จับตา! ปี 2565 สธ.ปรับระบบรายงานโควิด-19ใหม่

จับตา! ปี 2565 สธ.ปรับระบบรายงานโควิด-19ใหม่

“ตามคาดการณ์ราวมิ.ย. 2565 ถ้าช่วงมี.ค.-เม.ย.สถานการณ์โควิด-19ถอยไปจากเดิม ความรุนแรงของโรคน้อยลงมาก และไม่มีการกลายพันธุ์ที่ทำให้เชื้อรุนแรงขึ้น” นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ให้คำตอบกรณีปี 2565 จะเริ่มก้าวสู่การอยู่ร่วมกับโควิด-19หรือไม่

 อย่างไรก็ตาม ระยะต้นปี เลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คาดการณ์สถานการณ์แย่ที่สุดจะมีผู้ติดเชื้อราว 30,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 170-180 คนต่อวัน ใช้เวลาราว 3-4 เดือนจะควบคุมโรคได้ ส่วนดีที่สุด มีผู้ติดเชื้อราว 10,000 รายต่อวันเสียชีวิต 60-70 คนต่อวัน จะใช้เวลาในการควบคุมโรคราว 1-2 เดือน
การแจ้งเตือนสถานการณ์ต่อประชาชนจะแบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 สีเขียว ใช้ชีวิตได้ปกติ ระดับ 2 สีเหลือง เร่งเฝ้าระวัง คัดกรอง ระดับ 3สีส้ม จำกัดรวมกลุ่ม ระดับ 4สีแดง ปิดสถานที่เสี่ยง และระดับ 5สีแดงเข้ม จำกัดการเดินทางและกิจกรรมต่างๆ

  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) อธิบายว่า การประเมินความเสี่ยงและกำหนดเป็นระดับสีการเตือนภัย พิจารณา 2 อย่าง ได้แก่ 1. พิจารณาอัตราป่วยเฉลี่ยต่อแสนประชากรต่อวัน ซึ่งเป็นข้อมูลการนอนรพ.รายสัปดาห์ หากแดงเข้มมากกว่า 50 คนต่อแสนประชากรต่อวัน สีแดงมากกว่า 25-50 คน สีส้มมากกว่า 10-25 คน สีเหลือง มากกว่า5-10 คน และสีเขียวน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 คน และ 2.ความสามารถรองรับผู้ป่วย พิจารณาจำนวนเตียงเขียว เหลือง แดง ซึ่งจะเน้นย้ำในผู้ป่วยหนัก นำข้อมูล 2 ส่วนนี้ มารวมกันจะกลายเป็นระดับความเสี่ยงของสถานการณ์โควิด-19 เป็น 5 ระดับ คือ เสี่ยงต่ำมาก เสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงสูง และวิกฤติ จากนั้นนำระดับความเสี่ยงของสถานการณ์มาพิจารณาร่วมกับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวเรื้อรัง จะกลายเป็นระดับการเตือนภัย 5 ระดับ
แต่ละระดับของการเตือนภัยจะมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำคัญแตกต่างกัน ได้แก่ ระดับ 1 เปิดทุกแห่งแบบCOVID-Free Setting การร่วมกลุ่มคนจำนวนมากแบบSmart living เดินทางข้ามพื้นที่โดยขนส่งสาธารณะแบบ COVID-Free Setting การเดินทางเข้าประเทศโดยปกติ  

   ระดับ 2 จำกัดการเข้าสถานที่ปิด เกณฑ์จำนวนคนให้รวมกลุ่มได้ตามระดับความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค รายจังหวัด เดินทางข้ามพื้นที่โดยขนส่งสาธารณะแบบ COVID-Free Setting เริ่มระบบTest&Go ระดับ 3 ปิดสถานบริการ งดเข้าสถานที่ปิด เกณฑ์จำนวนคนให้รวมกลุ่มได้ตามระดับความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค รายจังหวัด ให้มีการคัดกรองก่อนเดินทาง Work From Home(WFH) เปิดแซนด์บ็อกซ์
ระดับ 4 สถานที่เปิดเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เกณฑ์จำนวนคนให้รวมกลุ่มได้ตามระดับความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค รายจังหวัด WFH ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ เข้าประเทศโดยการกักตัวแต่ลดวันกักตัว และระดับ 5 สถานที่เปิดเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การรวมกลุ่มคนไม่เกิน 5 คน การเดินทางข้ามพื้นที่จะมีการประกาศเคอร์ฟิว คัดกรองก่อนเข้าพื้นที่ และการเดินทางเข้าประเทศใช้ระบบกักตัวทุกราย


