“วันเด็ก 2565” สังคมมีส่วนรับผิดชอบต่อ “ความรุนแรงในเด็ก” แค่ไหน?

“วันเด็ก 2565” สังคมมีส่วนรับผิดชอบต่อ “ความรุนแรงในเด็ก” แค่ไหน?

เมื่อ “บ้าน" กลายเป็นสถานที่ที่เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด “วันเด็ก 2565” ชวนมาย้อนดูสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย

สุขสันต์วันเด็ก2565 อีกครั้ง ในปีนี้เด็กไทยได้รับ "คำขวัญวันเด็ก" จากนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ความว่า “รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม” 

"วันเด็กแห่งชาติ" เกิดจากนโยบายขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่เริ่มจัดงานวันเด็กครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2498 โดยประเทศไทยก็เป็น 1 ใน 40 ประเทศที่มีการกำหนดวันเด็กแห่งชาติขึ้นมา และให้ความสำคัญกับเด็กไม่น้อยหน้าเรื่องอื่นๆ แต่เชื่อไหมว่าปัญหาหนึ่งที่ไม่เคยหายไปจากเด็กไทยเลย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ‘ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

  • ย้อนดูสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย

หากใครได้ติดตามข่าวสาร ข่าวใหญ่ต้อนรับปีเสือ65 นอกจากการระบาดของโอมิครอนแล้ว อีกข่าวที่มาแรงไม่แพ้กันก็คือคดีเด็กเสียชีวิตจากการกระทำของบุคคลในครอบครัว โดยก่อนหน้านี้ในปี 2564 ประเด็นเด็กถูกทำร้ายทั้งร่างกาย และจิตใจปรากฏอยู่บนหน้าสื่อหลายครั้ง

ปัญหาการ ใช้ความรุนแรงต่อเด็ก  จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ในแต่ละปีมีเด็กมากกว่า 10,000 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ  และจากข้อมูลของ UNICEF พบว่า 3 ใน 4 ของเด็กในช่วงอายุระหว่าง 1 - 14 ปี เคยถูกลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจโดยสมาชิกครอบครัว

โดยเด็ก 4.2 คนใน 100 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายในระดับรุนแรง เด็กโดยเฉลี่ย 52 คน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ทางกาย หรือทางใจ ถูกทอดทิ้ง หรือถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์ มีเด็กตกเป็นเหยื่อในลักษณะเหล่านี้คิดเป็นประมาณ 2 คนต่อหนึ่งชั่วโมง

สถิติ 16 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2547-2563) พบการใช้ความรุนแรงกับเด็กและต้องนำส่งเด็กเข้าไปยังศูนย์พึ่งได้รพ.ตร. จำนวนกว่า 1,307 ราย อีกทั้งพบว่าความรุนแรงต่อเด็กยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมจำนวนเด็กที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ หรือไม่กล้าขอความช่วยเหลือ

“วันเด็ก 2565” สังคมมีส่วนรับผิดชอบต่อ “ความรุนแรงในเด็ก” แค่ไหน?

ทั้งนี้นิยามของ ความรุนแรงในครอบครัว คือการทำร้ายร่างกายหรือสุขภาพของคนในครอบครัว หรือบังคับ ข่มเหงให้กระทำความผิด ส่งผลให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น สภาพแวดล้อมไม่ดี ติดการพนัน ทะเลาะวิวาท ติดสุรา ยาเสพติด และมีความเครียดทางเศรษฐกิจ บุคคลที่พบเจอกับความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ คู่สมรส พ่อแม่ พี่น้อง บุตรหรือบุตรบุญธรรม ปู่ย่า ตายาย ญาติ และคนในครอบครัวเช่น หลาน ลูกสะใภ้ ลูกเขย

  • ‘บ้าน’ สถานที่แห่งความเปราะบาง

การเกิดวิกฤติโรคระบาด ‘โควิด-19’ ส่งผลให้เกิดมาตรการการกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อลดและป้องกันการติดเชื้อไวรัสนั้น แต่อีกด้านหนึ่งคือการเพิ่มความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวอย่างน่ากังวล

สำหรับประเทศไทย สถิติในช่วงล็อคดาวน์ระลอก1 เดือนมกราคม - มีนาคม ปี 2561 มีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี สูงถึง 83.6% เฉลี่ยมากถึง 5 คนต่อวัน

นอกจากนี้ นิวยอร์กไทม์ยังได้นำเสนอบทความเรื่อง Where Can Domestic Violence Victims Turn During Covid-19? ที่อธิบายว่าความรุนแรงในครอบครัวจะเพิ่มขึ้นในสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการกักตัวอยู่ใน "บ้าน"

องค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) ออกแถลงการณ์ว่าเด็กทั่วโลกหลายร้อยล้านคนกำลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลายด้านในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การถูกละเมิด ความรุนแรง การถูกแสวงประโยชน์ การถูกกีดกันจากสังคม รวมถึงการถูกแยกจากผู้ปกครอง

หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ เผยว่า "ตอนนี้ผลกระทบของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้แพร่กระจายไปถึงเด็ก ๆ และครอบครัวจำนวนมหาศาล หลายโรงเรียนปิดการเรียนการสอน พ่อแม่ผู้ปกครองต่างพยายามดูแลลูกอย่างเต็มที่ ในขณะความเสี่ยงด้านความรุนแรงและการถูกแสวงประโยชน์ก็มากขึ้น"

ในอดีตที่ผ่านมา พ.ศ. 2557-2559 มีสถิติแรงงานเด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้ง และเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้พุ่งขึ้นสูงกว่าปกติในช่วงที่มีการปิดโรงเรียนป้องกันเชื้ออีโบล่า และประเทศเซียร์ร่าลีโอน พบอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงถึง 14,000 ราย ซึ่งมากกว่าสองเท่าก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดเชื้ออีโบล่าเช่นกัน

  • อย่าปล่อยให้เด็กโดดเดี่ยว

กรณีที่พบเห็นเด็กถูกทำร้ายหรือถูกกระทำด้วยความรุนแรงในที่สาธารณะ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กแนะนำว่าให้รีบเข้าไปช่วยเหลือเด็กทันทีเพื่อให้การทำร้ายนั้นหยุดลง และเด็กได้รับความปลอดภัย แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองด้วย หรือกรณีที่เรารู้ว่าเด็กจะถูกทำร้ายในช่วงเวลาไหนบ้าง เช่น เด็กถูกทำร้ายหลังเลิกเรียนทุกวัน เราอาจจะช่วยนำเด็กมาดูแล หรือดึงเด็กออกมาจากสถานที่นั้นในช่วงเวลานั้น เพื่อลดการถูกกระทำของเด็กในเบื้องต้นจนกว่าจะมีหน่วยงานมาช่วยเหลือ

หากว่าเราสงสัยหรือพบเห็นเด็กมีรอยฟกช้ำตามร่างกาย มีบาดแผลที่เกิดจากการกระทำของคน ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดเป็นประจำ เราสามารถช่วยเหลือเด็กได้ด้วยการโทรศัพท์แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาช่วยเหลือเด็ก โดยข้อมูลที่ต้องให้แก่เจ้าหน้าที่เบื้องต้นเพื่อเข้ามาช่วยเหลือเด็ก ได้แก่

  • เด็กที่ถูกทำร้ายเป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนทำร้าย (ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? อย่างไร?)
  • แจ้งชื่อและเบอร์ติดต่อของผู้แจ้ง เพื่อเจ้าหน้าที่ขอรายละเอียดเพิ่มเติม (ข้อมูลของผู้แจ้งจะถูกปิดเป็นความลับเพื่อความปลอดภัย)

เมื่อพบเห็นเด็กที่ถูกทำร้าย โทรแจ้งหรือขอคำปรึกษาได้ที่

  • มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599
  • กระทรวงพม. 1300
  • มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196
  • เฟสบุ๊คเพจ Because We Care ศูนย์พึ่งได้โรงพยาบาลตำรวจ

-----------------------------------

อ้างอิง : society.go.ththaichildrights.orgtheasianparent.com