กรมควบคุมโรค ผนึก 11 องค์กร ดัน 5 ปี สู่สังคมไทยปลอดไข้เลือดออก 

กรมควบคุมโรค ผนึก 11 องค์กร ดัน 5 ปี สู่สังคมไทยปลอดไข้เลือดออก 

กรมควบคุมโรค ผนึก 11 องค์กร ดัน 5 ปี สู่สังคมไทยปลอดไข้เลือดออก ส่งเสริมการทำงานเพื่อทำให้ประเทศไทยปลอดโรคไข้เลือดออกใน 3 ประการ

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ที่โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero เพื่อร่วมผลักดัน  ประเทศไทยสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยผู้แทนภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 11 องค์กร ประกอบด้วย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อ แห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชนแห่งประเทศไทย สมาคมนักบริหารโรงพยาบาล แห่งประเทศไทย และบริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมพิธีลงนาม

     นายแพทย์อภิชาต กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้เป็นการส่งเสริมการทำงานเพื่อทำให้ประเทศไทยปลอดโรคไข้เลือดออกใน 3 ประการ 1.ลดอัตราการป่วยจากไข้เลือดออกลงให้ได้ร้อยละ 25 หรือให้ไม่เกิน 60,000 รายต่อปี  2.ลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 1 : 10,000 ราย  3.ควบคุมแหล่งลูกน้ำยุงลายในชุมชนให้ต่ำกว่า 5 หลังคาเรือน  จากการสำรวจ 100 หลังคาเรือนในแต่ละชุมชน และหวังว่าภายใต้กรอบการทำงานระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2569) ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะลดลงเป็นศูนย์ 

     โดยพันธมิตรทั้ง 11 องค์กรที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจนี้ จะร่วมมือกันทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย ทั้งจากสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน จัดทำการคาดการณ์พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง  สื่อสารกับสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย และพัฒนาโครงการให้ความรู้สำหรับอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ คือการเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออกที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน การพัฒนาและต่อยอดระบบการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และมีการดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน ในการกำจัดไข้เลือดออกให้ได้อย่างเด็ดขาดและยั่งยืน และพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก