ศบค. เผยผู้เดินทางจาก "แอฟริกาใต้" เข้าไทย 1,007 ราย ยังไม่พบติดเชื้อ

ศบค. เผยผู้เดินทางจาก "แอฟริกาใต้" เข้าไทย 1,007 ราย ยังไม่พบติดเชื้อ

ศบค. เผยนักท่องเที่ยว "แอฟริกาใต้" เข้าไทยขณะนี้มีจำนวน 1,007 ราย ตรวจยังไม่พบเชื้อ สธ.ปรับมาตรการห้าม 8 ประเทศ เข้าไทยแบบไม่กักตัว โดยสามารถเข้ามาในเงื่อนไขแซนด์บ็อกซ์ หรือ กักตัว เท่านั้น

วันนี้ (29 พ.ย. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวถึง สถานการณ์การติดตามโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” โดยระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศชัดเจนว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีความน่ากังวล ทำให้ สธ. ปรับมาตรการเร่งด่วน และสัปดาห์นี้ยังเป็นสัปดาห์รณรงค์การฉีดวัคซีนอีกด้วย ทั้งนี้ การติดเชื้อในต่างประเทศ ทั่วโลก หลายประเทศขยับขึ้นสูง เช่น สหราชอาณาจักร ตรุกี เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ประเทศเหล่านี้มีประชากรฉีดวัคซีนครอบคลุมค่อนข้างสูง ซึ่งก่อนหน้านี้ หลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการ ให้ประชาชนเลิกสวมหน้ากากอนามัย และร้านเปิดอิสระ ตอนนี้หลายประเทศ กลับมาคุมเข้มมาตรการทำให้เกิดการประท้วงหลายพื้นที่

 

ด้านเอเชีย มาเลเซีย มีตัวเลขลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศน่าจับตา คือ เวียดนามติดเชื้อราว 12,000 ราย และลาว ที่มีตัวเลขเกินพันมาสองสัปดาห์ ประเทศอื่นๆ ยังทรงๆ

 

ศบค. เผยผู้เดินทางจาก "แอฟริกาใต้" เข้าไทย 1,007 ราย ยังไม่พบติดเชื้อ

 

  • โอไมครอน โผล่เดนมาร์ก

 

สำหรับเชื้อกลายพันธุ์ โอไมครอน ล่าสุด หลังจากทวีปแอฟริกา ที่มีรายงานการพบเชื้อยืนยัน หลายประเทศในยุโรปตอนนี้มีรายงานแล้ว ทั้งอิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เบลเยี่ยม สาธารณรัฐเช็ก และล่าสุด คือ "เดนมาร์ก" กลุ่มนี้เป็นการพบเชื้อจากประชาชนที่เดินทางมาจากแอฟริกา ขณะที่เอเชีย พบที่ ฮ่องกง และ อิสราเอล ตามข่าวที่สุดสัปดาห์พบว่า อิสราเอล ประกาศปิดประเทศ ด้านออสเตรเลีย มีรายงานยืนยัน โอไมครอนแล้วเช่นกัน

 

  • สธ. "ปรับมาตรการ" เข้าประเทศ

 

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไป ว่าจากการแพร่ระบาดในวงกว้างทั่วโลก สธ. โดยที่ประชุม EOC มีการประชุมวาระเร่งด่วนวานนี้ (28 พ.ย. 64) ในการปรับมาตรการควบคุมโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรให้สอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อิหร่าน บราซิล สิงคโปร์ ซึ่งมีการปรับมาตรการก่อนหน้านี้

โดยในรายละเอียด สืบเนื่องจาก WHO มีความเป็นห่วง สายพันธุ์กลายพันธุ์ โอไมครอน ซึ่งมีรายงานว่าแพร่กระจายเร็วกว่าเดลต้า แม้จะไม่มีการรายงานความรุนแรง แต่ WHO ย้ำว่าในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ถือเป็นความเสี่ยงน่าเป็นห่วง และปัจจัยสำคัญในการเกิดเชื้อกลายพันธุ์ มักเกิดในประเทศที่ประชากรได้รับวัคซีนค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ในประเทศไทย สธ. ย้ำว่าหากไม่รีบรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีให้ครอบคลุม ประชากรได้มากที่สุด เราอาจจะเป็นที่หนึ่งที่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อได้

