เทคนิค WFH หยุดพฤติกรรมเนือยนิ่ง กินอย่างไร? ให้ห่างไกลโอมิครอน

เทคนิค WFH หยุดพฤติกรรมเนือยนิ่ง กินอย่างไร? ให้ห่างไกลโอมิครอน

กรมอนามัย แนะแนวปฏิบัติ WFH ลดเสี่ยงติดโอมิครอน พร้อมเปิดเทคนิคการเลือกรับประทานอาหาร กินดี สุขภาพดี หยุดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ย้ำทุกคนควรออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพกาย ใจ

ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 วันหยุดยาวได้ผ่านพ้นไปแล้ว และตามนโยบายของรัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติงานที่บ้าน หรือ Work From Home (WFH) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดรุนแรง และกระจายไปเกือบจะทุกจังหวัดในประเทศไทย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานเสวนา “WFH ให้ปลอดภัยไม่เสี่ยงโควิด-19”  โดยมี นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การปฏิบัติงานที่บ้านให้ปลอดภัยจากโควิด-19 นั้น ก่อนหน้านี้ ได้มีการปฏิบัติมาแล้วช่วงหนึ่ง เพื่อเป็นการลดความแออัดในที่ทำงาน และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อระหว่างการเดินทางสำหรับบุคคลที่ต้องเดินทางโดยรถสาธารณะ และขณะนี้เมื่อมีการติดเชื้อโอมิครอนจำนวนมากขึ้น

 จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน WFH  นั่นคือ ต้องอยู่บ้านจริงๆ ไม่ควรไปในพื้นที่เสี่ยง   โดยเฉพาะบ้านไหน ครอบครัวไหนที่เด็กเล็ก มีผู้สูงอายุซึ่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือมีกลุ่มเสี่ยงอยู่ในบ้านต้องระวังการติดเชื้อ

 

  • แนวปฏิบัติ WFH ลดเสี่ยงติดโควิด-19

 ทั้งนี้ สำหรับแนวปฏิบัติของ WFH นั้น เริ่มแรก อยากให้ทุกคนประเมินความเสี่ยง ไทยเชฟไทย เช่น ในช่วงปีใหม่ ไปไหนมาบ้าง และอยู่ในจังหวัดที่มีการระบาดสูง และถ้าประเมินว่ามีความเสี่ยงขอให้ตรวจด้วย ATK หรือตรวจ ATK ได้ทันทีก่อนประเมินก็ได้ นอกจากนั้น หากอยู่ในบ้านหลายๆ คน ควรใส่หน้ากากตลอดเวลา เมื่ออยู่ที่บ้าน เพื่อลดการติดเชื้อ ควรงดการล้อมวงกินข้าวร่วมกัน  และควรทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมในครอบครัว ทั้งห้องน้ำ บันได โดยใช้สารทำความสะอาด หรือใช้น้ำผสมกับน้ำยาฟอกขาวหรือผงซักฟอก และขอให้ทุกคนสังเกตอาการตนเอง ถ้าไม่แน่ใจ ขอให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

"ช่วง WFH ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพกาย และใจ หากมีความเครียดขอให้ทำกิจกรรมเพื่อคลายความเครียด"นพ.เอกชัย กล่าว

สำหรับกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อเมื่อต้องแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation

  • ขอให้ดูแลตัวเอง ป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดไปสู่ผู้อื่น  
  • ควรอยู่ห้องแยกต่างหาก  แยกของใช้ส่วนตัว
  • จัดห้องพักให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี แบ่งสัดส่วนห้องชัดเจนหรือมีฉากกั้น  
  • สวมใส่หน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ  
  • เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร กับคนในครอบครัว
  • แยกทำความสะอาด ทำความสะอาดจุดสัมผัสบ่อยๆ
  • ใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดทุกครั้ง 
  • ควรจัดการขยะ ใช้ถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
  • ฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฟอกขาว และผูกปากถุงให้แน่น
  • มีการแยกขยะติดเชื้อกับขยะทั่วไป หรือติดป้ายชัดเจน
  • หากมีอาการรุนแรง ขอให้ติดต่อไปยังสายด่วน 1422 

 

