“แผนที่เดินดิน” หัวใจความสำเร็จ “ชุมชนสู้เหล้า-สู้ภัยโควิด”

“แผนที่เดินดิน” หัวใจความสำเร็จ “ชุมชนสู้เหล้า-สู้ภัยโควิด”

สคล.เตรียมขยายผลชุมชนต้นแบบ “บ้านหนองกอก” สู่อีก 35 ชุมชน ชู “แผนที่เดินดิน” หัวใจความสำเร็จสู่ชุมชนสู้เหล้า-สู้ภัยโควิด สร้างชุมชนสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยง


ท่ามกลางการระบาดหนักของโควิด-19 เกิดเหตุเหมือนฟ้าผ่าลงมากลางหมู่บ้าน หนองกอก หมู่ 9 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เมื่อลูกบ้านจัดงานเลี้ยงฉลองวันเกิด “ตั้งวงดื่มสุรา” จนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคถึง 3 ครอบครัวพร้อมกัน เคราะห์ซ้ำเมื่อคนในชุมชนซึ่งออกไปทำงานภายนอกได้นำเชื้อกลับมาแพร่ระบาดในหมู่บ้าน ทำให้ช่วงดังกล่าวมีคนติดเชื้อพร้อมกันกว่า 27 คน มีผู้เสี่ยงสูงกว่า 70 คน และที่สุดแล้วรวมมีผู้ติดเชื้อสะสม 36 คน จากประชากรรวม 690 คน 

เมื่อโควิด-19 เข้ามาในชุมชนอย่างไม่ทันคาดคิด ชาวบ้านจึงเกิดความสับสนไม่รู้จะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อมาตรการของภาครัฐ ความหวาดกลัว หวาดระแวงเกรงจะติดโรคระหว่างกันเองของชาวบ้านหนองกอกยิ่งทำให้สถานการณ์ดูเลวร้าย เมื่อต้องเผชิญกับปัญหารอบด้านที่ไม่อาจนิ่งเฉยรอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐได้

“แผนที่เดินดิน” หัวใจความสำเร็จ “ชุมชนสู้เหล้า-สู้ภัยโควิด”

ชุมชนจึงร่วมใจกันลุกขึ้นมาจัดการแก้ปัญหาด้วยตนเองและจากพลังสามัคคีนำไปสู่ความสำเร็จในการควบคุมและยั้บยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดูแลรักษาจนตัวเลขผู้ป่วยเป็น 0 ได้ในวันนี้ พร้อมกับพฤติกรรมการดื่มของคนในชุมชนเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น  โดยหัวใจหลักของการบริหารจัดการสู่ความสำเร็จในครั้งนี้ คือ “แผนที่เดินดิน” ของหมู่บ้าน สนับสนุนโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) 

 

  • รณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ

นายวันชัย เหี้ยมหาญ ผู้ใหญ่บ้านหนองกอก หมู่ 9 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เล่าว่า ชุมชนหนองกอกเป็นหนึ่งในชุมชนแหล่งเรียนรู้คนสู้เหล้าของภาคตะวันตก สนับสนุนโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยดำเนินงานรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ และอบายมุขอื่นๆ  เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชน เริ่มจากการตั้งวงดื่มสุรา

ขณะนั้นการช่วยเหลือจากภาครัฐค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ชาวบ้านก็กลัวและหวาดระแวงกันไปหมด หากรอปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐ คือ เฝ้าระวัง แจ้งข่าว อย่าเข้าใกล้ รอเจ้าหน้าที่ไป แบบนั้นคงไม่ทันการณ์ เพราะผู้ป่วยติดเชื้อต้องนอนรอโดยไม่รู้กำหนดเวลาว่าจะได้เข้ารับการรักษาวันใด เราจึงตัดสินใจหันมาพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาเบื้องต้น ก่อนจะส่งต่อให้ภาครัฐมารับไปรักษาที่โรงพยาบาล  

“แผนที่เดินดิน” หัวใจความสำเร็จ “ชุมชนสู้เหล้า-สู้ภัยโควิด”

ผู้ใหญ่วันชัย เล่าต่อว่า ภารกิจเร่งด่วนอันดับแรก ได้ตั้งชุดอาสาปฏิบัติการชุมชนสู้โควิด ขึ้นมา 3 ชุด ๆ ละ 3-4 คน ประกอบด้วย

1.ชุดสื่อสาร เป็นกลุ่ม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นชุดที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรค การดูแลป้องกันการแพร่ระบาด  

2.ชุดภูมิปัญญา เป็นกลุ่มผู้อาวุโสที่มีความรู้เรื่องยาสมุนไพร จะดูแลเรื่องสมุนไพรในการรักษา  

3.ชุดควบคุม ปฏิบัติการควบคุม ช่วยเหลือ ส่งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำไปรักษาที่โรงพยาบาล  โดยอาศัย แผนที่เดินดิน ของหมู่บ้าน มาใช้ในการวิเคราะห์ บริหารจัดการ ทำให้แก้ปัญหาการระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที

 

 

  • "แผนที่เดินดิน" ช่วยแก้ชุมชนนักดื่ม

“แผนที่เดินดิน มีข้อมูลของแต่ละบ้านโดยละเอียด ทั้งจำนวนประชากร คนกินเหล้า คนติดเหล้า มีกี่คน รวมไปถึงข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น  อาชีพทำเกษตรกรรม ปลูกผัก เลี้ยงปลา หรือ รับจ้าง ดังนั้น บ้านหลังไหนมีคนติดโควิด-19 ติดแล้วกินเหล้ามั้ย ถ้ากินก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มในการระบาดต่อ ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราบริหารจัดการควบคุมได้อย่างเร็ว” ผู้ใหญ่วันชัย กล่าว  