 

  • ผู้เดินทางจาก แอฟริกาใต้ เข้าไทย ยังไม่พบติดเชื้อ

 

สำหรับตัวเลขผู้ที่เดินทางเข้าไทยจากแอฟริกาใต้ ณ วันที่ 1 – 27 พ.ย. 64 จากหลายประเทศ สะสม 1,007 ราย และทั้งหมด มีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ เป็นการตอกย้ำว่ามาตรการสาธารณสุขของไทย ในการคัดกรอง ทางเข้าประเทศไม่ว่าจะใครก็ตามที่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ก่อนบินมาไทย 72 ชั่วโมง เมื่อมาถึงแล้วยังต้องมีการตรวจ RT-PCR ซ้ำ และ ATK ซ้ำอีก

 

ศบค. เผยผู้เดินทางจาก "แอฟริกาใต้" เข้าไทย 1,007 ราย ยังไม่พบติดเชื้อ

 

"ต้องเน้นย้ำว่า การที่ยังคงมาตรการเหล่านี้ไว้ ถือเป็นการคัดกรอง ตรวจจับเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ หลายครั้งที่ประชาชน สถานประกอบการ ตั้งคำถามว่าทำไมยังต้องเข้มงวด นี่คือคำตอบว่าการที่คัดกรองได้เร็ว มีการกักตัว นำผู้ป่วยไปรักษาและไม่ทำให้เกิดการแพร่กระจายชุมชน" พญ. อภิสมัย กล่าว 

  • ห้ามเข้าไทยในเงื่อนไข Test & Go

 

สำหรับการ "ปรับมาตรการ" ผู้ที่เดินทางเข้าราชอาณาจักร จากทวีป แอฟริกา เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 64 แบ่งประเทศแอฟริกาเป็น 2 กลุ่ม คือ

 

กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีรายงานเชื้อชัดเจน คือ บอตสวานา เอสวาตีนี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย  ซิมบับเว และ เซาท์แอฟริกา หากกลุ่มนี้ประชาชนที่พำนักใน 8 ประเทศเกิน 21 วัน เงื่อนไข คือเข้ามาในประเภท Test & Go ไม่ได้ จะเข้ามาได้ในกรณี แซนด์บ็อกซ์ หรือ กักตัว เท่านั้น

 

และหลังจาก 27 พ.ย. เป็นต้นไป มีประกาศชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้ประชาชน 8 ประเทศลงทะเบียนขอเข้าราชอาณาจักรไทย แต่จะยังมีกลุ่มที่ลงทะเบียนล่วงหน้าต้องกักตัว 14 วัน ตรวจ RT-PCR 3 ครั้ง คือ วันที่เดินทางมาถึง และตรวจซ้ำ ในวันที่ 5 หรือ 6 และครั้งที่สาม วันที่ออกจากการกักตัว 12-13 และประกาศเพิ่ม ในกลุ่ม 8 ประเทศนี้ หลัง 1 ธ.ค. ห้ามไม่ให้มีการเดินทางเข้าประเทศไทย ยกเว้นคนไทย

 

กลุ่มที่ 2 ประชาชนที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกานอกเหนือจาก 8 ประเทศ ที่มีการรายงานพบเชื้อ เงื่อนไขแตกต่างกันเล็กน้อย คือ เข้าประเทศไทยได้ในเงื่อนไขแซนด์บ็อกซ์ หรือ กักตัวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่ 27 พ.ย. เป็นต้นไป หากมีการลงทะเบียนก่อนหน้านี้ จะต้องกักตัว 14 วัน ตรวจ RT-PCR 3 ครั้ง เช่นเดียวกับกลุ่มแรก

