"เดลตาพลัส" ไวรัสกลายพันธุ์ เกิดขึ้นได้ยังไง วัคซีนตัวไหนป้องกันอยู่หมัด?

"เดลตาพลัส" ไวรัสกลายพันธุ์ เกิดขึ้นได้ยังไง วัคซีนตัวไหนป้องกันอยู่หมัด?

ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ "เดลตาพลัส" 1 ราย แต่ไม่ใช่สายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดหนักในอังกฤษ ชวนไขคำตอบ ทำไมไวรัสโควิดถึงกลายพันธุ์ได้? แล้วมีวัคซีนตัวไหนป้องกันโควิดเดลตาพลัสได้บ้าง? สรุปไว้ให้แล้วที่นี่!

หลังจากที่ สธ. เผยว่าพบคนไทย 1 ราย ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ "เดลตาพลัส" ที่กำแพงเพชร ทั้งนี้ เชื้อโควิดเดลตาพลัสดังกล่าว ตรวจพบว่าเป็นเชื้อรหัส AY.1 ซึ่งไม่ใช่เชื้อตัวเดียวกับที่กำลังระบาดหนักในอังกฤษ (รหัส AY.4.2) อยู่ขณะนี้

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจยังสงสัยว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์นี้มาจากไหน? เกิดขึ้นได้อย่างไร? แล้วจะมีวัคซีนตัวไหนสู้ได้บ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมารู้จักไวรัสโควิดสายพันธุ์ "เดลตาพลัส" กันชัดๆ อีกครั้ง ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

1. เรื่องต้องรู้ โควิดสายพันธุ์ “เดลตาพลัส” 

สำหรับโควิดสายพันธุ์ “เดลตาพลัส” เป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยจากสายพันธุ์ “เดลตา” ซึ่งตัวที่พบในไทยมีเลขรหัสไวรัสเป็น “AY.1” ไม่ใช่ตัวเดียวกับที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศอังกฤษตอนนี้ (AY.4.2)

มีข้อมูลจาก นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการ สธ. ที่โพสต์ผ่านทางบล็อกดิทวันนี้ ระบุว่า เดลตาพลัสสามารถแพร่ระบาดได้ไวกว่าสายพันธุ์อื่นถึง 15% ในเวลา 5-10 วินาที และเชื้อไวรัสสามารถลอยอยู่ในอากาศได้ถึง 16 ชั่วโมง อีกทั้งมีการกลายพันธุ์แบบ K417N ซึ่งทำให้เชื้อไวรัสยึดเกาะติดกับเซลล์ที่ติดเชื้อ เช่นในปอดได้แน่นขึ้น

ส่วนอาการที่พบหากติดโควิดสายพันธุ์เดลตาพลัส ได้แก่ ปวดศีรษะ เจ็บคอ มีน้ำมูก ไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับรส มีอาการคล้ายหวัดทั่วไป

ปัจจุบัน เดลตาพลัส เป็นสายพันธุ์ที่ WHO ยังไม่ได้มีการยกระดับให้เป็น “ไวรัสที่น่าเฝ้าระวัง” (VOC: Variant of Concern) โดยทางประเทศอังกฤษได้จัดให้เป็น ไวรัสที่อยู่ภายใต้การวิจัย (VUI: Variant Under Investigation) เพราะยังไม่ข้อมูลเรื่องความรุนแรงของสายพันธุ์และประสิทธิภาพวัคซีน เหล่านี้มา

2. ทำไมไวรัสโควิด-19 ถึงกลายพันธุ์ได้?

ไม่เฉพาะแค่ โควิด-19 แต่ไวรัสทุกชนิดบนโลกสามารถกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเกิดจากการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสในธรรมชาติ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงชนิดของสารพันธุกรรมไปจากเดิม เป็นผลให้เชื้อไวรัสเหล่านั้นกลายพันธุ์ มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป

โดยรูปแบบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีด้วยกัน 3 รูปแบบ ดังนี้

  • สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
  • สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันร่างกายและภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน
  • สามารถต่อต้านยาที่ใช้ในการรักษา

3. เดลตาพลัส พบครั้งแรกของโลกเมื่อไหร่?

เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “เดลตาพลัส” ถูกพบครั้งแรกช่วงเดือนเมษายน 2564 ในประเทศอินเดีย ทั้งหมด 3 รัฐด้วยกัน โดยรัฐที่มีการระบาดหนักมากที่สุดคือ "รัฐมหาราษฏระ"

นอกจากนี้ ไวรัสชนิดดังกล่าวก็ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังอีกหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น รัสเซีย จีน และไทย

4. คนไทยติด “เดลตาพลัส” เหตุเกิดพื้นที่ไหน?

ก่อนหน้านี้มีรายงานพบคนไทยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาพลัส 1 ราย และเป็นรายแรก พบว่าเป็นเพศชาย อายุ 49 ปี ทำงานใน อำเภอบางไทร “จังหวัดอยุธยา” (แต่มีรายงานข่าวอัพเดทล่าสุด ระบุว่าพบที่จังหวัดกำแพงเพชร) โดยตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสตั้งแต่เดือนกันยายน 2564

ทั้งนี้ ได้มีการนำเชื้อโควิดไปตรวจที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางทหาร กองทัพบก ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยรายนี้ได้รักษาหายแล้ว

5. วัคซีนตัวไหนต้านโควิด "เดลตาพลัส" ได้บ้าง?

  • วัคซีนไฟเซอร์

เข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33% (หากติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ)

เข็มที่ 2 ป้องกันการติดเชื้อได้ 88%

  • วัคซีนโมเดอร์นา

เข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%

เข็มที่ 2 ป้องกันการติดเชื้อได้ 88%

  • วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

เข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%

เข็มที่ 2 ป้องกันการติดเชื้อได้ 60%

  • วัคซีนซิโนแวค

ยังไม่มีผลการรายงานเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม สธ. ยืนยันว่า แม้ประสิทธิภาพจะต่างกัน แต่วัคซีนทุกยี่ห้อยังสามารถป้องกันการอาการหนักหากติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตาได้ทั้งหมด เพราะเพื่อป้องกันอาการรุนแรงควรเข้ารับการฉีดวัคซีน

---------------------------

อ้างอิง : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, BBC(1), BBC(2), Yale Medicine