดพีคของการระบาด ตามที่คาดการณ์ไว้ในเส้นฉากทัศน์ที่มีเงื่อนไขว่า หากไม่มีมาตรการอะไรก็คิดว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 3 หมื่นรายต่อวัน ส่วนจะอยู่ในตัวเลขนั้นนานแค่ไหนก็อยู่กับมาตรการที่จะใช้ควบคุมสถานการณ์ ถ้าประชาชนช่วยกันป้องกันก็จะไม่ยาว

      “ไม่อยากเห็นตัวเลขสูงถึงที่คาดการณ์ไว้ แต่วันนี้ก็เห็นตัวเลขที่ 1.3 หมื่นรายแล้ว จึงต้องช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อ โดยตอนนี้เกิดติดเชื้อในครอบครัวเป็นหลัก ลดการรวมตัวของคน เช่น รับประทานอาหาร นักเรียนเล่นกีฬารวมกัน และลดความเสี่ยงในที่ทำงาน หากจะลดอัตราการป่วยหนัก ต้องลดความเสี่ยงในการนำเชื้อเข้าไปติดในกลุ่มเสี่ยง 608 และขอให้กลุ่มนี้เข้ามารับวัคซีนบูสเตอร์โดสตามกำหนด ย้ำว่าตรงนี้มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะหากติดเชื้อมากขึ้น แต่ตัวเลขป่วยหนักไม่เพิ่มขึ้น การเสียชีวิตไม่สูงก็จะไม่น่ากังวล ก็สามารถอยู่ร่วมกับโควิด19 ต่อไปได้ ขณะที่หากติดเชื้อถึงพีคแล้วคนยังตกใจ สงกรานต์ปีนี้อาจไม่ได้จัด ก็ต้องช่วยกันสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่า ติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรงมีความสำคัญมาก และต้องเข้ารับวัคซีนกระตุ้น” นพ.จักรรัฐ กล่าว

    สิ่งสำคัญที่ต้องฝากถึงทุกคน คือ 1.การปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง เลี่ยงเข้าสถานที่แออัด หมั่นล้างมือ ช่วงนี้ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารกับคนที่มีความเสี่ยงสูงแม้จะรู้จักกันก็ตาม  2.หากบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็ก ก็ขอให้คนอื่นในบ้าน เว้นระยะห่าง เลี่ยงรับประทานอาหารร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัย  และ 3.เข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ,ผู้ที่รับซิโนแวค+แอสตร้าฯ ก็รับเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าฯ และผู้ที่รับแอสตร้าฯ 2 เข็มก็มารับไฟเซอร์   เพื่อให้มั่นใจว่า แม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยอาการหนักจะไม่เพิ่มขึ้นด้วย

คาดปลายก.พ.-ต้นมี.ค.ถึงจุดพีคโควิด19
    อนึ่ง ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการเปิดฉากทัศน์คาดการณ์โควิด19ระลอกโอมิครอนมี 3 แบบ คือ แบบที่ 1 รุนแรงที่สุด (Least favourable) กรณีประชาชนให้ความร่วมมือน้อย หรือไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มีการป้องกัน ไม่มีมาตรการอะไรมากจะเกิดการระบาดและควบคุมยาก มีผู้ติดเชื้อ 30,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 170-180 คนต่อวัน

แบบที่ 2 ปานกลาง (Possible)  มีอัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโอมิครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ประชาชนให้ความร่วมมือ Universal Prevention (UP) สถานประกอบการ จัดกิจกรรมปฏิบัติตาม VUCA ดี จะมีผู้ติดเชื้อ 15,000-16,000 รายต่อวัน เสียชีวิตราว 100 รายต่อวัน 

และแบบที่ 3 ดีที่สุด (Most favourable)  เร่งฉีดวัคซีนในทุกกลุ่มได้สูงทั้งเข็ม 1,2 และเข็มบูสเตอร์ มากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์ และประชาชนให้ความร่วมมือ UP เต็มที่ ลดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก สถานประกอบการจัดกิจกรรมปฏิบัติตาม VUCA อย่างเคร่งครัด มีผู้ติดเชื้อ 10,000 นิดๆต่อวัน และเสียชีวิต 60-70 คนต่อวัน