“ของเล่น” รักษ์โลก เล่นน้อย เล่นซ้ำ นำกลับมาเล่นใหม่

“ของเล่น” รักษ์โลก เล่นน้อย เล่นซ้ำ นำกลับมาเล่นใหม่

ในขณะที่ภาคธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในประเด็นสำคัญ คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน "ของเล่น" ที่หลายคนอาจมองข้าม แต่กลับเป็นสินค้ามีอายุสั้นกว่าที่คิด แล้วเราจะทำอย่างไรให้ของเล่นมากมายที่ถูกวางทิ้งไว้มีการใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด

ว่ากันว่า “ของเล่น” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานที่สั้น เนื่องจากพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกัน ทำให้หลายครั้ง ของเล่นที่ยังอยู่ในสภาพดีถูกทิ้งไว้ และบางครั้งจุดจบกลายเป็นขยะ ขณะเดียวกัน ของเล่นที่มีคุณภาพดีบางชิ้นมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นเรื่องน่าเสียดายหากของเล่นเหล่านั้นถูกทิ้งไปอย่างไร้ค่า

 

ขณะที่ปัจจุบัน จาก ภาวะโลกร้อน สภาพแวดล้อม แปรปรวน ราคาวัตถุดิบที่ผันผวน ความไม่แน่นอนในเรื่องต่างๆ ธุรกิจจึงเผชิญความเสี่ยงมากในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น เศรษฐกิจหมุนเวียน ( Circular Economy ) จึงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจทั่วโลกมุ่งไป มุมมองของ REUSE ในแง่การใช้ซ้ำให้ครบวงจรของอายุผลิตภัณฑ์ จึงเป็นแนวคิดหนึ่งที่ บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกของเล่นเด็กจากไม้ยางพารา ภายใต้แบรนด์ “PlanToys” นำมาใช้ เนื่องจากพบว่าอายุใช้งานของของเล่นสั้น จึงริเริ่ม “โครงการให้เช่าของเล่น” เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้เข้าถึงของเล่นเด็กที่มีคุณภาพ

 

“โกสินทร์ วิระพรสวรรค์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกของเล่นเด็กจากไม้ยางพารา ภายใต้แบรนด์ “PlanToys” มากว่า 40 ปี กล่าวในงาน สัมมนาออนไลน์ “Rethink Together: Co-creating Circular Economy with Circular Design” จัดโดย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยระบุว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้ง ด้วยนโยบายแห่งความยั่งยืน ในการสร้างโลกที่ยั่งยืน PlanToys มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม

 

“ของเล่น” รักษ์โลก เล่นน้อย เล่นซ้ำ นำกลับมาเล่นใหม่

ภาพ : PlanToys

  • 3 หัวใจหลัก สู่ความยั่งยืน

 

ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย และพัฒนาการเด็ก ดำเนินการผ่าน 3 เสาหลัก ที่เรียกว่า “แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งรวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืน การผลิตที่ยั่งยืน และจิตใจที่ยั่งยืน

 

สำหรับ “วัสดุที่ยั่งยืน” แนวคิดในการผลิตของเล่น PlanToys คือ การผลิตของเล่นจากไม้ยางพาราที่หมดอายุในการให้น้ำยางแล้ว โดยไม่ตัดต้นไม้เลยแม้แต่ต้นเดียวเพื่อนำไปใช้ในการผลิตของเล่น แต่เพิ่มมูลค่าให้ต้นยางพาราที่หมดอายุในการให้น้ำยางแล้ว ซึ่งตามปกติชาวบ้านจะตัดและเผาทิ้ง แต่บริษัทฯ นำไม้เหล่านั้นไปผลิตของเล่น เพื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อลดมลพิษจากการเผาไม้

 

รวมถึงใช้วัสดุที่ได้การรับรองว่าปลอดสารฟอร์มัลดีไฮด์ เช่น ไม้และกาว เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตราย โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีการใช้หมึกจากต้นพืชที่สามารถย่อยสลายได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกับงานพิมพ์แทนการใช้หมึกที่เป็นสารเคมี เปลี่ยนมาใช้กระบวนการให้ความร้อนเพื่อกำจัดความชื้น และกำจัดมอดในเนื้อไม้และทำให้ไม้มีความคงทน แทนการใช้ใช้น้ำยาที่ปลอดสารพิษเพื่อรักษาคุณภาพของไม้ ใช้สีสูตรน้ำแทนการใช้สีย้อมที่เป็นเคมี และมีสารตะกั่ว หรือมีโลหะหนักอื่นๆ

 

“ของเล่น” รักษ์โลก เล่นน้อย เล่นซ้ำ นำกลับมาเล่นใหม่ ภาพ : PlanToys

“การผลิตที่ยั่งยืน” คือกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่พิพิธภัณฑ์แปลนทอยส์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวมวล ที่โรงงานจะใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ไม่มีอะไรถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ เศษไม้ที่เหลือจะถูกนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานความร้อน พร้อมกับปลูกป่าในทุกๆ ปีเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

 

และ “จิตใจที่ยั่งยืน” โดยการมุ่งตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านแคมเปญเพื่อสิ่งแวดล้อมและการศึกษาพิเศษที่ช่วยให้โลกเป็นสถานที่ที่ดีกว่าสำหรับทุกคน โดยจัดทำพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็กแปลนทอยส์ รวมถึงกิจกรรมปลูกป่า และกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ

 