สำหรับความพร้อมของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับการระบาดของโอมิครอน โดยข้อมูล ณ วันที่ 25 ธ.ค.2564 ในส่วนของเตียงทั่วประเทศรวมราว 1.7 แสนเตียง อัตราการครองเตียงปัจจุบันอยู่ที่ 13.7 % ว่างอีก 153,767 เตียง แยกเป็น เตียงระดับ 3 สีแดง ทั้งหมดราว 5,000 เตียง ระดับ 2 สีเหลือง ทั้งหมดราว 60,000 เตียง และระดับ 1 สีเขียว ทั้งหมดราว 1.12 แสนเตียง
ส่วนของเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีความรุนแรง มีราว 11,000 เตียง คาดว่ารองรับผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการรุนแรงได้ 785 คนต่อวัน หากมีผู้ติดเชื้อจำนวน 52,300 คนต่อวัน เฉพาะพื้นที่กทม.และปริมณฑล ประมาณการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่มีความรุนแรง ราว 1,760 เตียง คาดว่ารองรับผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการรุนแรงได้ 125 คนต่อวัน หากมีผู้ติดเชื้อจำนวน 8,300 คนต่อวัน ขณะที่ก่อนหน้านี้ผู้ติดเชื้อในกทม.และปริมณฑลเคยมากที่สุดที่ราว 5,000 ราย

จับตา! ปี 2565 สธ.ปรับระบบรายงานโควิด-19ใหม่
การสำรองยา ณ วันที่ 25 ธ.ค.2564 มียาฟาวิพิราเวียร์สำรองประมาณกว่า 15 ล้านเม็ด อัตราใช้ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.8 แสนเม็ดต่อสัปดาห์ ซึ่งประมาณการณ์ใช้ได้อย่างน้อย 2 เดือน แต่หากมีสถานการณ์ที่ต้องการยา องค์การเภสัชกรรม(อภ.)มีการสำรองวัตถุดิบและสามารถผลิตยาได้อีก 60 ล้านเม็ด และมียาเรมเดซิเวียร์สำรองไว้อีกกว่า 44,000 ไวอัล
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลถึงระบบการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อว่า แนวทางการรักษายังเป็นการให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์ หากให้เร็วภายใน 3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ ส่วนยาโมนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิดคาดว่าจะเข้ามาในประเทศไทยราวเดือนก.พ.2565 ในส่วนของผู้ป่วยที่ดูแลด้วยระบบHIคุณภาพ จะติดต่อกลับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง หลังทราบผลการติดเชื้อ เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทั้งอาหาร ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน และยา

ส่วนระบบดูแลในชุมชนหรือCI ทุกจังหวัดมีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว ส่วนกทม.มีการจัดตั้งในทุกเขต และมีการเตรียมกานในการดูแลผู้ป่วยเด็กที่คาดว่าอาจจะมีมากขึ้น เพราะเด็กอายุ 5-11 ปียังไม่ได้รับวัคซีน โดยเตรียมยาฟาร์วิพิราเวียร์ชนิดน้ำ ให้ความรู้การดูแลผู้ป่วยเด็กกับเครือข่ายHI/CI ประสานจัดเตรียมหน้ากากสำหรับเด็ก ระบบCIสำหรับผู้ป่วยเด็กที่ต้องมีผู้ปกครองดูแลอย่างน้อยโซนละ 1 แห่งและจัดระบบส่งต่อรพ.เมื่อมีอาการรุนแรง และจัดเตรียมเตยงระดับ3 สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรง


การฉีดวัคซีนในปี 2565 มีแผนจัดบริการจำนวน 120 ล้านโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 60 ล้านโดส ไฟเซอร์ 30 ล้านโดส และอื่นๆ 30 ล้านโดส โดยจัดฉีดให้กับกลุ่มผู้ไม่เคยได้รับวัคซีนและประสงค์รับวัคซีน จำนวน 1.2 ล้านคน ,ผู้ที่อายุครบ 12ปีบริบูรณ์ รับวัคซีนผ่านสถานศึกษา จำนวน 0.7 ล้านคน ,กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จำนวน 5 ล้านคน ,เข็มที่ 3 ในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ จำนวน 41 ล้านคน ,เข็มที่ 4 ในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ จำนวน 54 ล้านคน ,เข็มกระตุ้นผู้ที่เคยติดเชื้อ จำนวน 1.5 ล้านคน และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดจำนวนหนึ่ง


ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ บอกว่า ในปี 2565 จะมีการติดตามสถานการณ์ของโรคอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการป่วย อาจจะมีการพิจารณาปรับระบบรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยรายงานเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อแล้วมีอาการป่วย เพราะผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการป่วยก็ไม่ได้ถือว่าเป็นโรค หากมีผู้ติดเชื้อวันละเป็นหมื่นราย แต่ผ่านไป 1-2 สัปดาห์ไม่มีผู้เสียชีวิตจึงจะปรับเป็นแบบนี้ โดยจะพิจารณาตามสถานการณ์และดำเนินการต่อเมื่อมีความมั่นใจ ถ้ายังไม่แน่นอน โดยโอมิครอนตีลังกาซิกแซกอันตรายขึ้นมา ก็จะยังไม่ดำเนินการ


“อาจจะยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคประจำถิ่น เพราะอัตราเสียชีวิตน่าจะยังอยู่ที่ 0.6-0.7 % ซึ่งการจะเป็นโรคประจำถิ่นอัตราการเสียชีวิตควรจะอยู่ที่ราว 0.01 %”นพ.เกียรติภูมิกล่าว