ทำไม “โอมิครอน” ระบาดเร็ว แต่ป่วยหนักน้อยลง

ทำไม “โอมิครอน” ระบาดเร็ว แต่ป่วยหนักน้อยลง

สำหรับ โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่าง "โอมิครอน" แม้อาการอาจจะดูไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา แต่หลายฝ่ายก็ยังมีความกังวลเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่แพร่รวดเร็วแม้ในคนที่ฉีดวัคซีนแล้วก็สามารถติดได้

จากที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้ฉายภาพ 3 ฉากทัศน์ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้ถึงทางแยกอีกครั้ง เพราะมีการระบาดของ "โอมิครอน" เข้ามา โดยคาดการณ์ฉากทัศน์สถานการณ์ 3 แบบ คือ

 

แบบที่ 1 รุนแรงที่สุด (Least favourable) เป็นฉากทัศน์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น กรณีอัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดโอมิครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. แต่ประชาชนให้ความร่วมมือน้อย หรือไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มีการป้องกัน ไม่มีมาตรการอะไรมากจะเกิดการระบาดและควบคุมยาก ใช้เวลา 3-4 เดือนควบคุมโรคได้ มีผู้ติดเชื้อ 30,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 170-180 คนต่อวัน

 

แบบที่ 2 ปานกลาง (Possible) มีอัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโอมิครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ประชาชนให้ความร่วมมือ Universal Prevention (UP) สถานประกอบการ จัดกิจกรรมปฏิบัติตาม VUCA ดี จะมีผู้ติดเชื้อ 15,000-16,000 รายต่อวัน เสียชีวิตราว 100 รายต่อวัน

 

แบบที่ 3 ดีที่สุด (Most favourable) ซึ่งสธ.อยากให้เป็นไปตามฉากทัศน์นี้หรือดีกว่านี้ โดยมีอัตราการแพร่เชื้อของโอมิครอนไม่สูงมาก เนื่องจากยังควบคุมการระบาดในประเทศได้ช่วงเดือน ม.ค. 2565 เร่งฉีดวัคซีนในทุกกลุ่มได้สูงทั้งเข็ม 1,2 และเข็มบูสเตอร์ มากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์ และประชาชนให้ความร่วมมือ UP เต็มที่ ลดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก สถานประกอบการจัดกิจกรรมปฏิบัติตาม VUCA อย่างเคร่งครัด และผับบาร์เปิดและควบคุมได้ดีมาก มีผู้ติดเชื้อ 10,000 นิดๆต่อวัน และเสียชีวิต 60-70 คนต่อวัน ใช้เวลาควบคุมได้ใน 1-2 เดือน

วานนี้ (27 ธ.ค. 64) ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เพจ THE STANDARD โดยประเมินสถานการณ์ โควิด-19 ในขณะนี้หากตัดเรื่อง "โอมิครอน" ออกไป สถานการณ์โควิดในบ้านเราตอนนี้เรียกว่าดีขึ้น ในโรงพยาบาลผู้ป่วยที่มาด้วยอาการโควิด ป่วยหนักน้อยลง เตียงว่างเยอะ บุคลากรได้พักขึ้นเยอะ

 

ขณะเดียวกัน 3 ฉากทัศน์ ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประเมินสถานการณ์ไว้หลังปีใหม่ โดยที่แย่ที่สุด คือ อาจไปแตะ 3 หมื่นรายต่อวัน มองว่าก็อาจจะเป็นไปได้จริงๆ เราเห็นในยุโรปชัดเจน อังกฤษช่วงที่ระบาดต่อให้หนักมากๆ ตอนอัลฟ่าระบาด อย่างมากก็ 5-6 หมื่นราย แต่ตอนนี้ทะลุแสนไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นเกิดได้ ด้วยการแพร่กระจายของโอมิครอนที่เร็วมากๆ

 

เมื่อกลับไปดูที่ 2 ฉากทัศน์ที่เหลือคนก็ยังคงหวั่นใจ หากดูแค่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ อาจจะดูน่ากลัวเพราะเรามีภาพจากตอนเดลตาระบาด แต่ในสถานการณ์ ณ ตอนนี้ผ่านมา 5-6 เดือน ต่อให้ตัวเลขหลักหมื่นก็เชื่อว่าสถานการณ์ไม่น่าจะหนักหน่วงเท่าเมื่อกลางปี

