สธ.เพิ่มคำแนะนำฉีด"วัคซีนโควิด19" แอสตร้าเซนเนก้า 3 เข็มได้ -สูตรไขว้ใหม่

สธ.เพิ่มคำแนะนำฉีด"วัคซีนโควิด19" แอสตร้าเซนเนก้า 3 เข็มได้ -สูตรไขว้ใหม่

สธ.เพิ่มคำแนะนำฉีดวัคซีนโควิด19  สูตรไขว้ใหม่ตามฮู-รับแอสตร้าฯ3เข็มได้-เคยติดเชื้อฉีดวัคซีนได้หลัง 1 เดือน ระบุโควิดสิ้นสุดระบาดใหญ่ในปี 65 หลังจากนั้นเข้าสู่ “โรคประจำถิ่น”ตามนิยามทางระบาดวิทยา ส่วนตามกฎหมายจะกำหนดเป็นโรคติดต่อประเภทไหน รอประเมิน

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มีคำแนะนำการให้วัคซีนโควิด19เพิ่มเติม

คำแนะนำจากคณะอนุกรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2565 ประกอบด้วย 

1.ให้สามารถฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ด้วยวัคซีน mRNA เป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนไวรัล แว็กเตอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้ โดยมีระยะห่างระหว่างเข็ม  4 สัปดาห์ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก(ฮู)

2. ผู้ที่มีประวัติติดเชื้อโควิด19 สามารถรับวัคซีนตามหหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยเดิมให้ฉีดได้หลังติดเชื้อ 3 เดือน แต่ปรับใหม่ให้ฉีดได้ 1 เดือน 

3.เพิ่มทางเลือกให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มมาแล้ว สามารถรับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯเป็นเข็มกระตุ้นได้ ตามข้อมูบที่อังกฤษส่งให้กรมล่าสุด 

4.กรณีผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็มมาแล้ว  สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้นได้ ภายหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 4 สัปดาห์ขึ้นไป  แต่คณะอนุกรรมการฯยังไม่ได้แนะนำให้ฉีดในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในเด็กจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)

5.เห็นชอบในหลักการให้วัคซีนซิโนแวค ในผู้ที่มอายุ 3-17 ปี ที่ขณะนี้รอการขึ้นทะเบียนโดยอย. ซึ่งสธ.จะแจ้งแนวทางการให้วัคซีนซิโนแวคในเด็กเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว

    “การแนะนำให้กลุ่มฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มแล้วฉีดเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯได้ เป็นไปตามข้อมูลที่อังกฤษส่งมาให้ ซึ่งระบุว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ จึงเพิ่มคำแนะนให้ฉีดแอสตร้าฯ 3 เข็ม เพื่อเป็นแนวทางเสริมให้เป็นทางเลือกของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจในการที่จะเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากขึ้น  สำหรับกลุ่มที่ไม่สบายใจที่จะรับวัคซีนบางชนิดหรือมีประวัติการแพ้ ดังนั้น ขณะนี้ในผู้ที่รับวัคซีนแอสตร้าฯ  2 เข็มสามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ทั้งไฟเซอร์ โมเดอนา และแอสตร้าฯ ได้ตั้งแต่  3 เดือนขึ้นไปหลังเข็มที่ 2 ส่วนเข็มกระตุ้นแอสตร้าฯหากเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป จะได้ภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น “นพ.โอภาสกล่าว


แผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด19 เดือน ก.พ.2565 มีการปรับปรุงเพิ่มเติม ประกอบด้วย

1.วัคซีนแอสตร้าฯ จำนวน 7 ล้านโดส สำหรับ

1.1 ฉีดเป็นเข็มที่ 1 ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ตามสูตร แอสตร้าฯ-แอสตร้าฯ หรือแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์

1.2 ฉีดเป็นเข็มที่ 2 ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ตามสูตร แอสตร้าฯ-แอสตร้าฯ หรือแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์

1.3 ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ตามสูตร ซิโนแวค-แอสตร้าฯ-แอสตร้าฯ หรือ ซิโนแวค-ซิโนแวค-แอสตร้าฯ-แอสตร้าฯ หรือ แอสตร้าฯ-แอสตร้าฯ-แอสตร้าฯ

1.4 ผู้ที่มีอายุ  18 ปีขึ้นไป  และมีประวัติติดโควิด19สามารถรบัวัคซีนตามหลักกาการเดียวกับผู้ที่ยีงไม่เคยติดเชื้อมาก่อน 

2.วัคซีนไฟเซอร์ (ฝาสีม่วงสูตรสำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป) จำนวน 2.6 ล้านโดส สำหรับ 
2.1 ฉีดเป็นเข็มที่ 2 ในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ได้รับวัคซึนเข็มที่ 1 ด้วย แอสตร้าฯตามสูตร แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์

