โควิด-19 กระทบเด็กยากจนเสี่ยง "หลุดนอกระบบ" การศึกษา

โควิด-19 กระทบเด็กยากจนเสี่ยง "หลุดนอกระบบ" การศึกษา

หนึ่งในหมุดหมาย "การพัฒนาประเทศ" ของไทยยุค COVID-19 คือการรักษาเด็กเยาวชนทุกคนให้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ และมีโอกาสที่เสมอภาค ขณะเดียวกัน "ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" ยังเป็นปัญหาที่ซับซ้อน วิกฤติโควิด ทำให้เด็กยากจนเสี่ยง "หลุดนอกระบบ" การศึกษากว่า 1.9 ล้านคน

"โควิด-19" ทำให้สถานการณ์การ "หลุดนอกระบบ" การศึกษามีแนวโน้มวิกฤติขึ้น เด็กนักเรียนกว่า 43,000 คนได้หลุดออกจากระบบการศึกษา และหากประมาณการจากข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ จะมีเด็กๆ ถึง 1.9 ล้านคนที่กำลังเผชิญความเสี่ยงเดียวกัน ทั้งที่เด็กไทยมีศักยภาพสูง

 

“ดร.ไกรยส ภัทราวาท” รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในงาน แถลงข่าวเปิดตัว ‘โครงการ TCP ปลุกความรู้สู่โอกาส’ผ่านระบบ Zoom ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ครัวเรือน ความยากจนของเด็กถดถอยลง จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของเด็กกว่าล้านคนทั้งประเทศ ถึงสถานการณ์ครัวเรือน พบว่าตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนลดลงจาก 1,159 บาท เหลือ 1,077 บาทในภาคเรียนที่ 1/2563

 

การว่างงาน ของคนในครอบครัว มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมาชิกครอบครัวต้องย้ายกลับภูมิลำเนา สาเหตุนี้ทำให้เห็นว่า จำนวนเด็กยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นปีละกว่าแสนคน และแตะ 1.3 ล้านคนในเทอมที่ 1/2564

 

เด็ก 4.3 หมื่นคน ยังไม่กลับเข้า "ระบบการศึกษา"

 

ทั้งนี้ ภาพรวมเด็ก 9 ล้านคน ในช่วงชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีเด็กกลุ่มเสี่ยงกว่า 1.9 ล้านคน ซึ่งเป็นเด็กยากจน และยากจนพิเศษ ที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มีการสำรวจช่วงรอยต่อระหว่างปีการศึกษา 2563 ก่อนการระบาดของเดลต้า และปี 2564 หลังการระบาดของเดลต้า มีนักเรียนในสังกัด สพฐ. อปท. และ ตชด. มากกว่า 43,000 คนยังไม่กลับเข้าระบบการศึกษา

โดยส่วนใหญ่เด็ก ม.3 ตอบแบบสอบถาม พบว่าเขาจำเป็นต้องย้ายโรงเรียนไปไกลมากขึ้น เพราะในประเทศไทยโรงเรียนที่สอน ม.ปลาย หรือ ปวช. มีเฉพาะในตัวจังหวัด หรือในตัวอำเภอ ทำให้เขามีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เสื้อผ้าอุปกรณ์การเรียนต้องเปลี่ยนใหม่ ค่าสมัครก็มีด้วยในบางกรณี ทำให้ต้องออกจากระบบการศึกษา

 

"นี่คือ สิ่งสำคัญของความเสียหายของเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว เพราะหากเอาข้อมูลที่มีไปเชื่อมกับระบบ TCAS ที่ผ่านมา จะพบว่าในแต่ละปีเด็กนักเรียนยากจน และยากจนพิเศษ จำนวน 1 หมื่นกว่าคน หรือร้อยละ 10-12 สามารถฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลาย ไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย คณะที่เป็นคณะที่แข่งขันสูง เด็กช้างเผือกเหล่านี้ แม้จะเป็นสิ่งที่น่ายินดีว่ามีอยู่ 10-12% ที่ไปถึงฝั่งฝัน แต่ยังมีอีกกว่า 90% ที่ตกหล่นระหว่าง ม.3 - ม.6" ดร.ไกรยส กล่าว 

 

  • ลด "ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" สู่ "การพัฒนาประเทศ"

 