 

ศบค. เผยผู้เดินทางจาก "แอฟริกาใต้" เข้าไทย 1,007 ราย ยังไม่พบติดเชื้อ

 

  • กลุ่มเดินทางเข้าไทยก่อนหน้านี้ 

 

กรณีที่เดินทางมาไทยก่อนหน้านี้ จะมีจำนวนหนึ่งที่เข้ามาตั้งแต่ 15 พ.ย. จนถึง 5 ธ.ค. ขอให้เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานโรคติดต่อเฝ้าระวัง ติดตามอาการเหล่านี้ให้ครบ 14 วัน ซึ่งในปัจจุบัน มีการประสานทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศและสาธารณสุข พบว่ามีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ราวเกือบ 200 ราย และสามารถติดตามได้ทั้งหมด ขอความร่วมมือติดตามให้ครบ 14 วัน โดยประชาชนกลุ่มที่เดินทางเข้าไทย 6 ธ.ค. เป็นต้นไป ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน ตามกำหนดไว้ครั้งแรก

 

  • ยังคงตรวจ RT-PCR ผู้เดินทางเข้าไทย

 

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ มีการพูดถึงประเด็นนักท่องเที่ยว Test & Go ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ได้ทบทวนการประเมินนักท่องเที่ยวเมื่อเดินทางมาถึงไทย มีการประกาศในวันที่ 16 ธ.ค. 64 จะมีการตรวจ ATK ที่ประชุม สธ. ด้วยเหตุผลที่การประเมินสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงตลอด ขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยังคง RT-PCR จนถึง 16 ธ.ค. แต่จะเปลี่ยนเป็น ATK หรือไม่ต้องติดตาม 

 

  • นทท. เข้าไทยแล้ว 122,398 ราย

 

สำหรับ รายงานผู้ที่เดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ หัวหิน ภูเก็ต สมุย 1-28 พ.ย. 64 รวมทั้งสิ้น 122,398 ราย พบติดเชื้อ 160 ราย สัดส่วน 0.13% ต้องเน้นย้ำว่า ระบบคัดกรอง มีการเช็กเอกสารมากมาย ที่อาจจะยุ่งยากแต่จำเป็นนอกจากทำให้ประชาชนไทยปลอดภัย นักท่องเที่ยวที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ แต่เมื่อตรวจพบจะได้รับการดูแลอย่างมาตรฐานไทยด้วย

 

ศบค. เผยผู้เดินทางจาก "แอฟริกาใต้" เข้าไทย 1,007 ราย ยังไม่พบติดเชื้อ

 

ในส่วนของการดูแลนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมาแล้ว ที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก มีการประชุมร่วมกับ 5 จังหวัด นำร่องท่องเที่ยว กทม. ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต ร่วมประชุม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการรายงาน พบว่า หลายโรงแรงมีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่ทราบมาตรการป้องกันโควิดประเทศไทย ที่ต้องมีมาตรการดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อให้ตัวเขาไม่ติดเชื้อและหากติดเชื้อจะไม่ทำให้ชุมชนไทยมีความเสี่ยงโดยไม่มีการแพร่เชื้อ บางส่วนทางโรงแรมชี้แจง พยายามช่วยเหลือ ขณะที่เช็กอิน เอาหน้ากากอนามัยให้เขาไปด้วย

 

"นับเป็นตัวแทนประเทศไทย ต้องขอขอบคุณที่คงไว้ซึ่งมาตรการสาธารณสุขที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ขอความร่วมมือเน้นย้ำไปทางหน่วยงานราชการทีเกี่ยวข้อง สถานประกอบการ ร้านอาหาร ร้านให้บริการต่างๆ หากพบเห็นช่วยแนะนำนักท่องเที่ยวเหล่านี้ ขอความร่วมมือเน้นย้ำไปที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สถานฑูตไทยในประเทศต้นทาง ในการให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยว" พญ.อภิสมัย กล่าว