2.2 ฉีดเป็นเข็มที่ 1 และ 2 ในผู้ที่อาย 12-17 ปี ตามสูตรไฟเซอร์-ไฟเซอร์

2.3 ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับวัคชื่นครบตามเกณฑ์ ตามสูตร แอสตร้าฯ-แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ หรือผู้ที่อายุ 12 - 17 ปี ที่ได้รับวัคซีน ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มกระตุ้นได้ ตามสูตร ซิโนฟาร์ม -ซิโนฟาร์ม -ไฟเซอร์ (หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 4 สัปดาห์ขึ้นไป)

2.4 ผู้ที่อายุ 12-17 ปี และมีประวัติติดเชื้อโควิด 19 สามารถรับวัคซีนตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน (ข้อ 2.2)

3. วัคซีน ไฟเซอร์ (ฝ่าสีส้มสูตรสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี) จำนวน 1.2 ล้านโดส

4. สำรองสำหรับตอบโต้การระบาดด้วยวัคซีน แอสตร้าฯ 1 ล้านโตส นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า

 

ตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558  มีการกำหนดไว้ 4  นิยาม คือ

  • โรคติดต่อ หมายความว่า

โรคที่เกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคซึ่งสามารถแพร่ โดยทางตรงหรือทางอ้อมมาสู่คน

  • โรคติดต่ออันตราย หมายความว่า

โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมี 14 โรครวมโรคโควิด 19 ซึ่งบางโรคไม่มีในไทย แต่โรคมีความรุนแรง จำเป็นต้องมีการกำหนดเพื่อให้มีการป้องกันไม่ให้โรคเขามาในประเทศ หรือบางโรคเจอในประเทศไทยก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการดำเนินการ 

  • โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หมายความว่า

โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตามตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มี 55 โรค  เช่น ไข้เลือดออก และโรคเอดส์

  • โรคระบาด หมายความว่า

โรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา โดยจะต้องระบุชื่อโรค อาการ และสถานที่ระบาด  เช่น เกิดโรคไข้เลือดออกระบาดในจ.นนทบุรี ก็ต้องบอกว่า โรคไข้เลือดออก มีอาการอย่างไร และเกิดที่จ.นนทบุรี จะมีการแจ้งเป็นครั้งๆเมื่อมีการระบาด  
      “การกำหนดนิยามโรคตามกฎหมาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการดำเนินการมาตรการต่างๆ เช่น การสั่งให้แยกกัก การสั่งให้เข้ารับการฉีดวัคซีน หรืออื่นๆที่จำเป็นต่อการป้องกันควบคุมโรค”นพ.โอภาสกล่าว 


นิยามทางระบาดวิทยา แบ่งเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย 

1.การระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) การระบาดที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ทั้งจำนวนและกว้างขวางทางพื้นที่ ทางภูมิศาสตร์ เช่น ข้ามพรมแดนระบาดหลายประเทศข้ามทวีป จนมีผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งสาธารณสุขและสังคม

2.โรคประจำถิ่น (Endemic) การที่มีโรคปรากฎหรือระบาดในพื้นที่ แต่อาจจำกัดในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์หรือการกระจายและการเพิ่มขึ้น ในจำนวนที่สามารถคาดการณ์ได้

3.โรคระบาด (Epidemic) การที่โรคแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางหรือภาวการณ์เกิดโรคผิดปกติ หรือมากกว่าที่เคยเป็นมา


โรคติดต่ออุบัติใหม่ หมายถึง โรคที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 30 ปี  เช่น ไข้เลือดออกเป็นโรคอุบัติใหม่ เมื่อปี 2500 ตอนนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่นตามนิยามทางระบาดวิทยา และเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามนพยามของกฎหมาย  หรือ โรคเอดส์เป็นโรคอุบัติใหม่เมื่อปี  2527  และมีการระบาดทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไป ตอนนี้ก็จัดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน 
    “โรคโควิด19อยู่ในระยะการระบาดใหญ่ทั่วโลกมา 2 ปีแล้ว  ภายในปีนี้ก็น่าจะสิ้นสุดระยะนี้แล้ว จากนั้นทิศทางจะเป็นอย่างไร ก็จะก็จะเป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไป ซึ่งก็จะดู 3 ส่วน คือ สายพันธุ์คงที่ ไม่มีการกลายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าเดิม อัตราป่วยคงที่ และคาดเดาการระบาดได้ และเมื่อผ่านระยะระบาดแล้วก็ต้องมีการติดตามว่าการจัดการจะเป็นอย่างไร  ส่วนว่านิยามตามกฎหมายจะเป็นโรคติดต่ออะไร ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นอะไร และไม่อยากให้กำหนดระยะเวลา แต่การกำหนดโรคติดต่อตามกฎหมายที่แตกต่างกัน ก็เพื่อเป็นการให้อำนจเจ้าหน้าที่ที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง เจ้าหน้าที่ก็จะไม่มีอำนาจสั่งกักตัวผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ แต่หากเป็นโรคติดต่ออันตรายก็จะมีอำนาจตรงนี้”นพ.โอภาสกล่าว