ทำความรู้จัก "เดลตาพลัส" AY.1 สายพันธุ์ในไทย รุนแรง ดื้อวัคซีนหรือไม่?

ทำความรู้จัก "เดลตาพลัส" AY.1 สายพันธุ์ในไทย รุนแรง ดื้อวัคซีนหรือไม่?

ทำความรู้จักโควิดสายพันธุ์ "เดลตาพลัส" และ "อัลฟาพลัส" ในไทย แพร่เชื้อได้ไว รุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ แล้วจะดื้อ "วัคซีน" หรือเปล่า จะดูแลป้องกันตนเองอย่างไร? "กรุงเทพธุรกิจ" มีคำตอบ

“สายพันธุ์เดลตา” เป็นสายพันธุ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดเกือบทั้งประเทศไทย และมีสายพันธุ์เบตาเล็กน้อยในจังหวัดชายแดนใต้ ขณะที่สายพันธุ์อัลฟาเริ่มมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ 

  • “เดลตา” สายพันธุ์หลักระบาดในไทย

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน เปิดเผยว่าความกังวลของเชื้อโควิคสายพันธุ์เดลตาพลัส ในช่วง 28 วันที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญได้ติดตามการติดเชื้อในประเทศอังกฤษ พบว่า เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 6% ของสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งการแพร่ระบาดส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์เดิม โดยกระทรวงสาธารณสุขมีระบบเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลเพิ่มเติมตลอดเวลา ขอให้ประชาชนอย่ากังวล เนื่องจากองค์การอนามัยโลกยังไม่มีการยกระดับของสายพันธุ์ สำหรับไทยพบผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตาพลัส เพียง 1 คน และไม่มีรายอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

วันนี้ (26 ต.ค.2564)นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ซึ่งจากการสุ่มตรวจเชื้อกลายพันธุ์ พบว่า ระยะหลังการแพร่ระบาดในประเทศไทยยังคงเป็นสายพันธุ์เดลา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจเชื้อ 1,000 กว่าราย พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 98.6

ส่วนใน 4 จังหวัดใต้ หลังจากมีการตรวจตัวอย่างเชื้อมากขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา ร้อยละ 90.3 สายพันธุ์อัลฟา ร้อยละ 4.7 สายพันธุ์เบตา ร้อยละ 5 ทำให้ทั่วทุกภูมิภาคของไทยตอนนี้เป็นการระบาดของเชื้อเดลตาเป็นหลัก ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ เริ่มพบน้อยลง

อ่านข่าว : ผู้เชี่ยวชาญอินเดียไม่กังวล“เดลตาพลัส”

 

  • เดลตาพลัสในไทย AY.1 ไม่รุนแรงไม่ดื้อวัคซีน

ทั้งนี้ สายพันธุ์ย่อยของเดลตา ปัจจุบันมีทั้งหมด 47 สายพันธุ์ มีชื่อเรียก AY1-47 หรือรู้จักกันในอีกชื่อว่าเดลตาพลัส ปัจจุบันสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้พบในประเทศไทยถึง 18 สายพันธุ์ เช่น AY.3, AY.4, AY.10 เป็นต้น ส่วนที่พบมากที่สุดคือเดลตาพลัส AY.30 จำนวน 1,341 ราย และ AY.39 จำนวน 83 ราย

การพบสายพันธุ์เดลตาพลัสในไทยเพิ่มเติม คือ AY.1 (K417N) ที่จังหวัดกำแพงเพชร และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค อย่างไรก็ดี โควิดทั้ง 18 สายพันธุ์ที่พบยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นมีการแพร่ระบาดหรือก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้นเหมือนดังสายพันธุ์ที่พบแพร่ระบาดอยู่ในประเทศอังกฤษขณะนี้ คือ เดลตาพลัส AY.4.2 ที่มีการกระจายตัวของเชื้อเร็วขึ้น 10-15% ซึ่งขอยืนยันว่าปัจจุบันสายพันธุ์ AY.4.2 ยังไม่มีการพบในประเทศไทยแต่อย่างใด