 

  • โอมิครอน ระบาดเร็ว

 

ขณะที่ในต่างประเทศแม้จะฉีดวัคซีนเยอะ แต่ยังพบว่ามีการระบาดมากในขณะนี้ ปัจจัยหลักคือ คุณสมบัติของโอมิครอน ทำให้ตัวเลขออกมาเป็นแบบนี้เพราะกลายพันธุ์ไปเยอะ ไม่เหมือนโควิดเดิม ภูมิคุ้มกันที่อยู่เดิมอาจจะป้องกันไม่ดี คนที่ฉีดวัคซีนเยอะ แม้ป้องกันป่วยหนักได้ แต่ไม่ได้ป้องกันการป่วยและติดเชื้อ ระบาดเร็ว ทำให้ตัวเลขดูสูงจนน่าตกใจ

"โดยมาตรการแต่ละประเทศ หากดูหลักใหญ่จะคล้ายกันหมดคือ การระดมฉีดวัคซีนให้มากและเร็ว และฉีดกระตุ้นให้เร็วที่สุดในทุกประเทศ ส่วนที่เหลือแล้วแต่รายละเอียดขึ้นอยู่กับความหนักหน่วง เช่น เนเธอร์แลนด์ ที่เลือกล็อกดาวน์ ขณะที่อังกฤษ ที่ตัวเลขผู้ป่วยขึ้นหลักแสน การล็อกดาวน์อาจจะไม่ช่วยอะไรมาก ดังนั้นเขาจึงระดมฉีดวัคซีนดีกว่า แต่ในภาพรวม อาวุธสำคัญ คือ วัคซีน" 

 

  • ป่วยหนักน้อย อาจมาจากวัคซีน

 

ศ.นพ.มานพ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ของสหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ ในตอนนี้น่าจะบอกความรุนแรงของโอมิครอนได้พอสมควร แม้ว่าจะเป็นข้อมูลชุดแรกหลังจากระบาดมาไม่นานราว 3 สัปดาห์ โดยภาพรวมคือ คนติดโอมิครอน ป่วยน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เรารู้จักโอมิครอนแค่ประมาณ 1 เดือน ดังนั้น ยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ แต่ภาพรวมข้อมูลเบื้องต้นดูเหมือนจะป่วยหนักน้อยกว่า แต่ปัจจุบันเชื่อว่าปัจจัยหลักมาจากวัคซีนและภูมิคุ้มกันประชากรทำให้ความรุนแรงน้อยลงของตัวเชื้อ

 

“ข้อมูลที่พออนุมานได้ เช่น ข้อมูลการติดเชื้อโอมิครอนรอบนี้ พบว่าเด็กป่วยเข้า รพ. มากกว่าทุกระลอกที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่มีอัตราการฉีดวัคซีนน้อยมาก หรือบางทีก็ยังไม่ได้เลย เด็กที่ป่วยโอมิครอน รอบนี้มากกว่าอัลฟ่า เดลตา เป็นตัวยืนยันกลายๆ ว่าเชื้อไม่ได้เบากว่า อาจจะดุพอกัน แต่เนื่องจากผู้ใหญ่มีภูมิเยอะแล้ว เราติดไปหลายรอบบ้าง ในบางประเทศหรือบางคน ฉีดวัคซีนกันไปเยอะ ดังนั้นจึงช่วยลดทอนความรุนแรงลงไปเยอะ”

 

  • โอมิครอน กับ ไข้หวัดใหญ่

 

จากข้อคำถามที่ว่า โอมิครอน จะมาทำให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นเร็วขึ้นหรือไม่ ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า อาจจะแต่ข้อมูลยังไม่มากพอที่จะบอกอย่างนั้น เพราะโอมิครอนมีความผิดแปลกจากสายพันธุ์อื่นๆ ที่เจอมา เพราะฉะนั้นมีความเป็นไปได้ว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากโอมิครอน อาจจะไม่ได้ป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดิมๆ หรือ อื่นๆ ได้ดี การที่เราเคยมีภูมิกับโอมิครอน อาจจะไปติดเชื้ออื่นก็ได้