โกสินทร์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูกระบวนการผลิตแม้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาก แต่ก็มีการปลดปล่อยคาร์บอน ดังนั้น จึงกลับมาดูกระบวนการจัดการว่า ทำอย่างไรให้ของเล่นหนึ่งชิ้นที่ถูกใส่ความคิด ไอเดียเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กมีการใช้อย่างคุ้มค่า เพราะพอไปอยู่ในตลาดของเล่นเหล่านั้นกลับอยู่ได้ในระยะเวลาสั้น เนื่องจากพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน ทำให้ต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ของเล่นเกิดการใช้ซ้ำให้มากที่สุด

 

ขณะเดียวกัน มีคำถามว่าของเล่นใช้วัสดุค่อนข้างดี แต่ทำไมคนไทยเข้าไม่ถึง หลังจากนั้นจึงได้ปรับมาใช้โครงการให้เช่าของเล่นเช่นเดียวกับที่เมืองนอก เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพราะของเล่นบางชิ้นราคาหลักหมื่น ดังนั้นการให้เช่าจึงสามารถทำให้เข้าถึงของที่มีคุณภาพและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่เน้นทำผลิตภัณฑ์ และขยับมาทำเซอร์วิส ถือเป็นความท้าทาย แต่ก็เพิ่มโอกาสการเข้าถึงได้มากขึ้น

 

“ของเล่น” รักษ์โลก เล่นน้อย เล่นซ้ำ นำกลับมาเล่นใหม่

ภาพ : PlanToys

 

  • เช่าของเล่น สร้างสังคมการเล่นยั่งยืน

 

สำหรับโครงการให้เช่าของเล่น จุดเริ่มต้นจาก Forest of Play นิทรรศการเล่นได้ ที่สร้างพื้นที่เล่นเพื่อให้เด็กๆ และครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ในการออกแบบคำนึงถึงพัฒนาการหลักของเด็กทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา หลังจากที่นิทรรศการ Forest of Play ที่จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จ ได้มีการย้ายนิทรรศการมาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ Forest of Play ที่อาคารแปลนเนรมิต สาทรซอย 10

 

เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถใช้เวลาเล่นร่วมกับลูก แต่เมื่อเจอสถานการณ์โควิดทำให้เด็กๆ มาเล่นไม่ได้ บริการเช่าของเล่นจึงเกิดขึ้น โดยให้เช่าในราคา 10 เปอร์เซ็นต์ ของราคาขาย เช่น ของเล่นราคา 10,000 บาท ค่าเช่า 1,000 บาท เล่นได้ 3-4 สัปดาห์ เช่น เซ็ตเครื่องดนตรี เซ็ตสร้างเมือง เเละชุดของเล่นไม้คู่กับหนังสือนิทาน สร้างสังคมการเล่นอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Play เพื่อไม่ให้ปลายทางของของเล่นเหล่านั้นกลายเป็นขยะ

 

ความท้าทายที่สำคัญคือเรื่องของ Mindset บุคลากรในองค์กร เพราะ Circular Economy ไม่ใช่แค่ดีไซน์ แต่เป็น Total Loop ต้องทำความเข้าใจและปรับ Mindset ในองค์กรเพื่อให้คนเห็นเป้าหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งการดีไซน์ให้สินค้าใช้ได้ระยะยาวมากขึ้น เปลี่ยน Mindset และกระบวนการทำงาน สร้างความเข้าใจ ความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สำเร็จ

 

“เป็นการใช้พลังงานมหาศาลในการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจ เช่น ในยุโรป มีการเช่าเสื้อผ้าเด็ก แต่คนไทยอาจมองว่าเด็กต้องใช้เสื้อผ้าใหม่ กระบวนการเหล่านี้ต้องทำให้คนเข้าใจบริบทมากขึ้น ดังนั้น Mindset ของคนในองค์กร และผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย” โกสินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

“ของเล่น” รักษ์โลก เล่นน้อย เล่นซ้ำ นำกลับมาเล่นใหม่ ภาพ : PlanToys

 

  • เน้น "เศรษฐกิจหมุนเวียน" ผลักดันกฎหมาย EPR ในประเทศ

 

ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน BCG Model สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวในงาน สัมมนาออนไลน์ “Rethink Together: Co-creating Circular Economy with Circular Design” จัดโดย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)  ในประเด็นการออกแบบนโยบายของประเทศไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยระบุว่า ในการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ต้องอาศัยการขับเคลื่อนด้วย Key Projects และ Focus Sectors พร้อมนำแบบอย่างความสำเร็จไปขยายผลในกลุ่มอื่นๆ

 

ต้องมีการพัฒนา CE Solution Platforms สร้างขีดความสามารถ ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และเชื่อมโยงความรู้สู่เป้าหมาย มีการปรับแก้กฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรค สร้างบุคลากร และสร้างสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิต

 

นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความรู้และความเข้าใจ สร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการพัฒนากลไกตลาดที่เหมาะสมมีแรงจูงใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญ คือ การทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ร่วมกับพันธมิตร ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก องค์กรหรือตัวบุคคล ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น

 

ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ มีมาตรการส่งเสริมของภาครัฐจากหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายสำคัญในการดึงดูดความสนใจ เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนนำสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศไทยได้ ด้านสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีนโยบายสำคัญคือการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ในโครงการ Packback รวมถึงมีการผลักดันให้เกิดกฎหมาย EPR (Extended Producer Responsibility) ในประเทศ

 

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีกลไกที่สำคัญคือการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้สามารถนำงานวิจัยที่สำเร็จแล้วออกไปใช้ประโยชน์ได้ ในฝั่งของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมาตรการสนับสนุนการลงทุน ในธุรกิจที่ดำเนินกิจการในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้ 3-8 ปี และธุรกิจที่มีการวิจัยและพัฒนาในด้านนี้ ยังสามารถขอส่งเสริมการลงทุนได้อีกด้วย