ไทยคิกออฟฉีด “วัคซีนโควิดเด็ก” 5 - 11 ปี วันแรก อาการควรเฝ้าระวังหลังฉีด

ไทยคิกออฟฉีด “วัคซีนโควิดเด็ก” 5 - 11 ปี วันแรก  อาการควรเฝ้าระวังหลังฉีด

ไทยคิกออฟฉีด “วัคซีนโควิดเด็ก” 5 - 11 ปี วันแรก  เจรจาไฟเซอร์ส่งมอบวัคซีนเร็วขึ้น 1 เดือน  หวังไทยเป็นประเทศแรกที่สามารถครอบคลุมการฉีดวัคซีนให้กับประชากรทุกช่วงวัย ส่วนซิโนแวค รออย.พิจารณา หลังยื่นขอขยายใช้ในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป แนะอาการเฝ้าระวังหลังฉีด

   เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ชั้น 12 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ การฉีดวัคซีนโควิดเด็ก สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปีเป็นวันแรก โดยเป็นกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสติดเชื้อและเสียชีวิตสูง ได้แก่ 1.โรคอ้วน ที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 3.โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตวายเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6.โรคเบาหวาน และ 7.กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า    

        นายอนุทิน กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิดให้กับลูกหลานอายุ 5 - 11 ขวบ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งหน้าตั้งตารอให้ได้วัคซีนที่ถูกต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยวัคซีนโควิดเด็กไฟเซอร์ มาถึงประเทศไทยแล้วจำนวน 3 แสนโดส และจะเข้ามาสัปดาห์ละ 3 แสนโดส ต่อเนื่องจนครบจำนวนการสั่งซื้อทั้งหมด 10 ล้านโดสใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็จะครอบคลุมทั้งหมด และจากการหารือผู้บริหารไฟเซอร์ประเทศไทยในการประชุมหอการค้าไทย ระบุว่าจะเพิ่มจำนวนการจัดส่งในแต่ละสัปดาห์ให้มากกว่า 3 แสนโดส จากนี้จะมีการแก้ไขสัญญาต่อไป ซึ่งจะทำให้การส่งเร็วขึ้นมาอีก 1 เดือน ขณะเดียวกันขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมการแพทย์ กรมอนามัย เตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กเร็วที่สุด

     “ สธ.ขอให้ความมั่นใจแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง วัคซีนจัดหามาให้ลูกหลานเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีมาตรฐาน วิธีการฉีดก็ผ่านคณะกรรมการวิชาการหลายท่านซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาจารย์แพทย์ที่มีความรู้ในเรื่องของการฉีดวัคซีน อาการข้างเคียงอาจจะเกิดขึ้นได้ อาจจะมีบ้างแต่ไม่ใช่สิ่งที่อันตราย ในช่วงแรกขอให้กรมการแพทย์ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ทราบถึงอาการข้างเคียง และการดูแล  หวังว่าประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่สามารถครอบคลุมการฉีดวัคซีนให้กับประชากรทุกช่วงวัย ซึ่งตั้งใจทำและทำให้มากที่สุด หากวันไหนมีวัคซีนไปถึงทารกแรกเกิดได้ก็พร้อมที่จะจัดหามาให้ลูกหลานทุกคนต่อไป เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติมากที่สุด”นายอนุทินกล่าว  

    นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ได้รับรายงานจากนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ว่าวัคซีนซิโนแวคได้มายื่นเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนการฉีดให้กับเด็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป ซึ่งเด็ก 3 ขวบส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้านพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน พี่น้องออกไปเรียนหนังสือมีโอกาสที่จะรับเชื้อจากข้างนอกเข้ามาติดได้ ยิ่งมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยง ดังนั้น หากสามารถฉีดวัคซีนให้กับเด็กทุกกลุ่มวัยได้ก็จะเท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มาก และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคในเด็กได้ หาก ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ฉีดในเด็กแล้ว หวังว่าวัคซีน ป้องกันโควิดในประเทศไทยจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุได้ อยากทราบผลข้างเคียงจากวัคซีนมีไข้ตัวรุมๆแต่ถ้าติดเชื้อเสี่ยงที่จะอาการรุนแรง เสือลงปอดจะอันตรายยากลำบากในการรักษา และเสียงแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงคุ้มค่าที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณด้านข้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) พบประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันมาถือป้าย พร้อมตะโกนด่ากรณีมีการฉีดวัคซีนป้งกันโรคโควิด 19 ให้กลุ่มเด็กว่าเป็นการเอาเด็กเป็นหนูทดลอง ทั้งที่วัคซีนไม่สามารถป้องกันโรคได้ แถมยังมีผลข้างเคียง ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการฉีดวัคซีน  และมีการเข้าไปพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่พาลูกมาฉีดด้วย

      ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2565   นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  สถานที่ฉีดวัคซีนโควิดเด็ก 5-11 ปี จะแยกเป็น 2 ส่วน คือ
    1.ที่โรงเรียน กรณีเป็นนักเรียนในระบบสถานศึกษา ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 และก่อนประถมศึกษา โดยกำหนดระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ที่ 8 สัปดาห์
     และ 2.ที่รพ.เป็นเด็กที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ประกอบด้วย บุคคลที่มีโรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง ,โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ,โรคไตวายเรื้อรัง ,โรคมะเร็ง และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ,โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
     รวมถึงเด็กที่เรียนในระบบโฮมสคูล และเด็กกลุ่มอื่นๆ ที่มีอายุ 5-11 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษา และเด็กที่ตกค้าง และยังไม่ได้รับวัคซีน ระยะห่างระหว่าง 2 เข็มที่ 3-12 สัปดาห์  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกุมารแพทย์ที่ให้การดูแลเด็ก
      “ส่วนมากอาการไม่รุนแรงและหายไปได้เองใน 1-2 วัน โดยอาจพบอาการ เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวด บวม รอยแดงบริเวณที่ฉีด ปวดหัว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที ในสถานพยาบาลหรือสถานที่ฉีดวัคซีนเสมอ”นพ.โอภาสกล่าว
     นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(รพ.เด็ก) กล่าวว่า  ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่ยังไม่ควรฉีดวัคซีน คือ  ขณะป่วย มีไข้ หรือร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาอาการให้หายและเลื่อนการฉีดไปก่อน จนกว่าจะเป็นปกติ และผู้มีโรคประจำตัวรุนแรงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตที่อาการยังไม่คงที่ นอกจากแพทย์ประเมินว่าฉีดได้

      อาการที่ต้องเฝ้าระวัง ในกลุ่มโรคหัวใจ ระยะเวลา 2-7 วัน คือ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น และกลุ่มอื่นคือ ไข้สูงมากกว่า  39 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนทานอาหารไม่ได้ เด็กซึมหรือไม่รู้สึกตัว ต้องรีบไป รพ.ใกล้บ้านเพื่อประเมินอาการ ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรดูแลเด็ก และใน 1 สัปดาห์แรกหลังฉีด ไม่ควรให้เด็กออกกำลังกาย รวมถึง การปีนป่าย ว่ายน้ำ หรือซุกซนต่างๆ