 

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องธรรมดา เราเจอเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว เช่น ไข้หวัดใหญ่ และเราก็เจอไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ จนต้องฉีดวัคซีน 4 สายพันธุ์ ดังนั้น โอมิครอน สงบ เดลตาอาจจะโผล่มาใหม่ก็ได้ พอเดลตาสงบ โอมิครอนก็โผล่มาอีกก็ได้ ในอนาคตอาจจะเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดวัคซีนทุกปี

 

“ก็ยังหวังว่าเราจะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนก่อนมีโควิด แต่ต้องใช้เวลา ที่ทำให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ได้รับวัคซีน เราเริ่มมีวัคซีนในเด็กที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ จนสุดท้าย หากเกือบทั้งหมด ของประชาชน ฉีดแล้ว มีภูมิ หรือบางส่วนกระตุ้นไปแล้วหลายรอบ ก็ทำให้ภูมิคุ้มกันเราดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อให้ติดเชื้ออาการก็จะน้อย”

 

  • ฉีด mRNA เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น

 

ศ.นพ.มานพ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการฉีดวัคซีน หลังจากเข็ม 3 ขึ้นไป เราเรียกว่าบูสเตอร์ทั้งหมด ไม่ว่าจะ เข็ม 3-4 คือกระตุ้นให้ภูมิสูงเพื่อรับมือเชื้อใหม่ได้ ผลการศึกษาที่ผลดีที่สุดคือ การกระตุ้นด้วย mRNA ดังนั้น mRNA จะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้ในการฉีดเข็มกระตุ้น ขณะเดียวกัน ก็ขึ้นอยู่กับวัคซีนที่มีด้วยว่ามี mRNA พอที่จะบูสเตอร์หรือไม่ในตอนนี้

 

โดยหลักการของบูสเตอร์ จุดประสงค์คือ กระตุ้นภูมิที่น้อยลงให้ดีขึ้น ไม่ว่าในอดีตจะเคยฉีด 2 เข็มแรกด้วยอะไรก็ตาม การกระตุ้นภูมิด้วย mRNA จะกระตุ้นภูมิได้สูง เราเห็นข้อมูลในยุโรป หรือ สหราชอาณาจักร ไม่ว่า 2 เข็มแรกจะเป็น แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์ การกระตุ้นภูมิเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ได้ทุกสูตร ไม่จำเป็นว่าสองเข็มแรกจะเป็นอะไร ขอให้เข็ม 3 เป็นวัคซีนที่กระตุ้นภูมิได้สูง

 

ขณะที่ระยะเวลาในการฉีดเข็ม 4 ตัวเลขไม่ตายตัว ขึ้นกับปัจจัยว่าฉีดเข็ม 3 ไปแล้ว ภูมิจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ถึงจะเริ่มลดลง และ ภูมินั้นพอที่จะป้องกันรับมือการระบาดได้หรือไม่ หากตอนนั้นไม่มีการระบาดของเชื้ออะไรเลย เราก็ยืดได้ ไม่จำเป็นต้องรีบฉีด เหมือนไข้หวัดใหญ่ ที่บางคนฉีด บางคนก็ไม่ฉีด แต่หากในสถานการณ์ตอนนี้ โอมิครอนระบาด เราต้องการภูมิคุ้มกันที่สูงพอ ดังนั้น ในหลักการตอนนี้ หากเกิน 3 เดือน ภูมิก็น่าจะตก การฉีดเข็มกระตุ้น น่าจะดี

 

  • ไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิ

 

