"ขายของออนไลน์" อย่างไร? ให้ปัง โดยไม่ต้องโป๊ ไม่หยาบคาย

"ขายของออนไลน์" อย่างไร? ให้ปัง โดยไม่ต้องโป๊ ไม่หยาบคาย

นักวิชาการ แนะหลักการตลาดออนไลน์ ทำอย่างไรให้ปัง โดยไม่จำเป็นต้องโป๊ และต้องหยาบคาย หวั่นเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ สังคมไทยกลายเป็นเซ็กซี่เวอร์ ความชั่วร้าย ฝากทุกฝ่ายช่วยกัน ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่เด็ก

ขายของออนไลน์เป็นทางเลือกหลักในยุคปัจจุบันของพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งหลายคนได้นำกลยุทธ์ รูปแบบการขายออนไลน์หลากหลายมาเพื่อนำเสนอสินค้า เข้าถึงใจผู้บริโภคมากที่สุด

ทั้งมีการใช้ภาษาดุดัน หยาบคาย การใช้การแต่งกายวาบหวิว จนอาจทำให้หลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นเป็นการสร้างตัวตนเพื่อขายของออนไลน์ แต่ทั้งนี้เมื่ออยู่ในสังคมก็ต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมสังคม

  •  4 อย่าพ่อแม่ดูแลเด็กให้ปลอดเรื่องเพศ

ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดกิจกรรมถอดบทเรียนกระแสดัง สร้างความปัง การตลาดยุคใหม่ ไม่โป๊ ไม่หยาบ

โดยมี รศ.นพ.สุริยเดล  ทริปาตี กุมารแพทย์ด้านเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่าการใช้หลักการตลาดยั่วยวน และยั่วยุ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำหยาบคาย หรือการแต่งกายโป๊ วาบหวิว ล้วนอาจจะทำให้ประเทศนั้นๆ กลายเป็นเซ็กซี่เวอร์ และความชั่วช้า เพราะเวลาที่ใช้ทฤษฎีการยั่วยุ และยั่วยวนในหลักการตลาด จะมีพฤติกรรมบางอย่างเกิดขึ้นในทางจิตวิทยา หรือพฤติกรรมเร้าร้อน จะนำไปสู่ความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ   ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องช่วยกัน อย่าหลงระเริงไปกับการตลาดในลักษณะดังกล่าว

การดูแลเด็กในปัจจุบันที่พ่อแม่จะช่วยให้ลูกหลายปลอดภัยจากเรื่องทางเพศ มี 4 อย่า ได้แก่ อย่าอยู่ 2 ต่อ 2  อย่าล่อตาล่อใจ  อย่าเปิดไฟเขียว  และอย่าแอลกอฮอล์ ซึ่งการแต่งกาย หรือการพูดจา หลายคนอาจมองว่าเป็นสิทธิเสรีที่สามารถทำได้ แต่ในความเป็นจริงตรรกะเหล่านี้เป็นตรรกะวิบัติรศ.นพ.สุริยเดล กล่าว 

การกระตุ้นยั่วยุ หลายคนอาจจะยับยั้งได้ เพราะมีการพัฒนาสมองส่วนคิด แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ได้พัฒนา การขายของออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องไปกระตุ้นสมองแบบสมองสัตว์เลื้อยคลาน อย่าตอบสนองเพียงยอดขาย ยอดกดไลน์ แต่ขอให้มองผลกระทบที่จะตามมาด้วย

 

  • ต้นทุนชีวิตเด็กไทยค่อนข้างต่ำ-ปานกลาง

จากการสำรวจต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาว 12 ปี ในปี 2564 พบว่า เด็กมีพลังตัวตนมากขึ้น แต่พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชนกลับลดต่ำลง

เมื่อจำแนกตามภาค พบว่า ในพื้นที่ภาคกลางเด็กมีต้นทุนชีวิตน้อยกว่า 60 % ถือว่าอยู่ระดับค่อนข้างต่ำ โดยมีต้นทุนชีวิตเพียง 59.85% และไม่มีเด็กภาคไหนที่มีต้นทุนชีวิตอยู่ในระดับดี หรือดีมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับปานกลาง อาทิ ภาคใต้ มีต้นทุนชีวิตมากที่สุด 69.10% ภาคเหนือ 64.80% ภาคตะวันตก 63.31% ภาคตะวันออก63.40% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 61.98%

