"เยาวชนนักสื่อสารสุขภาวะ" สร้างรู้เท่าทันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และพนัน

"เยาวชนนักสื่อสารสุขภาวะ" สร้างรู้เท่าทันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และพนัน

สสส. ร่วมกับเครือข่ายสื่อลดปัจจัยเสี่ยง จัดเวิร์กช้อป “เยาวชนนักสื่อสารสุขภาวะ” สร้างการรู้เท่าทันประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการพนัน

จากสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงประเด็นเหล้าและการพนัน ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาธุรกิจทั้ง 2 ประเด็นนี้ เน้นการส่งเสริมการตลาดพุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาชน เพื่อต้องการสร้าง “นักดื่ม-นักเล่น หน้าใหม่” โดยมีการเจาะไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นในรูปแบบของ Sport Marketing , Music Marketing  และ Sexy  Marketing

ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างเกราะในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน โครงการพัฒนารายการกีฬาต้นแบบปลอดเหล้าและปลอดพนัน ร่วมกับ โครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสุขภาวะประเด็นลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ : สร้างสื่อให้ต๊าซ Touch ใจวัยรุ่น ตอน Live & Music ขึ้น  ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา  

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เล่าถึงการพนันกับผลกระทบที่เกิดขึ้น  เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักกับเกมการพนันมากขึ้น ว่า ธรรมชาติของการพนันมักหากินกับ ‘ความเชื่อ และความคิด’ ของคนเรา เชื่อว่าเล่นพนันแล้วจะทำให้รวยเร็ว ซื้อลอตเตอรี่เพราะหวังถูกรางวัลที่ 1 แต่โอกาสถูกจริงมีเพียงหนึ่งในล้าน คิดเห็นแต่ในทางที่ตนจะได้รางวัลจะชนะ ฝากทุกอย่างไว้กับดวง เมื่อได้ไม่ยอมหยุดเมื่อเสียไม่ยอมเลิกเล่น  

 

ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มติดพนันกันมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว เป็นแรงกระเพื่อมไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในที่สุด ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดตอนนี้ คือ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรา กำลังจะผลักดันให้คาสิโนถูกกฎหมาย ทั้งบนดินและออนไลน์ ผลที่จะตามมา คือ คนจะติดการพนันมากขึ้น เยาวชนและครอบครัวจะต้องเรียนรู้และเท่าทันปัญหาการพนัน  ‘ต้องรู้จักพอ หรือ หยุดให้เป็น’ 

ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ แชร์ประสบการณ์การทำงานในแวดวงปัจจัยเสี่ยงมานานนับสิบปี ว่า จากการทำงานของเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์พบว่า อัตราการลดการดื่มแอลกอฮอล์แม้จะลดลงในทุกช่วงวัย แต่มีกลุ่มหนึ่งที่ไม่ลดลงเลยคือ ‘กลุ่มเยาวชน’  สิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดคือ เด็กเยาวชนมักมีพฤติกรรมของการดื่มแบบทิ้งตัว ซึ่งผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์มีหลายมิติมาก

ทั้งมิติความรุนแรงในครอบครัว มิติของการเป็นเหยื่อจากเมาแล้วขับ และที่สำคัญเด็กมักจะถูกสอนมาจากโรงเรียนว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอันตรายก่อให้เกิดโรคตับ แต่จริงๆ แล้วยังมีอันตรายมากกว่านั้นก่อให้เกิดโรคร้ายอีกกว่า 200 โรค  และผลกระทบจากการตายและพิการก่อนวัยอันควรจากการดื่มแล้วขับ ที่มีต้นทุนความสูญเสียกว่า 8  หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งยังไม่รวมถึงความต้นทุนที่มิอาจประเมินค่าได้จากความเสียใจของครอบครัวและญาติของเหยื่อดื่มแล้วขับอีกมากมาย

 

นายอินทัช อินทสระ เยาวชนจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมส่งเสียงสะท้อนจากผลกระทบเรื่องเหล้า ที่อยากจะบอกต่อไปยังสังคม ว่าการขายเหล้าไม่ควรขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และไม่ควรขายให้กับคนเมาที่ขาดสติ  ร้านเหล้า หรือเมืองท่องเที่ยวบางครั้งก็ไม่เคร่ง เขาปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าร้านได้  และในวันนั้นเมื่อสอบเสร็จ ตนกับเพื่อนก็นัดกันไปกินดื่มฉลองกัน ก่อนแยกย้ายกันที่ร้านเหล้า ตนนัดไปดูผลสอบด้วยกัน  พอตนกลับถึงบ้านรู้ข่าวว่าเพื่อนขับรถมอเตอร์ไซค์เสยกับรถสิบล้อที่จอดอยู่บนถนน ทั้ง ๆ ที่สวมหมวกกันน็อกยังเสียชีวิตเลย  เพราะฤทธิ์ของเหล้าทำให้เพื่อนตนจากคนที่เคยขับขี่ระวัง  คืนนั้นเขาขับเร็วมาก  เหตุการณ์ครั้งนั้นทำตนขยาด เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้น  ตนคงรับมันไม่ไหว

นายรอมฎอน แสแลแม จ.ยะลา หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานอาสากู้ภัยกู้ชีพว่า ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นบ่อเกิดของทุกปัญหาในสังคม“ในช่วงของงานเทศกาลรื่นเริง หรือ เฉลิมฉลอง จะมีเคสมากมายให้อาสากู้ชีพกู้ภัยต้องเข้าไปช่วยเหลือ คืนนั้นต้องไปช่วยคนดื่มแล้วขับประสบอุบัติเหตุ  แม้เขาจะไม่ได้เป็นอะไรมาก  เพียงแค่บาดเจ็บ  

แต่จากการที่ทำงานเสริมเพื่อสังคมด้านกู้ชีพกู้ภัยมากตั้งแต่มัธยมปลาย ผมเจอเหตุการณ์ร้าย ๆ บนถนนจากดื่มเหล้ามาเยอะ จึงชวนพี่เขาคุยว่าระหว่าง การฆ่าคน การข่มเหงคน และการดื่มเหล้า พี่ว่าอะไรอันตรายที่สุด  ตอนแรกเขาทำหน้างง เลยเฉลยว่า การดื่มเหล้าอันตรายที่สุด  เพราะจะทำให้เราขาดสติ ไปทำร้ายคนอื่น ก่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้  ที่สำคัญเหล้าอาจฆ่าชีวิตเราได้จากการดื่มแล้วขับไงพี่ แล้วเขาก็ตอบกลับมาแบบนิ่ง ๆ ว่า จริง  วันนี้พี่ก็เกือบไม่ได้มาคุยกับน้องแล้ว