การศึกษา กับ ความสามารถในการแข่งขัน ของไทย |วิทยากร เชียงกูล

การศึกษา กับ ความสามารถในการแข่งขัน ของไทย |วิทยากร เชียงกูล

ความสามารถในการแข่งขันของไทย มักจะเน้นเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น เรื่องการส่งออก แต่ควรจะหมายรวมถึงความสามารถประสิทธิภาพในการผลิตของประชาชนทุกคนในทุกด้าน เพื่อพัฒนา เศรษฐกิจภายในประเทศ ให้เจริญงอกงามเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่

การจัดการศึกษาที่ดี มีประสิทธิภาพ จะช่วยเพิ่มความรู้ ทักษะ ประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงาน ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการช่วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย 

การแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เน้นความรู้ทักษะทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะช่วยลดต้นทุนการผลิต ผลิตได้ดีขึ้น มากขึ้น เร็วขึ้น ผู้บริหารประเทศ/ผู้นำภาคธุรกิจเอกชนจึงมักจะเน้นให้เพิ่มการลงทุน พัฒนาแรงงานที่มีความรู้ ทักษะด้านนี้ เช่น ผลิตวิศวกร ช่างเทคนิค นักคอมพิวเตอร์ นักออกแบบ ฯลฯ ทั้งในระดับกลางและระดับสูงเพื่อให้ไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้มากขึ้น แต่การพัฒนาคนต้องมองภาพรวมทั้งระบบ คือต้องพัฒนาคนทั้งหมด ตั้งแต่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ในระดับก่อนเข้าโรงเรียน การศึกษาระดับอนุบาล ประถม มัธยม อาชีวศึกษา การศึกษาผู้ใหญ่ ฯลฯ เป็นต้นมา ไม่ใช่มองแค่ระดับอุดมศึกษาเท่านั้น

ที่สำคัญคือต้องปฏิรูปการเรียนการสอน ให้คนมีอุปนิสัยรักการอ่าน การใฝ่รู้ หัดคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลเป็น รู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์ พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ และความฉลาดทางสังคม ฯลฯ มาตั้งแต่เด็กเล็ก เราจึงจะสร้างเยาวชนที่พร้อมจะไปเรียนภาษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ การออกแบบ ฯลฯ ในระดับสูงได้มากขึ้น 

การคิดในกรอบการมุ่งพัฒนาแรงงานระดับวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยจะทำได้จำกัด เช่น ถ้าคนจบชั้นมัธยมส่วนใหญ่ยังมีคุณภาพไม่สูงก็จะหาคนมาเรียนแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีได้จำกัด ถึงจะเพิ่มการลงทุน เพิ่มอาจารย์ด้านนี้ ก็จะผลิตแรงงานด้านนี้ให้มีคุณภาพและปริมาณด้วยได้จำกัดอยู่ดี

การปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นสำหรับคนทั้งประเทศยังสำคัญในแง่ที่ว่า แม้คนส่วนหนึ่งจะได้เรียนไม่สูง จบออกไปทำงานเป็นแค่เกษตรกร คนงาน พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยต่างๆ พวกเขาก็จะได้เป็นพลเมืองที่ฉลาด เรียนรู้ต่อไปด้วยตนเองได้ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กว่ากรณีที่ไม่ได้เรียนหรือเรียนมานิดหน่อยอย่างมีคุณภาพปานกลางหรือต่ำ

การปฏิรูปการศึกษาในไทยยังไปไม่ถึงไหน ทั้งที่มีตัวอย่างว่าหลายประเทศเขาทำได้ผล ปัญหาหลักคือรัฐบาลและชนชั้นนำไทยขาดความรู้ความเข้าใจ วิสัยทัศน์ และความสามารถในการปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพ ทั้งระบบโครงสร้างอย่างแท้จริง มีผู้นำด้านการศึกษา/การบริหารที่เข้าใจและทำงานปฏิรูปการศึกษาในบางสถาบันการศึกษา บางชุมชน บางเรื่องอยู่บ้าง แต่เป็นส่วนน้อย ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ความสนใจที่จะเข้าไปรมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาตนเองและลูกหลานน้อย

พวกเขายังคิดในกรอบเก่า เช่น แค่อยากให้รัฐบาลลงทุนสร้างสถานศึกษาให้มาก ให้รัฐช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่าย อยากให้ลูกหลานได้รับการศึกษาระดับสูงขึ้น คือคิดถึงการศึกษาในเชิงปริมาณ ในเชิงรูปแบบ ขอให้ได้มีประกาศนียบัตร/ปริญญาบัตรเพื่อออกไปหางานทำได้ดีขึ้น มากกว่าคิดในเชิงคุณภาพ การมีความรู้/ทักษะที่สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาทั้งตนเอง ชุมชน และประเทศได้อย่างแท้จริง
 