แม้กระทั่งคนต่างถิ่นมาพักบ้านไหน ม้าเร็วชุดควบคุมเราก็จะเข้าถึงและจะคอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด บ้านหลังไหนมีคนเสี่ยง ชุด อสม.ก็จะเข้าคัดกรองด้วย ATK ทันทีเพื่อคัดแยกคนติดกับไม่ติดเชื้อออกจากกัน บ้านไหนติดโควิด ชุดภูมิปัญญาก็จะต้มสมุนไพรฟ้าทะลายโจรไปให้ดื่มรักษาอาการ  แผนที่ทำให้เรามองเห็นภาพรวมทั้งหมู่บ้าน สามารถนำมาวิเคราะห์แนวทางการจัดการได้     อย่างบ้านหลังนี้ติดโควิดออกไปหาอาหารมาทำกินไม่ได้ต้องกักตัว บ้านข้างๆ ปลูกผักเลี้ยงปลา เราก็แจ้งทางไลน์กลุ่มหมู่บ้านให้บ้านใกล้กันช่วยทำอาหารไปให้ ชุมชนเราต่างช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี ที่นี่เราอยู่กันแบบพี่น้อง ทุกคนร่วมใจกันแก้ปัญหา เราจึงผ่านวิกฤตนั้นมาได้

“แผนที่เดินดิน” หัวใจความสำเร็จ “ชุมชนสู้เหล้า-สู้ภัยโควิด”

  • ลดเหล้าต้องร่วมมือกันทั้งชุมชน

ด้าน น.ส.อุบลวรรณ คงสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันตก กล่าวว่า แผนที่เดินดิน เริ่มมีเมื่อปี 2560 โดยเป็นแผนที่ของหมู่บ้านที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นฐานข้อมูลว่าแต่ละบ้านมีคนดื่มสุราหรือไม่ และบ้านหลังไหนมี คนหัวใจหิน คือ คนที่งดเหล้าจนครบพรรษา จะมาร์คสีไว้  ส่วนคนหัวใจเหล็ก คือ หลังงดเหล้าเข้าพรรษาแล้วยังงดเหล้าต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 3 เดือน และ คนหัวใจเพชร คือ คนที่งดเหล้าต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป จากข้อมูลตรงนี้จะประเมินได้ว่าบ้านไหนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 กันเองภายในครอบครัวโดยบ้านที่มีคนดื่มจะมีโอกาสติดเชื้อแบบโดมิโน่ได้

“ภายหลังได้มีการเพิ่มข้อมูลรายละเอียดในด้านต่างๆ ลงในแผนที่  เช่น จำนวนคนดื่ม ในครอบครัว ติดหรือไม่ติดเหล้า  มีผู้ป่วยติดเตียงหรือไม่ ผู้พิการ รวมถึงข้อมูลด้านสุขภาวะอื่นๆ  โดยสามารถเติมข้อมูลทุกด้านได้ตลอดเวลา ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ จะทำให้เรามองเห็นภาพรวมในทุกมิติของหมู่บ้านได้ชัด  โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโรค แผนที่เดินดิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการนำมาช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที 
ควบคู่ไปกับการป้องกันการระบาดของโควิด-19  แผนที่ยังมีส่วนสำคัญในการรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทุกมิติ
น.ส.อุบลวรรณ กล่าว

โดยช่วงแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาที่ผ่านมา สคล.ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานโดยประสานงานกับชุมชนบ้านหนองกอกผ่านทางไลน์กลุ่มหรือ Zoom  ในการรณรงค์ชวนคนเข้าร่วมโครงการปฏิญาณงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา และการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลคนงดเหล้าก็ได้นำแผนที่มาช่วยจัดแบ่งโซนการทำงานทั้งหมด 4 โซน พร้อมนี้ สคล.ยังสนับสนุนชุดตรวจ ATK หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ชุด PPE  เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อแก่ชุมชนด้วย

  • กลไกทำงานเป็นทีม ต้นแบบชุมชนสุขภาพ

น.ส.อุบลวรรณ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้บ้านหนองกอกประสบความสำเร็จ คือ กลไกการทำงานเป็นทีม ที่แบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน และชุมชนมีความสามัคคีให้การช่วยเหลือดูแลกันเอง พร้อมร่วมใจไม่ตั้งวงเหล้าในงานสังสรรค์ใดๆ ผลของการร่วมใจกันครั้งนี้ นอกจากสถานการณ์การระบาดของโรคภายในหมู่บ้านจะคลี่คลายแล้ว ต้นเหตุของการระบาดจากวงเหล้า ยังส่งผลให้พฤติกรรมการดื่มของคนในชุมชนเปลี่ยนไป  โดยจากดื่มกันเป็นกลุ่มก้อนก็หันมาดื่มคนเดียว ๆ จึงขาดความสนุกส่งผลให้บางคนค่อยๆลดการดื่มไปโดยปริยาย 

“แผนที่เดินดิน” หัวใจความสำเร็จ “ชุมชนสู้เหล้า-สู้ภัยโควิด”

“บ้านหนองกอกนับเป็นต้นแบบของชุมชนที่สามารถบริหารจัดการตนเองได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด-19 การดูแลป้องกันตนเอง โดยเฉพาะการควบคุมเหล้าซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อการระบาดของโรค สคล.จะนำต้นแบบนี้ไปขยายผลต่อยังหมู่บ้านใกล้เคียง คือ หมู่ 6-7-8 รวมไปถึงชุมชนอื่นๆ อีก 17 ชุมชนในปีนี้ ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้กับบริบทของแต่ละพื้นที่ และจะขยายผลให้ได้ถึง 35 ชุมชนในปีหน้า” น.ส.อุบลวรรณ กล่าว