โควิด-19 "โอไมครอน" น่ากังวลขั้นสุด ทำความรู้จักเชื้อกลายพันธุ์ชนิดที่5

โควิด-19 "โอไมครอน" น่ากังวลขั้นสุด ทำความรู้จักเชื้อกลายพันธุ์ชนิดที่5

ทำความรู้จักโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" เชื้อแพร่เร็ว รุนแรง อาจดื้อวัคซีน กำลังระบาดอย่างรุนแรงในประเทศแอฟริกาใต้และพบในประเทศอื่นๆ ขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกเตรียมพร้อม เฝ้าระวัง รับมือการระบาดประเทศของตนเอง

อย่างที่ทราบกันดีว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ซึ่งหลังจากที่ นาย โจ ฟาห์ลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ ประกาศเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2564 ที่ผ่านมาว่าค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ชนิดกลายพันธุ์แบบใหม่  B.1.1.529 กำลังระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศแอฟริกาใต้ แต่ยังไม่ทราบว่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่ใด

  • “โอไมครอน” โควิดกลายพันธุ์ชนิดที่5

ทั้งนี้ นอกจากแอฟริกาใต้แล้ว ไวรัสชนิดกลายพันธุ์แบบใหม่นี้ยังพบในประเทศบอตสวานา ที่มีพรมแดนติดกัน และในนักท่องเที่ยวคนหนึ่งที่เดินทางจากแอฟริกใต้ไปยังฮ่องกงอีกด้วย

ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งชื่อให้เชื้อกลายพันธุ์นี้เป็นที่เรียบร้อย โดยออกแถลงการณ์ เมื่อวานนี้ว่า เชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ตัวล่าสุด B.1.1.529 ถือเป็น "สายพันธุ์น่าวิตกกังวล" (VOC) ใช้ชื่อเรียกจากภาษากรีกว่า "โอไมครอน" (Omicron) โดยถือเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล หลังจากสายพันธุ์อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้เหตุผลที่กำหนดให้ โควิดสายพันธุ์ ​B.1.1.529 หรือ โอไมครอน เป็นโควิดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) ว่าเป็นเพราะมีจำนวนการกลายพันธุ์ที่สูงมากจนน่าวิตก และจากหลักฐานเบื้องต้น พบความเสี่ยงที่อัตราการติดเชื้อจากสายพันธุ์นี้จะสูงขึ้น มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

  • จุดเริ่มต้นของสายพันธุ์โอไมครอน

ประกาศของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ได้รับรายงานถึง สายพันธุ์ ​B.1.1.529 หรือ โอไมครอน Omicron ครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่ามากผิดปกติอย่างยิ่ง โดยพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่มีจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในภายระยะเวลาเดียวกันที่ตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอน ตัวอย่างเชื้ออันแรกที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์นี้ มีการเก็บมาตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.

โควิดสายพันธุ์ ​B.1.1.529 หรือ โอไมครอน Omicron ระบาดแล้วในประเทศ

  • แอฟริกาใต้
  • บอตสวานา
  • เบลเยียม
  • ฮ่องกง
  • อิสราเอล

อย่างไรก็ดี WHO ระบุว่า ต้องใช้เวลาอีก 2-3 สัปดาห์ จนกว่าจะทราบถึงผลกระทบของโควิดสายพันธุ์นี้

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้ ตรวจพบการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ ซึ่งมีการกลายพันธุ์อย่างรุนแรงในยีนหลายสิบตำแหน่ง ทำให้หวั่นเกรงกันว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้อาจแพร่ระบาดได้ง่าย และเป็นอันตรายยิ่งกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ทั่วโลกเคยพบมา

ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ดังกล่าวมีชื่อว่า B.1.1.529 ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะตั้งชื่อเรียกให้ตามลำดับตัวอักษรกรีกว่า โอไมครอน

เจ้าหน้าที่พบการระบาดในเคาเต็ง (Gauteng) แอฟริกาใต้เป็นหลัก โดยมีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 77 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อในประเทศบอตสวานาอีก 4 ราย รวมทั้งพบกรณีที่ผู้ติดเชื้อเดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังฮ่องกงด้วยเที่ยวบินตรงอีก 1 ราย

 

  • กลายพันธุ์น่ากังวล แพร่ง่าย อันตรายสูง

ศ.ทูลิโอ เด โอลิเวรา ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการรับมือโรคระบาดของแอฟริกาใต้ ระบุว่า ไวรัสโควิดชนิดใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ของยีนรวมทั้งสิ้นถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าผิดปกติอย่างยิ่งและทำให้มันมีความแตกต่างจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์อื่น ๆ ที่เคยพบมาเป็นอย่างมาก

การกลายพันธุ์แบบเหนือความคาดหมายนี้ จัดเป็นการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสถึงกว่า 30 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนดังกล่าวมีความสำคัญยิ่ง ในการเป็นกุญแจที่ไวรัสใช้ไขประตูเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์

นอกจากนี้ยังพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่งด้วย ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่ร้ายแรงอย่างสายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุอีกว่า การกลายพันธุ์อย่างรุนแรงในลักษณะนี้ น่าจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในผู้ป่วยเพียงรายเดียว โดยร่างกายของผู้ป่วยที่เป็นต้นตอของการกลายพันธุ์ดังกล่าว ไม่สามารถต่อสู้ต้านทานกับเชื้อโรคได้ การที่เชื้อไวรัส B.1.1.529 มีการเปลี่ยนแปลงจนแตกต่างไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งมีต้นกำเนิดที่นครอู่ฮั่นของจีน ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า วัคซีนโควิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ และหากมีการแพร่ระบาดลามออกไปเป็นวงกว้าง ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์โควิดในหลายประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับการระบาดระลอก 4 เลวร้ายยิ่งขึ้น

  • ทั่วโลกเตรียมพร้อมรับมือ “โอไมครอน”

ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ได้ในหลายๆ ประเทศ อาทิ รัฐบาลฮ่องกง พบนักท่องเที่ยวรายหนึ่งที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 ส่วนอีกรายเป็นนักท่องเที่ยวที่กักตัวอยู่ในโรงแรม คาดว่าพักอยู่ห้องตรงข้ามกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ติดเชื้อรายที่ 2 อาจติดเชื้อจากผู้ป่วยรายแรกจากอากาศที่หมุนเวียนระหว่างห้องพัก

ขณะที่ อังกฤษ นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคมแห่งสหราชอาณาจักร ประกาศขึ้น บัญชีแดงโควิด 6 ประเทศทวีปแอฟริกา คือ

แอฟริกาใต้

นามิเบีย

เลโซโท

บอตสวานา

เอสวาทินี (Eswatini)

ซิมบาบเว

ส่วนนิวซีแลนด์ นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า พร้อมรับมือโดยนิวซีแลนด์มีแผนรับมือกับสายพันธุ์ในอนาคตอยู่แล้วและจะยังคงเข้มงวดและรักษาระดับการป้องกันรวมถึงข้อกำหนดเรื่องพรมแดนไว้ตามเดิม โดยนิวซีแลนด์สั่งปิดพรมแดนมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว

เช่นเดียวกับออสเตรเลีย นายเกร็ก ฮันท์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลีย ระบุว่า ทันทีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จำแนกสายพันธุ์นี้ว่าเป็นสายพันธุ์หลัก และหน่วยงานทางการแพทย์แนะนำให้เปลี่ยนมาตรการก็จะดำเนินการทันที เช่น การปิดกั้นพรมแดน หรือการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ

อ้างอิง:บีบีซีไทย,Dailymail , theguardian