"บัตรคนจน" 20 ล้านคน รัฐส่งสัญญาณอะไร

"บัตรคนจน" 20 ล้านคน รัฐส่งสัญญาณอะไร

"บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" เป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ช่วยลดภาระค่าครองชีพ ลดความเหลื่อมล้ำให้คนจนเข้าถึงบริการทางสังคม แต่ที่ผ่านมากลับพบว่า มีคนที่ไม่ใช่คนจนได้ประโยชน์ในมาตรการนี้ไป รัฐจึงปรับเงื่อนไขใหม่ให้เข้มงวดมากขึ้น

ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำภายในสังคม เป็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปัจจุบันประเทศไทยยังคงเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำที่หยั่งรากลึกลงสู่โครงสร้างทางสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้

ท่ามกลางโลกที่ยังต้องเผชิญวิกฤติสุดผันผวน ยากต่อการคาดเดา ทั้งวิกฤติโรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งปัจจัยฉุดให้โลกเกิดช่องว่างระหว่างคนรวย และคนจนเพิ่มขึ้น

หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำมาใช้ คือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย และลดภาระค่าครองชีพ และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางสังคมอย่างทั่วถึง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (1 ก.พ.) เห็นชอบหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้ลงทะเบียนตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 กำหนดเป้าหมาย 20 ล้านคน เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565

 

คุณสมบัติผู้ลงทะเบียน คือ สัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องไม่เป็นภิกษุ ผู้ต้องขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐ 

เงื่อนไขคัดกรองรอบใหม่ มีเพิ่มเกณฑ์เข้ามา เช่น รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 1 แสนบาท เพิ่มเกณฑ์ตรวจสอบวงเงินกู้ เช่น ไม่มีหนี้บัตรเครดิต วงเงินกู้บ้าน ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท วงเงินกู้รถไม่เกิน 1 ล้านบาท

การเปิดให้ลงทะเบียนรอบนี้ เป็นการปรับปรุงฐานข้อมูลเดิมที่เป็นข้อมูลช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ที่ลงทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2559-2561 เดือน ม.ค.2565 มีผู้รับสิทธิ์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.61 ล้านคน

หากที่ผ่านมาพบว่า มีกลุ่มที่ตกหล่นไม่สามารถเข้าถึงโครงการได้ เราเห็นด้วยว่า รัฐจึงต้องสกรีนคนเข้าร่วมมาตรการนี้กันอีกครั้ง เพื่อให้สิทธิตกอยู่กับคนที่จนจริง

 

มาตรการนี้ เป้าประสงค์คือ การช่วย “บรรเทา” ความเดือดร้อน ลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงโอกาสต่างๆ ในสังคม แต่ที่ผ่านมา “ช่องโหว่” มีมากมายเหลือเกิน รัฐต้องแก้ปัญหาควบคู่ไปด้วย 

นั่นเพราะมีคนที่ไม่ใช่คนจนได้ประโยชน์ในมาตรการนี้ไป แปลว่า งบประมาณของรัฐ ‘รั่ว’ และใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์ ที่แย่กว่านั้น คือ ยังมีคนที่จนจริงๆ อีกมากในประเทศนี้ ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐได้สักมาตรการเดียว

ขณะที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐคือหนึ่งในมาตรการประชานิยม ที่นักการเมือง หรือพรรคการเมืองใช้เป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบ

เราเห็นว่าประเด็นนี้สำคัญ รัฐต้องอย่าให้มาตรการนี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองจนลืมอุดรอยรั่วและช่องโหว่ กลายเป็นงบประมาณมหาศาลที่ประเทศต้องแบกรับ แล้วใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือย ไร้ค่า แทนที่จะเป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริง