“ชัยวุฒิ” ดันความร่วมมือ 19 องค์กร เอ็มโอยูคุ้มครอง "ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์"

“ชัยวุฒิ” ดันความร่วมมือ 19 องค์กร เอ็มโอยูคุ้มครอง "ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์"

“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส ผลักดันความร่วมมือ 19 องค์กร ลงนามเอ็มโอยูการคุ้มครองผู้บริโภค ซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ ผนึกกำลังภาคประชาชน องค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ และหน่วยงานรัฐ ยกระดับการคุ้มครองสิทธิของนักช้อปออนไลน์ไทยสู่มาตรฐานสากล

“ชัยวุฒิ” ดันความร่วมมือ 19 องค์กร เอ็มโอยูคุ้มครอง "ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์"

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างการเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การคุ้มครองผู้บริโภค ใน การซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ ว่า การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง องค์กรผู้บริโภค หน่วยงานส่งเสริมการ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการ ตลาดออนไลน์ และหน่วยงานรัฐที่เห็นความสำคัญของการปกป้องและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญที่เห็นถึงการพัฒนาความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง ยกระดับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคไทยไปสู่มาตรฐานสากล
.
ทั้งนี้ เทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนาธุรกิจของสังคมโลก ไปสู่การซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จนทำให้คนไทยซื้อสินค้า e-commerce มากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยคิดเป็นสัดส่วน 83% ของประชากรที่ใช้ อินเทอร์เน็ต และมีการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking  68% เป็นอันดับ 1 ของโลก สถิติเหล่านี้บ่งชี้ชัดเจนว่า การซื้อขายออนไลน์เป็นตลาดที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิด -19 ที่ได้มีการขอความร่วมมือให้ประชาชน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ
 

“การทำธุรกิจออนไลน์เป็นการทำการตลาดตรงกับผู้บริโภค ดังนั้นรูปแบบการสื่อสารโฆษณาชวนเชื่อจึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคไม่สามารถเห็นหรือสัมผัสกับสินค้าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อได้ และที่สำคัญในการซื้อสินค้า ผู้ซื้อไม่สามารถรู้ตัวตนที่แท้จริงของผู้ประกอบการ
.
ตลอดจนไม่รู้รายละเอียดข้อเท็จจริงของสินค้าหรือบริการ ถือว่าเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภคที่อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การหลอกขายสินค้า การได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามคำโฆษณา สินค้าเสียหาย รวมไปถึงปัญหาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว เป็นต้น” นายชัยวุฒิกล่าว

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้มีผู้ร่วมลงนาม 19 องค์กร ประกอบด้วย ภาคประชาชนและองค์กร/หน่วยงานส่งเสริมด้านอี-คอมเมิร์ซ ได้แก่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย 
.
ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู จํากัด บริษัท บิวตี้ นิสต้า จํากัด บริษัท ลาซาด้า จํากัด และบริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัดและหน่วยงานของรัฐด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลฯ ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ฉบับเดิม ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดทำไว้เมื่อเดือนกันยายน 2562 โดยมีการลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ องค์กรผู้บริโภค หน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจ ต่อมาเพื่อให้เอื้อต่อการปฏิบัติจริงได้มากขึ้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้ทำงานร่วมกับ ETDA และ สสส. ดําเนินการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และปรับปรุงให้เอื้อต่อการปฏิบัติร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้งมีการนำแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ของหน่วยงานสากลหลายฉบับเป็นกรอบในการปรับปรุง เพื่อให้เกิดระบบการกํากับดูแลกันเองระหว่างผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ กับผู้ประกอบการที่ใช้ตลาดออนไลน์ มุ่งสร้างแนวทางการป้องกันปัญหาและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้อย่างเท่าทันสถานการณ์

“บันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้ ยังสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ ทั้งการปฏิบัติต่อผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การจัดให้มีช่องทางการชำระเงินออนไลน์ที่มีความปลอดภัย ตลอดจนประเด็นนโยบายความเป็นส่วนตัวผู้ซื้อและผู้ขาย และการจัดให้มีระบบคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค ที่เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  อีกทั้งผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะจัดให้มีช่องทางสำหรับเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย” นายชัยวุฒิกล่าว