ล่าสุด กลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมลด "ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" ในสังคมไทยอย่างยั่งยืน ผนึกกำลังพันธมิตรทางการศึกษาที่หลากหลาย เปิดตัวโครงการ “TCP ปลุกความรู้สู่โอกาส” มีระยะเวลา 5 ปี มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยทำงานกับทั้งครู และนักเรียนผ่านทางการร่วมมือกับพันธมิตรทางการศึกษาที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์การศึกษาแห่งอนาคต สร้างเครื่องมือทางการเรียน การสอนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถสร้างสรรค์กระบวนการเรียนการสอนที่มีความหมาย และมีความสุข รวมถึงสร้างโอกาสให้นักเรียนที่ขาดแคลน

“สราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง กลุ่มธุรกิจ TCP จึงริเริ่มโครงการระยะยาว 5 ปี ‘TCP ปลุกความรู้สู่โอกาส’ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งโครงการดังกล่าวดำเนินงานตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร ที่ประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ Integrity, Quality และ Harmony โครงการ ‘TCP ปลุกความรู้สู่โอกาส’ สอดคล้องกับเสาหลักด้าน Harmony ที่มุ่งสร้างชุมชนยั่งยืนผ่านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น

 

ปัจจุบันมีพันธมิตรเริ่มต้นใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการดูแลพัฒนาศักยภาพครู ‘โรงเรียนปล่อยแสง’ ที่ร่วมมือกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ โครงการ ‘ทุนสานฝันการศึกษาเพื่อน้อง’ ที่ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สนับสนุนการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ผ่านการมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนช่วงชั้นรอยต่อเพื่อไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ TCP ผนึกกำลังกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เร่งให้ความช่วยเหลือดูแลสุขภาพและการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านโครงการกลไกอาสาสมัคร

 

  • สานฝันการศึกษา

 

สำหรับ โครงการ “ทุนสานฝันการศึกษาเพื่อน้อง” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับกลุ่มธุรกิจ TCP จะช่วยสร้างหลักประกันทางการศึกษาเพื่อไม่ให้มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาไทยเพิ่มขึ้น พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ กลับมามีความฝันในชีวิตอีกครั้ง

 

ซึ่งจะมอบทุนตลอดหนึ่งปีการศึกษา ให้กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงประกาศนียบัตรวิชาชีพปี 1 จำนวน 400 คน ในกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ โดยโครงการฯ ยังมีการใช้ฐานข้อมูลเพื่อระบุเด็กกลุ่มเสี่ยง และมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตั้งแต่แรกเริ่ม

 

  • โรงเรียนปล่อยแสง พัฒนาครู

 

“รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี” คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการโรงเรียนปล่อยแสง มุ่งเน้นการทำงานกับครู เพราะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนและจะส่งผลต่อผู้เรียนอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมกำลังคน รวมถึงการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนภายใต้แนวคิดการศึกษาฐานสมรรถนะ

 

"ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน สอดคล้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับชุมชนและสังคม โดยจะเริ่มจาก 12 โรงเรียนนำร่อง ซึ่งครูที่ผ่านกระบวนการนี้จะสามารถสร้างสรรค์การเรียนรู้แบบใหม่ และจะช่วยวางรากฐานของการศึกษาที่มีความหมายและมีความสุขต่อไป"

 

  • กรอบพัฒนาการศึกษา 3 ด้าน

 

ทั้งนี้ ‘โครงการ TCP ปลุกความรู้สู่โอกาส’ วางกรอบการพัฒนาด้านการศึกษาไว้ 3 ด้าน เพื่อพิจารณารับพันธมิตร คือ

 

1. ส่งเสริมวิชาการและความรู้แกนกลางในห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม

 

2. ส่งเสริมสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตด้วยกระบวนการเรียนรู้ทั้งใน และนอกห้องเรียน รวมถึงพัฒนาศักยภาพให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปต่อยอดเป็นอาชีพจริงได้ในอนาคต

 

3. สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงทั้ง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียน บ้าน และชุมชน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพ และการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตน

 

ทั้งนี้ โครงการวางเป้าหมายตลอดระยะ 5 ปีของโครงการ โดยจะมีครูที่ได้รับการเพิ่มทักษะรวม 500 คน มีนักเรียนที่เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพรวม 100,000 คน โรงเรียนที่ได้รับประโยชน์ 100 แห่ง และสร้างการมีส่วนร่วมกับ 100 ชุมชนหรือพื้นที่การเรียนรู้ โดยการสร้างสรรค์การศึกษาที่มีประสิทธิภาพถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ ซึ่งจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อนำเสนอโครงการกับกลุ่มธุรกิจ TCP ได้ทางอีเมล [email protected]

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์

 

โควิด-19 กระทบเด็กยากจนเสี่ยง \"หลุดนอกระบบ\" การศึกษา