รศ.นพ.สุริยเดล กล่าวต่อไปว่าหากสังคมไม่มีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนตนเอง เป็นบุคคลที่มี  open mindset ต้องฟังเด็ก  ต้องสื่อสารพลังบวกภายในครอบครัว ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นน้อยมากในสังคมไทย หากครูและสถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ช่วยกันเปลี่ยนวิถีชีวิต ให้เด็กรู้จักมองผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้น ไม่ใช่มองเพียงกระแส ก็จะทำให้สังคมไทยดีขึ้น

เด็ก 4 สายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่าง สายพันธุ์แรงมา แรงไป  สายพันธุ์ภาวะน้อม สายพันธุ์เกิดความไม่ไว้วางใจสังคม สุดโต่งไปอีกด้าน และสายพันธุ์ลดความเมตตาธรรม จะลดน้อยลง

 

  • ทุกฝ่ายร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้

ด้าน นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าหลักการตลาดออนไลน์ ที่นำเสนอความหยาบคาย หรือการแต่งกายโป๊ๆ มาเป็นจุดขาย เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหา เพราะตอนนี้หลายคนมองเพียงว่าช่วยให้ขายของได้ และเด็กเยาวชนที่เข้าไปชม ไปซื้อสินค้าก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มองผลระยะยาว ซึ่งมิติของเรื่องนี้น่าเป็นห่วง  เนื่องจากไม่มีใครให้ชี้เห็นผลลัพธ์ด้านบวก ทุกคนมองเพียงกระแสในขณะนี้เท่านั้น

“การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต้องผลักดันให้เป็นวาระสำคัญ ที่เกิดกระบวนการขับเคลื่อนจริงๆ ต้องใช้กฎหมาย กลไกทำงานร่วมกัน สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก ซึ่งจริงๆ เด็กอยากมีพื้นที่ดีๆ หรือเด็กอยากทำดี แต่ด้วยสังคม ทำดีแล้วไม่ดัง การศึกษาต้องทำให้เด็กเท่าทันการตลาดยุคใหม่ และตกผนึกทางความคิดตลอดเวลา ครู พ่อแม่  สื่อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ และหลักกฎหมายทางด้านออนไลร์ให้แก่เด็ก”นายธีร์ กล่าว

  • ขายของออนไลน์ให้ปัง ไม่ต้องโป๊ หยาบคาย

น.ส.สุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)กล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อน เวลาพูดถึงตลาดออนไลน์ สังคมจะให้ความเป็นห่วงเรื่องคุณภาพสินค้า และความซื่อสัตย์ของผู้ขาย แต่ตอนนี้ ทุกคนกังวลเรื่องการพูดจา การแต่งกาย

ยิ่งเกิดสถานการณ์โควิด ตลาดออนไลน์เติบโตมาก ซึ่งมีทั้งข้อดี คือ สร้างโอกาสและการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ แต่ข้อเสีย คือภาษา และการแต่งกาย ทั้งที่ในความเป็นจริง การขายของออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องพูดหยาบคาย หรือจะต้องพูดให้ปังด้วยคำพูดแรงๆ

“ทุกคนอาจจะมองว่าการพูดจาหยาบคาย การแต่งกายวาบหวิวเป็นเรื่องปกติ แต่ในความจริงใช่ว่าสังคมไทจะยอมรับได้ทุกเรื่อง พม.ร่วมกับทางสสส. สำรวจเด็กมัธยมศึกษา พบว่า อันดับสูงสุดที่เด็กเข้าไปใช้บริการในอินเตอร์เน็ต คือ  44% เด็กและเยาวชนซื้อสินค้าออนไลน์จากคนไม่รู้จัก และ39% รับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อน ซึ่งหลายๆ คนเมื่อขายตลาดออนไลน์โดยใช้การแต่งกายโป๊ อาจทำให้เกิดการคุกคามทางเพศ และทำให้เกิดการเลียนแบได้ ถือเป็นความเสี่ยงพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน หากอยากให้เด็กและเยาวชนเป็นแบบไหนก็ควรร่วมกันสร้างต้นแบบอย่างนั้น” น.ส.สุนีย์ กล่าว

การสร้างเด็กและเยาวชนที่ดีที่สุด ควรให้ความรู้ ความเข้าใจ และต้องไม่เป็นการสั่งสอน แต่ต้องถ่ายทอดให้พวกเขารู้จักหยุด รู้จักตัวเอง และเมื่อมีปัญหาให้เล่าหรือปรึกษาพ่อแม่ผู้ปกครอง  ผู้ใหญ่ต้องไม่ตำหนิเด็ก ต้องทำให้เด็กกล้าที่จะออกมาพูดคุย หรือขอความช่วยเหลือ