เตรียมเปิดเทอม 4 ขั้นตอนจัดการน้ำสะอาดในโรงเรียน

เตรียมเปิดเทอม 4 ขั้นตอนจัดการน้ำสะอาดในโรงเรียน

กรมอนามัย แนะ 4 ขั้นตอน จัดการน้ำสะอาดในโรงเรียน พร้อมรับเปิดเทอม  สร้างความมั่นใจและความปลอดภัยสำหรับนักเรียน ครู อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาตลอดระยะภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ทำให้อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่าง ๆ ไม่ได้ใช้งานทั้งอุปกรณ์การเรียน การสอน อาคารสถานที่ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำบริโภคในโรงเรียน เช่น เครื่องกรองน้ำ ตู้น้ำดื่ม ภาชนะบรรจุน้ำดื่ม ที่ไม่ได้ใช้งาน หรือปล่อยทิ้งไว้ ขาดการดูแลรักษา อาจจะทำให้เกิดความเสียหาย แตกรั่ว ชำรุด เสื่อมสภาพ หรือหมดอายุการใช้งาน

       ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจในความสะอาดของน้ำบริโภคสำหรับนักเรียนในช่วงเวลาเปิดภาคเรียน     ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โรงเรียนควรเตรียมพร้อมในการจัดการน้ำบริโภคเพื่อรองรับการเปิดเทอม ซึ่งกรมอนามัย  มีคำแนะนำ 4 ขั้นตอน ในการจัดการน้ำสะอาดในโรงเรียนเพื่อเตรียมพร้อมเปิดเทอม

  ดังนี้ 1) สำรวจ สำรวจระบบจัดการน้ำดื่มในโรงเรียน ได้แก่ ระบบท่อ ก๊อกน้ำ ถังสำรองน้ำ ตู้กดน้ำดื่ม เครื่องกรองน้ำ ภาชนะบรรจุน้ำดื่ม หรืออุปกรณ์สำหรับการดื่มน้ำ รวมไปถึงระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมสิ่งผิดปกติ ความเสียหาย การเสื่อมสภาพ หรือการชำรุดของระบบการจัดการน้ำดื่มในโรงเรียน นำมาวางแผนซ่อมแซม แก้ไข ปรับปรุงหรือบำรุงรักษาต่อไป
           2) ซ่อมแซม ดำเนินการซ่อมแซม แก้ไข ปรับปรุง จุดที่มีการรั่วซึม แตกหัก ชำรุด อุดตัน เช่น ท่อน้ำ ตู้น้ำดื่ม ถังบรรจุน้ำ เปลี่ยนไส้กรอง หรือสารกรองในเครื่องกรองน้ำที่หมดอายุ หรือเสื่อมสภาพแล้ว เปลี่ยนสายไฟฟ้าหรือติดตั้งสายดินของตู้น้ำดื่ม เพื่อให้พร้อมใช้งานทันทีตอนเปิดเรียน

     3) ทำความสะอาด ถังพักน้ำ ภาชนะบรรจุน้ำดื่ม ตู้กดน้ำดื่ม แก้วน้ำ ก๊อกดื่มน้ำ ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดภาชนะ และแช่น้ำผสมคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยใช้คลอรีนผง 60 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 4-5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งจะได้ความเข้มข้นของคลอรีนประมาณ 100 ppm โดยแช่นาน 30 นาที และเช็ดทำความสะอาดภายนอกตู้กดน้ำดื่ม ภาชนะบรรจุน้ำดื่มขนาดใหญ่ ด้วยน้ำผสมคลอรีนดังกล่าว ส่วนเครื่องกรองน้ำต้องทำการล้างย้อน (Backwash) เพื่อทำความสะอาดไส้กรองหรือสารกรอง

         และ 4) ตรวจสอบ ตรวจสอบความพร้อมการทำงานของระบบจัดการน้ำสะอาดอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่า ทั้งอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่าง ๆ มีความพร้อมและเพียงพอ นอกจากนั้น สามารถประเมินคุณภาพน้ำด้วยชุดทดสอบอย่างง่ายทั้งการตรวจหาคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำประปา ด้วยชุด อ 31 หรือทดสอบการปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียจากตู้น้ำดื่ม ถัง คลูเลอร์น้ำดื่ม ด้วยชุด อ 11
​“บุคลากรที่ดูแลระบบจัดการน้ำดื่มในโรงเรียนควรมีการประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” หรือตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นใจ และความปลอดภัยในเรื่องน้ำบริโภค        ของนักเรียน ครู หรือเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนในช่วงเปิดเทอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว