ความหวัง! ปี 65 โควิดสู่โรคประจำถิ่น ทั่วโลกยอดตายแนวโน้มลด

ความหวัง! ปี 65 โควิดสู่โรคประจำถิ่น ทั่วโลกยอดตายแนวโน้มลด

สธ.เผยทั่วโลกยอดผู้เสียชีวิตโควิดแนวโน้มลดลง สอดคล้องไทย ปี 65 หวังกลายเป็นโรคประจำถิ่น กำชับตรวจ ATK หลังกลับทำงานปีใหม่

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในสถานการณ์โควิด-19 และสายพันธุ์โอมิครอนหลังปีใหม่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทั่วโลกแนวโน้มผู้เสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นสถิติใหม่มีการพุ่งขึ้น สอดคล้องกับการระบาดของสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน

สำหรับในประเทศไทย ผู้ติดเชื้อในไทยรายใหม่ 3,091 ราย มาจากต่างประเทศ 124 ราย น่าสังเกตว่า แนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงของโรคเริ่มลดลง หลังมีการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก โดยผู้ป่วยอาการหนักหรือปอดอักเสบลดลงมาเหลือวันนี้ 555 ราย จากช่วงระบาดสูงสุดถึง 1,300 คน รวมถึงผู้ใส่ท่อช่วยหายใจเหลือ 151 ราย จากที่สูงสุดหลายร้อยคน และผู้เสียชีวิตระยะหลังแต่ละวันไม่ถึง 20 คน โดยผู้เสียชีวิตระยะหลังพบอายุสูงมากขึ้น หลายครั้งเกือบทั้งหมดที่เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ดังนั้น กลุ่มนี้ขอให้มาฉีดวัคซีน ที่กลัวอย่ากลัว เพราะข้อมูลที่ฉีดวัคซีนมามีความปลอดภัยสูง 

หลังมีการระบาดของโอมิครอนในหลายประเทศ ส่วนไทยชะลอการเดินทางเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเช่นกัน และชะลอการติดเชื้อในประเทศได้ เพราะที่ผ่านมาระบบ Test & Go มีอัตราการติดเชื้อ 2% อย่างไรก็ตาม ช่วงคริสต์มาส ปีใหม่ มีการเดินทางท่องเที่ยว และเฉลิมฉลองจำนวนมาก ส่งผลให้หลายเมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น เดิมติดเชื้อสูงสุดที่ กทม. แต่วันนี้ชลบุรีมีผู้ติดเชื้อสูงสุด และอีกจังหวัดสำคัญคือ อุบลราชธานี รวมถึงภูเก็ต เชียงใหม่ สมุทรปราการ แนวโน้มการติดเชื้อระยะหลัง โดยเฉพาะการติดเชื้อในประเทศ ส่วนใหญ่เกิดจากการทำกิจกรรมรวมตัวกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย อยู่ในห้องปิดอับ เช่น ร้านอาหาร ร้านอาหารกึ่งผับบาร์

"หลังปีใหม่มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อาการหนัก ผู้เสียชีวิตลดลง โดยการระบาดกลุ่มก้อนมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหารกึ่งผับบาร์ หลายแห่งไม่ปฏิบัติตามมาตรการต้องเน้นจังหวัดบังคับใช้กฎหมาย" นพ.โอภาส กล่าว

จากการทำแบบจำลองฉากทัศน์การติดโควิด โดยเฉพาะโอมิครอนหลังปีใหม่นั้นหรือช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 จะพบว่าหากไม่ทำอะไรเลยก็จะมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 3 หมื่นรายต่อวันใน 1-2 เดือนข้างหน้า แต่หากมีมาตรการดำเนินการเข้มงวด ทั้งฉีดวัคซีน มาตรการส่วนบุคคล มาตรการองค์กร และการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอด้วย ATK ก็จะชะลอการระบาดได้ ซึ่งหวังว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อจะน้อยที่สุด จึงต้องขอความร่วมมือช่วยกัน

ประชาชนที่กลับจากต่างจังหวัดให้เฝ้าสังเกตอาการ อย่างน้อย 14 วัน และขอให้ทำงานที่บ้าน Work From Home ในสัปดาห์แรกพร้อมตรวจ ATK อย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 3 วัน ก่อนกลับเข้าทำงาน หากพบว่าผลตรวจเป็นบวก โทร 1330 สปสช. ลงทะเบียนรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation หรือติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนผู้ประกอบการ มีมาตรการ WFH เฝ้าระวังอาการป่วย ตรวจคัดกรองพนักงานก่อนเข้าทำงาน ส่วนโรงงานขอให้ดำเนินการภายใต้รูปแบบ บับเบิลแอนด์ซีล ทั้งนี้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มก่อนวันที่ 1 พ.ย.2564 ให้ไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสเข็ม 3 สถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือนให้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสอีก 1 เข็มได้

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า โควิดระบาดผ่านมา 2 ปีเรียนรู้อะไรบ้าง ช่วงปี 2563 โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ มีจีนเป็นต้นแบบควบคุมโรคแบบล็อกดาวน์ มีจำกัดการเดินทาง ขณะนั้นประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง แต่ตอนนั้นยังไม่มีวัคซีน ต่อมาปี 2564 เชื้อมีการกลายพันธุ์จากอู่ฮั่น เป็นอัลฟา เดลตา มีการแพร่ระบาดทั่วโลก ตอนนั้นเราพบว่าจะจำกัดให้โรคเป็นศูนย์ไม่ได้ เพราะมีระบาดทั่วโลก จึงเน้นความสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว และมีการฉีดวัคซีนได้ 104 ล้านโดส จัดหาวัคซีนได้ 120 ล้านโดสมากกว่าแผน

ในปี 2565 สิ่งที่คาดหวังเชิงวิชาการคือ ต้องปรับระบบเตรียมพร้อมให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่การจะเป็นโรคประจำถิ่น ต้องมีปัจจัย 3 ประการ คือ 1. เชื้อโรคต้องอยู่กับคนเราอย่างสมดุล ต้องอ่อนแรงลง ไม่ทำให้คนป่วยหนักเสียชีวิต แต่จะแพร่กระจายได้มากขึ้น ซึ่งตรงกับสายพันธุ์โอมิครอน 2. จะอยู่กับเชื้อโรคได้ ต้องมีภูมิต้านทาน มีการฉีดวัคซีน โดยปี 2565 จะเน้นฉีดเข้มกระตุ้น ทั้งเข็ม 3 และ 4 ขณะนี้สธ.เตรียมวัคซีนให้ประชาชนแล้ว และ3. การจัดการสิ่งแวดล้อมลดความเสี่ยง การรักษาดีขึ้น มียามากขึ้น มีความรู้ในการต่อสู้มากขึ้น
" ทั้งหมดเราเตรียมพร้อมไว้แล้ว และคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชน เพื่อให้โรคกลายเป็นโรคประจำถิ่น"นพ.โอภาส กล่าว  

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์