การปฏิรูปการศึกษา ต้องปฏิรูป 3 เรื่องที่สำคัญคือ 
    1. ปฏิรูปการคัดสรร/การให้ผลตอบแทนครู อาจารย์ โดยเน้นเรื่องคุณภาพ ส่งเสริมประสิทธิภาพ มีแรงจูงใจในการทํางานสูง 
    2. ปฏิรูประบบบริหารงานแบบกระจายอำนาจ ทรัพยากร ความรับผิดชอบ ไปที่จังหวัด เขต อำเภอ สถาบันการศึกษา แบบแนวนอนเพิ่มขึ้น โดยใช้นโยบายยืดหยุ่น ให้มีสถาบันการศึกษาหลายระบบได้ และต้องพัฒนาระบบบริหารให้มีการกระจายบุคลากรที่เก่งและมีแรงจูงใจสูงออกไปด้วย 
    3. ปฏิรูปหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดผล แบบเน้นความรู้ทักษะที่ใช้งานได้จริง และพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และความฉลาดทางสังคมด้วย ให้ผู้เรียนรักการอ่าน ใฝ่รู้ ผู้เรียนคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลเป็น การวัดผลต้องเปลี่ยนตาม เลิกสอบแบบให้คะแนนจากการจดจำข้อมูล เลิกเน้นการแข่งขัน (และการต้องไปเรียนพิเศษ) เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยปิดของรัฐ

ด้วยการพัฒนาวิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคการอาชีพต่างๆ ให้มีคุณภาพ ใช้งานได้เพิ่มขึ้น คนจบมาได้งานที่ให้ผลตอบแทน/ความก้าวหน้าดีขึ้น มีโควต้าเฉพาะให้คนที่ออกไปทำงานแล้วอย่างน้อย 2 ปี มีโอกาสกลับเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยได้ เด็กมัธยมปลายจะได้ไม่ต้องเครียดเรื่องสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยมากเกินไป

    การรับนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยและการวัดผลทุกระดับควรจะลดการวัดผลแบบจดจำข้อมูล วัดความรู้/ทักษะในการอ่านการสรุปความ คิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้น และวัดความฉลาดทางอารมณ์และทางสังคมด้วย ในระดับประถมมัธยม ควรฝึกอบรมให้ครูมีความรู้ ทักษะ ในการวัดผลแบบใหม่ได้มากขึ้น และทางโรงเรียนควรจัดการวัดผลกันเอง ครูตามดูว่านักเรียนแต่ละคนได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นจากภาคเรียนที่แล้วอย่างไร
    ในระดับประถมปลายและมัธยมปลาย อาจมีการจัดสอบระดับประเทศเพื่อที่จะหามาตรฐานในการเปรียบเทียบ และรับนักเรียนไปเรียนต่อ แต่ควรออกข้อสอบให้มีคุณภาพและเป็นธรรมได้ ยกตัวอย่างข้อสอบ PIZA ขององค์กรประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม OECD ที่ใช้วัดนักเรียนอายุ 15 ปี จากทั่วโลกนั้น มีการเตรียมการและออกแบบอย่างดี แม้จะเป็นข้อสอบปรนัย แต่เขาใช้วิธีการให้นักเรียนอ่านข้อความยาว 1-2 พารากราฟ ก่อนที่จะคิดวิเคราะห์และเลือกตอบ ครูไทยน่าจะเรียนรู้ฝึกฝนและออกข้อสอบแบบนี้ได้เช่นกัน
    ปัญหาการปฏิรูปคุณภาพครู และการปฏิรูประบบบริหารเป็นแบบกระจายอำนาจ ทรัพยากร ความรับผิดชอบไปในแนวนอนเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่จะช่วยปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลอย่างมาก ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในรายงานสภาวะการศึกษาไทย 2561/2562 ที่สภาการศึกษาแห่งชาติเคยพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม และเปิดหาได้จากสิ่งพิมพ์ออนไลน์ทางเว็บไซต์ของสภาการศึกษาแห่งชาติได้
    ความรู้/ทักษะที่โลกสมัยใหม่ต้องการไม่ใช่แค่เรียนเก่ง สอบได้คะแนนดีตามตำราแบบเก่า แต่คือความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างมีเหตุผล และอย่างสร้างสรรค์ การรู้จักเรียนรู้ใหม่ด้วยตัวเอง การประยุกต์ใช้ความรู้เป็น การรู้จักปรับตัว ฟื้นฟูตัวเองได้ในสถานการณ์ยากลำบาก ความสามารถในการสื่อสารและจูงใจคน การมีความฉลาด/ทักษะทางอารมณ์และสังคม เข้าใจ เห็นใจผู้อื่น ทำงานกับผู้อื่นได้ดี ฯลฯ (อ่าน WEF, Top Ten Skills in 2025) ความรู้ทักษะแบบใหม่นี้ครูอาจารย์ไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักหรือไม่เข้าใจมากพอ เราจึงต้องปฏิรูปครูอาจารย์อย่างขนานใหญ่.