ส่อง 15 วิธีการใช้งาน “ชุดตรวจ ATK” ให้เป๊ะ พร้อมไขข่าวลวงที่เกิดขึ้นตอนนี้

ส่อง 15 วิธีการใช้งาน “ชุดตรวจ ATK” ให้เป๊ะ  พร้อมไขข่าวลวงที่เกิดขึ้นตอนนี้

การใช้ "ชุดตรวจ ATK" เพื่อหาผลตรวจโควิด-19 ให้แม่นยำ กำลังเป็นประเด็น รวมถึงมีคนปล่อยข่าวลวงว่า ATK สามารถตรวจหาสายพันธุ์ โอมิครอน หรือเดลตาได้ จริงหรือไม่ เรารวบรวมคำตอบมาไว้ให้หมดแล้วที่นี่!

ปัญหาการใช้ “ชุดตรวจ ATK” เพื่อหาเชื้อโควิด-19 เป็นสิ่งที่คนกำลังให้ความสนใจมากในช่วงเวลานี้ เพราะหลายบริษัทสั่งให้ตรวจก่อนกลับมาทำงาน หลังไปเที่ยวหยุดยาวปีใหม่กันมา

นอกจากนี้ยังพบว่ามีคนพยายามปล่อยข่าวลวงที่ว่า ชุดตรวจ ATK บางยี่ห้อสามารถตรวจหาสายพันธุ์เชื้อไวรัสโควิด-19ได้อีกด้วย 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดู วิธีการใช้งาน “ชุดตรวจ ATK” ทำแบบไหนได้ผลตรวจ ATK ไม่คลาดเคลื่อน พร้อมเผยความเข้าใจผิดๆ จากข่าวลวงที่เกิดในสังคม ณ ขณะนี้!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

1. ชุดตรวจ ATK สามารถใช้เพื่อตรวจคัดกรองหาว่า มีการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 เท่านั้น

2. การใช้ชุดตรวจ ATK ไม่สามารถบอกผลได้ว่า ท่านติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใด ทั้งโอมิครอน เดลตา หรือตัวอื่นๆ ได้

การตรวจหาสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 สามารถทำได้ด้วย 3 วิธี ดังนี้

  • 2.1 ใช้วิธี RT-PCR โดยใช้น้ำยาพิเศษแต่ละสายพันธุ์โดยตรง ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการ 1-2 วัน ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ 15 แห่ง
  • 2.2 ใช้วิธี Target Sequencing เพื่อดูรหัสพันธุกรรมว่า เชื้อไวรัสมีความคล้ายกับชนิดใด ซึ่งใช้เวลาตรวจสอบ 3 วัน
  • 2.3 ใช้วิธี Whole genome sequencing เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ 

3. ห้ามนำชุดตรวจ ATK ไปทดสอบกับของเหลวอื่นที่ไม่ใช่สารคัดหลั่ง เพราะเป็นการใช้งานที่ผิดคุณลักษณะ สารละลายบัฟเฟอร์ที่ใช้กับชุดตรวจอาจให้ผลลัพธ์เป็นบวกปลอม

(จากกรณีที่คนไทยนำน้ำประปามาหยดตรวจ จึงไม่อาจบอกได้ว่ามีเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ และในต่างประเทศก็เคยทำการทดสอบกับเครื่องดื่มในท้องตลาดเช่นกัน)

4. การตรวจด้วย ชุดตรวจ ATK เป็นการตรวจคัดกรองเพียงเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการผลแบบที่ยืนยันได้อย่างชัดเจน ต้องตรวจแบบ Real time RT-PCR

  • หากพบว่าติดเชื้อ จะขึ้นแถบสีแดงที่ แถบ C และ T 
  • หากพบว่าไม่ติดเชื้อ จะขึ้นแถบสีแดงที่ แถบ C เท่านั้น
  • หากพบว่า ไม่สามารถแปลผลได้ จะไม่ปรากฏแถบสี หรือปรากฏแถบสีเฉพาะที่ตัว T และต้องตรวจด้วยชุดทดสอบอันใหม่

5. ไม่ควรอ่านผลตรวจ ATK หลังผลออกเกิน 20 นาที ควรดูผลทันทีหลังครบเวลาตรวจที่กำหนด (ประมาณ 10 นาที)

6. ชุดตรวจ ATK เมื่อแกะออกจากซองแล้วต้องใช้ทดสอบทันที ห้ามทิ้งไว้นานก่อนทดสอบ

7. การเก็บตัวอย่างเชื้อจากจมูก ให้สอดไม้ลึก 2-4 เซนติเมตร และหมุนวนไม้ 5 รอบ ในรูจมูกทั้ง 2 ข้าง

8. การเก็บตัวอย่างเชื้อจากน้ำลาย ห้ามนำไปแช่แข็งแล้วนำกลับมาตรวจใหม่ อาจทำให้คุณภาพชุดทดสอบลดลง และห้ามนำน้ำยาจากชุดตรวจคนละกล่องมาตรวจด้วยกัน

9. หากเป็นชุดตรวจ ATK แบบตรวจน้ำลาย ให้บ้วนน้ำลายให้ถึงขีดในหลอด แล้วคว่ำหลอดขึ้น-ลง 10 ครั้ง ก่อนหยดบนที่ตรวจ

10. หากเป็นชุดตรวจ ATK แบบเก็บตัวอย่างจากจมูก-หลังโพรงจมูก ให้หมุนวนไม้เก็บตัวอย่าง 10 รอบ แล้วปิดฝาหลอดให้แน่น จากนั้นคว่ำหลอดขึ้น-ลง 10 ครั้ง ก่อนหยดบนที่ตรวจ

11. ตรวจสอบวันหมดอายุของชุดตรวจ ATK และเช็คสภาพก่อนว่าได้รับการเก็บรักษาในที่แห้ง หรือมีอุณหภูมิ 2-30 องศาเซลเซียสหรือไม่

12. หากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง เพราะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ แต่ตรวจแล้วพบว่าตนเองไม่ติดเชื้อ ให้แยกตนเองออกจากผู้อื่นก่อน และตรวจอีกครั้งใน 3-5 วันถัดไป

13. บางชุดทดสอบระบุไว้ว่า ไม่ควรรับประทานอาหาร-ดื่มน้ำ (เป็นเวลา 30 นาที) สูบบุหรี่ หรือสัมผัสคอนแทคเลนส์ ก่อนตรวจ ATK

14. หากเป็นชุดตรวจ ATK แบบตรวจน้ำลาย ห้ามใช้ตัวอย่างน้ำลายที่ทิ้งไว้นานมากในการทดสอบ

15. การซื้อชุดตรวจ ATK ควรซื้อยี่ห้อที่มีการรับรองโดยอย. หรือซื้อผ่านหน้าร้านขายยาที่มีเภสัชกรแนะนำเท่านั้น หากเป็นทางออนไลน์ต้องตรวจสอบมาตรฐานการรับรองให้ดี

-------------------------------------

อ้างอิง: กรมสุขภาพจิตบีเจซี เฮลท์แคร์ จำกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์