  • กินดี สุขภาพดี ในช่วง WFH

ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ  กล่าวว่า WFH จะทำให้ทุกคนรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา และหลายคนจะอยู่กับที่หรือทำงานจนลืมรับประทานอาหาร เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ดี โดยอาหารที่ทุกคนเลือกทานจะเป็นอาหารที่ทานง่าย  อย่าง อาหารฟาสต์ฟู้ด  อาหารแปรรูป เครื่องดื่มที่มีรสหวาน กินจุกจิกระหว่างวัน มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง นอนดึกเกิน 4 ทุ่ม มีความเครียด และใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์

อยากเน้นย้ำว่าการที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี ต้องเลือกรับประทานอาหารที่ถูกส่วน ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีเส้นใย เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี เน้นผัก ผลไม้ในทุกมื้อ เลือกโปรตีนคุณภาพ ดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด ชิมก่อนปรุง ลดหวาน มัน เค็ม เลี่ยงอาหารไขมันสูง น้ำตาลสูง รวมถึงควรเลือกร้านอาหารที่มีการจำหน่ายเมนูสุขภาพ ปรุงสุก ได้มั่นใจว่าอาหารที่เลือก มีคุณค่าทางโภชนาการ” ดร.พญ.สายพิณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลักสำคัญในการดูแลตนเอง อยากให้ทุกคนปฏิบัติ 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ ควรปรับให้สมดุล กินอาหารให้เป็นมื้อ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นดูแลน้ำหนักตัว ออกกำลังกาย ขยับเคลื่อนไหวร่างกาย นอนหลับให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง และจัดการความเครียดโดยการทำงานอดิเรกที่ชอบ อีกทั้งไม่ควรสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ 

  • หยุดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ก่อนโรคถามหา

นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า จากการสำรวจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการจำกัดกิจกรรมนอกบ้าน และหลายคนต้อง WFH ทำให้คนไทยมีปัจจัยป้องกัน  อย่าง การออกกำลังกาย การเดิน การวิ่งอย่างเพียงพอลดลง  20% ขณะที่พฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือการไม่ขยับตัว ขยับตัวน้อยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เมื่อตอนนี้มีความร่วมมือขอให้ทุกคน WFH เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากนี้หากทุกคนไม่ตระหนักการออกกำลังกาย หยุดพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยเฉพาะเด็ก อาจทำให้เด็กไทยอ้วนขึ้น และการพัฒนาทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ความสูงอาจจะลดลง

“อยากให้ทุกคนตระหนักในการออกกำลังกาย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เพราะเด็กจะสูงได้ ต้องทานอาหารเพียงพอ ออกกำลังกายเพียงพอ และนอนเพียงพอ แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เด็ก และคนวัยทำงานมีแนวโน้มเคลื่อนไหวน้อยมาก การ WFH ครั้งนี้ อยากให้อยู่อย่างเข้าใจ และปรับตัวได้ เพิ่มการออกกำลังกายในบ้าน และมีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอ เช่น ทำความสะอาดบ้าน ทำงานบ้าน หรือออกกำลังกายตามYoutube เพราะฉะนั้น กรมอนามัยอยากส่งเสริมให้ทุกคนทำงานที่บ้าน ลดพฤติกรรมเนืองนิ่งโดยแต่ละวันหากนั่ง 1-2 ชั่วโมงควรลุกไปทำกิจกรรมอื่นๆ แล้วกลับมานั่งทำงานอีกครั้ง”นพ.อุดม กล่าว

  • เทคนิคลดนิ่ง ...เพิ่มขยับ ดูแลสุขภาพ

ทั้งนี้  สำหรับเทคนิคลดนิ่ง เพิ่มขยับนั้น สามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  • ยืดเยียดกล้ามเนื้อทุกๆ1 ชั่วโมง หรือเปลี่ยนอิริยาบถ ขยับบ่อยๆ
  • ไม่วางขนมของกินเล่นไว้ที่โต๊ะทำงาน
  • เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์
  • หลังเลิกงานหรือเมื่อมีวันหยุดควรออกกำลังกาย 

 6 ประโยชน์เพิ่มขยับ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง มีดังนี้

  1. สร้างภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสเกิดโรคNCDs
  2. ลดความเมื่อยล้า
  3. ลดความเครียดและภาวะซึมเศร้า
  4. ลดความรุนแรงจากการเจ็บปวด
  5. ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
  6. เพิ่มศักยภาพในการทำงานกระตุ้นการเรียนรู้

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์