กรมอนามัยเตือนอันตรายจากขยะมูลฝอย ผลกระทบต่อสุขภาพ

กรมอนามัยเตือนอันตรายจากขยะมูลฝอย ผลกระทบต่อสุขภาพ

​กรมอนามัย แนะจัดการขยะมูลฝอยถูกวิธีลดการแพร่เชื้อโรค ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม พร้อมขอให้สถานประกอบกิจการทุกประเภท เก็บรวบรวมมูลฝอยใส่ภาชนะบรรจุสำหรับบรรจุมูลฝอยทั่วไป นำไปพักรอไว้ในที่พัก พร้อมประสานให้ราชการส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่รับผิดชอบ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัญหาการจัดการขยะไม่ถูกวิธี ยังคงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ ซึ่งมูลฝอยบางประเภทหากทิ้งลงในทะเลจะสะสมจนเป็นพิษ  ในสิ่งแวดล้อม กระทบต่อระบบนิเวศ และ ห่วงโซ่อาหาร เช่น โฟมบรรจุอาหาร เชือก แห อวน เป็นต้น  และเมื่อสัตว์กินเข้าไป อาจจะเคลื่อนไหวไม่ได้ ในบางตัวอาจจะตายในที่สุด

ในส่วนของ ผลกระทบต่อสุขภาพ ของประชาชนหากการจัดการมูลฝอยเป็นไปแบบไม่ถูกสุขลักษณะจะทำให้ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบของมูลฝอย ทั้งลักษณะทางกายภาพและชีวภาพ สารเคมีอันตราย ปริมาณฝุ่นละออง  เชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย ที่ปนเปื้อนในมูลฝอยหรือกระบวนการขั้นตอนในการจัดการมูลฝอย    

ทั้งหมดล้วนเป็น สาเหตุสำคัญที่อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้ 1) โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคปอดอักเสบเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ 2) โรคระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อุจจาระร่วง 3) โรคผิวหนัง ได้แก่ โรคติดเชื้อทางผิวหนัง ภูมิแพ้ทางผิวหนัง อาการคันต่างๆ 4) โรคติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ โรคเอดส์ และบาดทะยัก เป็นต้น
     นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การจัดการมูลฝอยไม่ถูกวิธียังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม       ได้แก่ มลพิษทางน้ำ ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำในลักษณะต่าง ๆ เช่น ทำให้น้ำเน่าเสีย น้ำเป็นพิษมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะพืชและสัตว์น้ำ กระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ รวมถึงประชาชน    ที่อยู่บริเวณโดยรอบแหล่งกำเนิดมลพิษ การหมักหมมและเน่าสลายของมูลฝอย ก่อให้เกิดก๊าซพิษและกลิ่นเหม็น หรือการเทกองมูลฝอยไว้นาน ๆ จะมีก๊าซที่เกิดจากการหมักขึ้น คือ ก๊าซมีเทนซึ่งติดไฟเกิดระเบิดขึ้นได้  

   จึงขอให้สถานประกอบกิจการทุกประเภทมี การคัดแยกมูลฝอยอย่างน้อย 3 ประเภท ได้แก่ มูลฝอยรีไซเคิล    มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน และมูลฝอยทั่วไปหรือมูลฝอยที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ และนำไปพักรอไว้ในที่พักรวมมูลฝอยเพื่อทำการประสานให้ราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบทำการเก็บขน และนำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
        ​“การจัดการมูลฝอยของหน่วยงานระดับท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. สาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวด 3 การจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ตามมาตรา 20 เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสะอาด   และจัดระเบียบการเก็บขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย และกฎกระทรวงสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. 2560” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว​