เตือนกลุ่มเพิ่งฉีดวัคซีนmRNA ยังไม่ต้องเร่งกระตุ้น

เตือนกลุ่มเพิ่งฉีดวัคซีนmRNA ยังไม่ต้องเร่งกระตุ้น

ผู้แทนอนามัยโลกไทยชี้ โควิด-19ในไทยลดลงแต่ยังไม่สิ้นสุด ไวรัสยังอยู่กับเรา ย้ำควรฉีดวัคซีนก่อนปีใหม่ คร.ระบุกลุ่มวัคซีนmRNAที่เพิ่งฉีด ไม่ต้องเร่งกระตุ้น จะถูกภูมิในร่างกายปราบปรามหมด

       เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564  สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก จัดเสวนาออนไลน์ “เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ” ตอน เผยทุกข้อมูลเรื่องวัคซีนโควิด-19 “รับมืออย่างไรเมื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มาเยือน” Dr. Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า  ขณะได้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในยุโรป คิดเป็นประมาณ 60 %ของผู้ป่วยทั่วโลก ภาพรวมของประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อกำลังลดลง แต่ในทุกวันผู้คนจำนวนไม่น้อยยังคงป่วยด้วยโรคนี้ และยังคงเกิดขึ้นจากทุกมุมของประเทศ ไวรัสนี้ยังอยู่ทั่วทุกแห่ง ยังแพร่กระจายไปเรื่อยๆ และยังส่งผลกระทบต่อทุกคน สิ่งที่ควรคำนึงของประเทศไทยในขณะนี้ แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของวิกฤตนี้  ยังจำเป็นต้องระมัดระวังอยู่เสมอ

       “เมื่อมีไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งหากป้องกันตัวเองด้วยวิธีที่ทำมาตลอด คือ สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และทำให้อากาศในห้องถ่ายเท จะช่วยป้องกันจากโอมิครอน ขณะเดียวกันต้องทำให้ความครอบคลุมการฉีดวัคซีนสูงขึ้น  ขอให้ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งประเทศไทยมีวัคซีนมากเพียงพอ ฟรี ปลอดภัย และเข้าถึงได้ ไม่มีเหตุผลที่ใครจะไม่เข้ารับวัคซีน และหากเป็นไปได้ เข้ารับวัคซีนก่อนเทศกาลปีใหม่ เพราะโควิดยังอยู่กับเรา และโอมิครอนจะเข้ามาประเทศไทยสักวันหนึ่ง ซึ่งบอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่”  Dr. Jos Vandelaer กล่าว


   กลุ่มเพิ่งฉีดmRNAไม่ต้องเร่งกระตุ้น

        พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนเป็นมาตรการหนึ่ง แต่มาตรการทางสังคม การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างยังจำเป็น ประสิทธิผลวัคซีนโดยรวมทุกตัวที่อยู่ในโลกรวมถึงที่อยู่ในไทยซึ่งเรามีการศึกษาสามารถ ป้องกันการป่วยรุนแรงได้ถึง 90% แต่ไม่มีตัวไหนป้องกันติดเชื้อได้ 100% ซึ่งหลังฉีดวัคซีนไประยะหนึ่งภูมิคุ้มกันจะตก การไม่ให้ภูมิตกต้องฉีดกระตุ้น  โดยเฉพาะคนที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย จำเป็นต้องได้รับเข็มกระตุ้นได้ทั้งแอสตร้าเซเนกา หรือไฟเซอร์ ส่วนกลุ่มที่ได้แอสตร้าฯ 2 เข็มก็จะบูสต์ด้วยไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหลังฉีดไป 3 เดือนต้องมารับเข็มกระตุ้น 

    ส่วนคนที่ได้ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาไป 2 เข็ม ที่เพิ่งมีการฉีด ภูมิยังสูงอยู่ ยังไม่ควรฉีดกระตุ้นเพราะจะถูกภูมิในร่างกายปราบปราม ให้รอไปก่อน 6 เดือน  โดยจำนวนวัคซีนมีปริมาณค่อนข้างมาก มีหลายชนิด และมีสูตรการฉีด จึงต้องมีการบริหารจัดการ ขอให้ฟังจากประกาศของกระทรวงสาธารณสุขในการรับวัคซีนชนิดต่างๆ
          “ความจริงสิ่งสำคัญทุกท่านที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยแม้แต่เข็ม 1 ควรไปฉีด ควรจะรีบไป เพราะตอนได้เข็ม 1 จะยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ควรบอกว่าไม่มีหรือโควิดน้อยจะไม่ฉีด  ซึ่งการฉีดวัคซีนไม่ได้ไปทำอะไรในร่างกายมากไปกว่าการฝึกให้ร่างกายรู้จักเชื้อโรค ถ้าไม่เคยฝึกเลย ถ้าเชื้อเข้าก็จะมีปริมาณมากหรือสายพันธุ์รุนแรง ถ้าฝึกบ้าง ฉีด 2 เข็ม ถ้าเชื้อดุอย่างไร พอจะมีท่าที่จะป้องกันไว้ เพราะฉะนั้น ใครยังไม่ได้วัคซีนควรไปรับเป็นที่สุด”พญ.ปิยนิตย์กล่าว

สรุปสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในแอฟริกาใต้ 

            พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อมูลรายงานการระบาดโอมิครอนในแอฟริกาใต้ พบประสิทธิผลวัคซีนไฟเซอร์ 2 โดส ป้องกันการติดเชื้อเดลตาได้ 80% โอมิครอน 30% ป้องกันอาการรุนแรงและการป่วยที่ต้องเข้ารักษาในรพ.ต่อเชื้อเดลตาได้ 93% โอมิครอน 70% คนที่เคยติดเชื้อมาก่อนมีโอกาสติดซ้ำ เนื่องจากภูมิที่เกิดจากการติดเชื้อลดลง รัฐบาลแอฟริกามีการรณรงค์ให้ประชาชนรับวัคซีนอย่างครอบคลุม รวมถึงรับเข็มกระตุ้น ในส่วนขององค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย และกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น