สำหรับหลายคนที่สงสัยว่า ฉีดวัคซีนแล้วจำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันหรือไม่ ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า หากเพิ่งฉีดกระตุ้นมา โดยเฉพาะ mRNA ภูมิคุ้มกันเราจะสูงมาก และอยู่ได้อย่างน้อยก็ 2-3 เดือนแรกได้สบายมาก การฉีดเร็วไปก็ไม่ค่อยดี ฉีดใกล้เกินไปก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ หากตอนนี้เรามีภูมิคุ้มกันพอจะรับมือได้อยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม การตรวจภูมิก็ไม่จำเป็น เพราะไม่มีจุดตัดชัดเจนว่าแค่ไหนจะพอ และข้อมูลระยะเวลาที่เหมาะสม ในการฉีดเข็ม 3 คือ 3 เดือน ก็เกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากคนจำนวนมากพอสมควร จนรู้ว่าค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ 3 เดือนน่าจะพอ

 

ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิเพราะภูมิแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน หลักการคือ ภูมิสูงกว่าก็ดีกว่าจริง แต่สูงแค่ไหนถึงจะพอ ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ เดลตาก็ระดับหนึ่ง โอมิครอนมาก็อาจจะอีกระดับหนึ่ง แล็บต่างกัน ต่างยี่ห้อ หน่วยก็ไม่เท่ากัน เอามาเทียบกันไม่ได้ ดังนั้น ดีที่สุด ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ

 

  • เข็มกระตุ้น ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ?

 

ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ข้อมูลในตอนนี้ไม่ต่างกันเท่าไหร่ โมเดอร์นาอาจจะมีปริมาณวัคซีน mRNA มากกว่านิดหน่อย แต่การกระตุ้นภูมิ หากทั้งสองยี่ห้อกระตุ้นภูมิได้สูงก็สามารถป้องกันได้ทั้งคู่ เพราะฉะนั้น ในการฉีดไม่ว่าจะไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา สิ่งสำคัญ คือ ขอให้ฉีด

 

ขณะที่ผลข้างเคียงที่ผมร่วง ต้องเก็บข้อมูลและต้องอาศัยในการพิสูจน์พอสมควร การเกิดผมร่วงมีรายงานจริง ประมาณ 1-2 ราย เทียบกับหลักร้อยล้านโดส หรือ พันล้านโดส บางทีก็อาจจะพูดยากว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว หรือ จริงๆ แล้วมีความสัมพันธ์กับวัคซีนจริง ต้องอาศัยกระบวนการพิสูจน์ว่ามีโรคร่วมอื่นหรือไม่ที่ทำให้เกิดผมร่วง และเผอิญว่าเกิดในช่วงฉีดวัคซีนพอดี

 

  • ฉีดวัคซีน ใต้ผิวหนังดีหรือไม่

 

การฉีดวัคซีน mRNA ใต้ผิวหนัง ดูเหมือนว่าภูมิจะทัดเทียมกัน เพียงแต่ว่าสิ่งที่เรายังไม่รู้คือ ภูมิจะอยู่ได้นานกว่าฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือไม่ อาจจะขึ้นและลงเร็ว ต้องอาศัยการติดตามข้อมูล ฉีดในผิวหนัง เนื่องจากปริมาณวัคซีนน้อยกว่า ผลข้างเคียงจะน้อยกว่า

 

สำหรับวัคซีนในเด็กเล็ก อยู่ระหว่างการทดสอบเด็ก 6 เดือน ขึ้นไป ขณะที่วัคซีน mRNA สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ข้อมูลเบื้องต้นมีการฉีดในสหรัฐอเมริกา ข้อมูลจาก CDC รวบรวมจากเด็กที่ฉีดแล้ว 7 ล้านกว่าคน อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบ 15 ราย น้อยกว่าเด็กโตพอสมควร และขนาดของวัคซีนที่ใช้ในเด็กเล็กน้อยกว่า 10 ไมโครกรัม หรือ 1 ใน 3 ของการฉีดปกติ อาจจะทำให้ผลข้างเคียงน้อยกว่า

 

  • โอกาสที่โควิดจะอ่อนแรงลง

 

สำหรับอาการ โอมิครอน ที่กระทรวงสาธารณสุขวิเคราะห์ เช่น ไอ เจ็บคอ ตามด้วยปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จะเป็นลักษณะหนึ่งที่บ่งชี้ว่า หากมองภาพในอนาคต เมื่อโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น และคนส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันดี โรคนี้อาจจะมีอาการไม่ต่างจากไข้หวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่ อาการทั้งหมด 4 อย่างที่เจอก็เป็นอาการของคนที่ติดเชื้อทางเดินหายใจธรรมดา ดังนั้น หากมีภูมิดี ผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้ว อาการส่วนใหญ่ก็จะน้อยลงไม่ค่อยรุนแรง

