สปสช. เผย กองทุน "บัตรทอง" ปี 64 ดูแลผู้ป่วยเอดส์ รับยาต้าน 2.89 แสนคน

สปสช. เผย กองทุน "บัตรทอง" ปี 64 ดูแลผู้ป่วยเอดส์ รับยาต้าน 2.89 แสนคน

สปสช. ร่วมรณรงค์ "วันเอดส์โลก" ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์ เผย "กองทุนบัตรทอง" ปี 2564 ดูแลผู้ติดเชื้อรับยาต้านไวรัสกว่า 2.89 แสนคน พบแนวโน้มดี ร้อยละ 81 ของผู้ติดเชื้อรับยาต้านไวรัส ปริมาณเชื้อไวรัสลดลง ในจำนวนนี้ร้อยละ 77 ตรวจไม่พบไวรัสในเลือด

วันนี้ (1 ธ.ค. 64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็น “วันเอดส์โลก” (World AIDS Day) โดยปี 2564 นี้ UNAIDS ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ “ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์” (End inequalities. End AIDS. End pandemics.) เพื่อมุ่งส่งเสริมให้คนในสังคมลดความเหลื่อมล้ำและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ติดเชื้อ

 

ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาเอดส์ในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573” โดยในปี 2548 ได้บรรจุสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ พร้อมจัดสรรงบประมาณรองรับ ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา ที่นำไปสู่การลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโรคเอดส์ลงได้

 

สปสช. เผย กองทุน \"บัตรทอง\" ปี 64 ดูแลผู้ป่วยเอดส์ รับยาต้าน 2.89 แสนคน

สำหรับงบประมาณในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและ ผู้ป่วยเอดส์ ปีงบประมาณ 2564 ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3,676.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 332 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2563 ที่ได้รับจำนวน 3,343.53 ล้านบาท

 

จากข้อมูลการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีผู้ป่วยเอดส์ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2564 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ที่ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวี และลงทะเบียนในระบบการให้บริการผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ (NAP) จำนวน 305,493 คน ในจำนวนนี้ได้รับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสจำนวน 289,116 คน คิดเป็นร้อยละ 94.63 

 

“อย่างไรก็ดีจากรายงานมีข้อมูลที่น่าสนใจ โดยพบว่าในผู้ติดเชื้อที่รับยาต้านไวรัสสามารถกดปริมาณไวรัสลงได้มีจำนวน 204,504 คน หรือร้อยละ 81 และในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อที่ตรวจไม่พบไวรัสในเลือด 194,611 คน หรือร้อยละ 77 ถือเป็นแนวโน้มที่ดีนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 17 ปี ของการดูแลผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวี กองทุนบัตรทองได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนครอบคลุมและเข้าถึงบริการที่จำเป็น ล่าสุดในปี 2564 ได้เพิ่มบริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มผู้มีภาวะเสี่ยงรวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี ช่วยให้ได้รับการรักษาด้วยยาสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์/เวลพาทาสเวียร์ (Sofosbuvir/Velpatasvir) ลดภาวะเสี่ยงสู่มะเร็งตับ และเพิ่มค่าบริการเพื่อส่งเสริมหน่วยบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้บริการฟอกไตกับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ช่วยอุดช่องว่างกรณีผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเพิ่มค่าบริการจนเป็นอุปสรรคเข้าถึงการรักษา 

 

ส่วนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ที่ได้รับการบรรจุและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 17 ปีมานั้น ได้แก่ บริการเชิงรุกเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ,บริการให้การปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อ เอชไอวี (Voluntary counseling and testing: VCT) ,บริการยาต้านไวรัสเอชไอวีเพื่อการรักษา และเพื่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีทั้งในกรณีก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อ (Pre - Post Exposure Prophylaxis : PrEP,PEP) กรณีการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก

 

ส่งผลให้ปี 2559 ประเทศไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นประเทศที่ 2 ของโลกในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ) ,บริการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการเพื่อการติดตามการรักษา เช่น การตรวจ CD4 ,Viral load ,Drug resistance รวมทั้งการสนับสนุนถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันและลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์ 

 


พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์