1 ธันวาคม "วันเอดส์โลก" UNAIDS ตั้งเป้ายุติโรคเอดส์ภายในปี 2573

1 ธันวาคม "วันเอดส์โลก" UNAIDS ตั้งเป้ายุติโรคเอดส์ภายในปี 2573

"วันเอดส์โลก" ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้มีธีมรณรงค์คือ END INEQUALITIES. END AIDS. END PANDEMICS. เรียกร้องให้ยุติความไม่เท่าเทียมกันทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย เพื่อยุติโรคเอดส์และโรคระบาดอื่นๆ ทั่วโลก

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันเอดส์โลก" (World AIDS Day) โดยหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องนี้อย่าง UNAIDS (Joint United Nations Programme on HIV/AIDS) ได้เปิดเผยคำขวัญของ "วันเอดส์โลก 2564" ไว้ว่า END INEQUALITIES. END AIDS. END PANDEMICS. เพื่อเรียกร้องให้ทั่วโลก "ยุติความไม่เท่าเทียมกัน ยุติโรคเอดส์ และยุติโรคระบาด" 

UNAIDS ต้องการสร้างความตระหนักให้คนทั่วโลกเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการยุติความไม่เท่าเทียมกันของหลายประเทศ ที่ส่งผลให้โรคเอดส์และโรคระบาดอื่นๆ ทั่วโลกยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและอาจยืดเยื้อยาวนาน 

หากทุกประเทศไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันอย่างจริงจริง โลกก็อาจจะไม่สามารถยุติโรคเอดส์ภายในปี 2573 ได้อย่างที่เคยตั้งเป้าเอาไว้ รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ และจะเกิดวิกฤติทางสังคมและเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นใหญ่ของทุกประเทศทั่วโลก ที่ต้องหารือและร่วมมือกันเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ให้หมดไปให้ได้ ส่วนใครที่ยังไม่รู้ว่า "วันเอดส์โลก" มีความสำคัญอย่างไร? และต้นกำเนิดของวันนี้มาจากไหน? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปหาคำตอบพร้อมกัน 

 

 

  • "วันเอดส์โลก" เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันเอดส์โลก" เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ที่เกิดจากการแพร่กระจายของการติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงเป็นวันสากลสำหรับการไว้ทุกข์ให้กับผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ด้วย

โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) เป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus) ที่เข้าโจมตีระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและลดความต้านทานต่อโรคอื่นๆ จึงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายและทำให้เสียชีวิตในที่สุด

 

  • โรคเอดส์เคยระบาดหนัก เสียชีวิตกว่า 41 ล้านคนทั่วโลก

ในช่วงปี 2560 มีรายงานว่าโรคเอดส์ระบาดหนัก จนมีผู้เสียชีวิตราวๆ 28,900,000 - 41,500,000 คนทั่วโลก และประมาณ 36,700,000 คนมีชีวิตอยู่ร่วมกับเอชไอวี ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญมากที่สุดในโลกประเด็นหนึ่ง ที่เคยถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ 

ต่อมาเมื่อวิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีสามารถเข้าถึงการรักษาด้วย "ยาต้านไวรัส" ที่ดีขึ้น ในหลายภูมิภาคของโลก ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ลดลง

 

  • ปี 2524 พบโรคเอดส์ครั้งแรกในโลก

โรคเอดส์พบครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยเป็นชายรักร่วมเพศ ป่วยเป็นปอดบวมจากเชื้อนิวโมซีสตีส แครินิอาย (Pneumocystis Carinii) ทั้งที่เป็นคนแข็งแรงมากมาก่อน และไม่เคยใช้ยากดภูมิต้านทาน

ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่าเซลล์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ จากการศึกษาย้อนหลัง พบว่าโรคนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศแถบอัฟริกาตะวันตกในปี พ.ศ. 2503 และต่อมาได้แพร่ไปยังเกาะไฮติ ทวีปอเมริกา ยุโรปและเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย

 

 

  • เช็คสถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย

มีข้อมูลจาก "กรมควบคุมโรค" ระบุว่า ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญกับปัญหาการระบาดของโรคเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปี 2564 พบว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ จำนวน 493,859 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 5,825 คน (เฉลี่ย 16 คน/วัน) และมีผู้เสียชีวิตจากเอชไอวีจำนวน 11,214 ราย/ปี (เฉลี่ย 31 ราย/วัน)

ดังนั้น ในการยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS) ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่น ด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560 - 2573 โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการคือ

1. ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 คน

2. ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย

3. ลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะลง ร้อยละ 90 

 

  • ผลสำรวจชี้ คนไทยยังมีอคติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี

จากการสำรวจทัศนคติที่มีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี (The Multiple Indicator Cluster Survey: MICS) ปี 2562 พบว่า คนไทยยังมีทัศนคติที่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี สูงถึงร้อยละ 27.7 ผู้ติดเชื้อเคยถูกเลือกปฏิบัติระหว่างรับบริการสุขภาพ ร้อยละ 11.1 และผู้ให้บริการที่เลือกปฏิบัติต่อผู้มีเชื้อเอชไอวีมีมากถึงร้อยละ 23.3

ดังนั้น เพื่อมุ่งสู่การยุติความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การยุติปัญหาโรคเอดส์ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เอดส์โลก ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีการส่งเสริมการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยความสมัครใจ ได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาอย่างเท่าเทียม ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังผลักดันให้มีการใช้ชุดตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV Self Test) เพื่อความสะดวกและเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่จะเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ เพื่อให้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเองได้รวดเร็ว นำไปสู่การรักษาที่รวดเร็วตามไปด้วย

--------------------------------------

อ้างอิง : unaids.orgWorld_AIDS_Day, กองโรคเอดส์ฯ กรมควบคุมโรค