 

"ตอนที่เรารู้จักโควิดในช่วงแรก เรารู้ว่าเชื้อตัวนี้ทำให้จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรส แต่พอกลายพันธุ์ และการที่เรามีภูมิคุ้มกันเยอะ ผ่านการฉีดวัคซีน คนที่ติดโอมิครอนรอบนี้ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ทำให้อาการเบาลงได้ แต่ยังบอกไม่ได้ว่า โอมิครอน มีลักษณะอาการพิเศษต่างจากโควิดตัวอื่นมากน้อยแค่ไหนถ้าคนไม่มีภูมิเลย"

 

ทั้งนี้ ในอนาคตโอกาสที่โควิดจะอ่อนตัวลงจนไม่ต้องฉีดวัคซีนนั้น ศ.นพ.มานพ อธิบายว่า ก็มีโอกาสเป็นไปได้ เราอยู่กับโควิดมา 2 ปี บทเรียนที่ได้คือ บางอย่างที่คิดว่าเป็นแบบนั้น แต่บางทีก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโควิดก็หักปากกาเซียนกรอบความรู้ในตำรามาเยอะ

 

หากมองพื้นฐาน เมื่อเชื้อแพร่ระบาดไปเรื่อยๆ และประชาชนมีภูมิจากวัคซีน ต่อให้ติดเชื้อในอนาคต เช่น ฉีดแล้ว 3-4 เข็ม แต่ติดเชื้อโอกาสที่จะป่วยหนักจะน้อยลงเยอะมาก สุดท้ายโรคก็จะเป็นโรคที่แม้ป่วยก็ไม่หนัก หากอีก 5 ปีข้างหน้า เรามองย้อนกลับมาอาจจะพบว่าโควิดก็ไม่ต่างจากไข้หวัดก็เป็นไปได้

 

  • ภาพรวมโควิด-19 ที่ผ่านมา

 

ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า หากดูภาพรวมโควิด-19 ในขณะนี้ อัตราเสียชีวิตโควิดโดยรวม 2-3% หากถามว่าเยอะหรือไม่ ต้องดูว่าเทียบกับอะไร เช่น ไข้หวัดใหญ่ อัตราการเสียชีวิต 0.01% ดังนั้น ต้องมองตัวเลขนี้ให้ดี หากมองว่า 2-3% เป็นตัวเลขน้อย คนส่วนใหญ่เป็นแล้วไม่เสียชีวิต แต่หากเทียบผู้ป่วยหลักล้านก็ถือว่าเยอะ เสียชีวิตกว่าหมื่นคน

 

"หากเปรียบเทียบกับโรคระบาดที่เกิดในยุคก่อนๆ ต้องเทียบตามสถานการณ์ ณ ตอนนั้น เพราะความรุนแรงของแต่ละโรคเกิดขึ้นจากหลายๆ เหตุผล เช่น หากเทียบกับไข้หวัดสเปน มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน แต่ในตอนนั้นการแพทย์และสาธารณสุขไม่ค่อยดี คนก็ไม่รู้วิธีในการป้องกัน ยาที่รักษาก็ไม่ค่อยมี วัคซีนยิ่งไม่มีใหญ่ อัตราตายจึงสูง"

 

"แม้แต่เชื้อไข้หวัดใหญ่ขณะนี้ที่เรามองว่าไม่รุนแรง หากย้อนกลับไปเมื่อก่อนก็รุนแรงมาก โควิดก็เช่นกัน คล้ายไข้หวัดใหญ่ ที่มีการระบาดหนักเมื่อหลายปีก่อน พอเวลาผ่านมา 2 ปี เราเห็นว่าด้วยผลจากวัคซีน และมาตรการต่างๆ ลดการแพร่เชื้อ การรักษาดีขึ้น อัตราตายลดลงเยอะ คาดว่าตัวเลขดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน" ศ.นพ.มานพ กล่าว

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์