ตอนนี้ในระบบประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังและตรวจพันธุกรรมทั้งตัว สัปดาห์ละประมาณ 400-500 ตัวอย่าง เบื้องต้น เดลตาพลัส AY.1 ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าหลีกหนีภูมิคุ้มกันได้ และความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือดื้อวัคซีน ยืนยันวัคซีนโควิด-19 ยังจัดการได้ แต่ที่ต้องจับตาคือเดิมเคยระบาดในยุโรปมาก่อน แต่ไม่ได้มีความรุนแรงของโรคที่เป็นนัยยะสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากทั่วโลก พบว่า เชื้อโควิค-19 ในเรื่องของความรุนแรงของโรคลดลง แต่อาจจะยังมีการแพร่ระบาดได้ก็ตาม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่สุดท้ายแล้วเชื้อโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่อาจจะมีอาการป่วยได้บ้างและรักษาได้

 

  • ทำความรู้จักสายพันธุ์เดลตาพลัส

ทั้งนี้  โควิดสายพันธุ์เดลตา (Delta) พบครั้งแรกในอินเดีย มีความสามารถในการจับเซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ติดง่ายขึ้น แพร่กระเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว และยังมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลตา พลัส (Delta Plus) ที่มีคุณสมบัติหลบภูมิคุ้มกันได้ดี ติดต่อเชื้อได้ง่ายแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ซึ่งในปัจจุบันพบว่า มีการระบาดมากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก

จากข้อมูล พบว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา สามารถแพร่กระจายได้ง่าย โดยใช้เวลา 5 – 10 วินาที หากอยู่ในสถานที่เดียวกัน หรือพบเจอผู้ติดเชื้อ เชื้อก็สามารถแพร่กระจายไปสู่บุคคลอื่นได้ และเชื้อยังสามารถลอยอยู่ในอากาศได้ถึง 16 ชั่วโมง

สายพันธุ์เดลตาพลัส ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์เดลตา ซึ่งจะมีการกลายพันธุ์ในกรดอะมิโน ที่เรียกว่า k417n เป็นกรณีกลายพันธุ์ที่คล้ายกับสายพันธุ์เบตา หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์นี้สามารถหลบเลี่ยงภูมิต้านทานได้ดีกว่า และติดต่อได้ง่ายที่สุดในไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์

  • อาการที่พบในโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

ปวดศีรษะ

เจ็บคอ

มีน้ำมูก

ไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับรส

มีอาการทั่วไปคล้ายหวัดธรรมดา

  • ประสิทธิภาพวัคซีนต่อ “สายพันธุ์เดลตา”

วัคซีนไฟเซอร์ :  Pfizer

  • ฉีดเข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%  (หมายความว่า 33% เมื่อติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ)
  • ฉีดเข็มที่ 2  ป้องกันการติดเชื้อได้ 88%

วัคซีนโมเดอร์นา :  Moderna

  • ฉีดเข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%
  • ฉีดเข็มที่ 2  ป้องกันการติดเชื้อได้ 88%

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า :  AstraZeneca (ข้อมูลของทางสหรัฐฯ)

  • ฉีดเข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%
  • ฉีดเข็มที่ 2  ป้องกันการติดเชื้อได้ 60%

วัคซีนซิโนแวค :  Sinovac

  • ยังไม่มีรายงานในการป้องกันการติดเชื้อ

แม้ประสิทธิภาพจะต่างกัน แต่วัคซีนทุกยี่ห้อยังสามารถป้องกันการอาการหนักหากติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตาได้ทั้งหมด เพราะเพื่อป้องกันอาการรุนแรงควรเข้ารับการฉีดวัคซีน

  • วิธีป้องกันโควิดทุกสายพันธุ์

การดูแลและป้องกันตนเองไม่ว่าจะเป็น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ รักษาระยะห่างกับผู้อื่น ไม่ชุมนุมหรือรวมกลุ่มกันไม่ไปในพื้นที่เสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยเร็ว ดังนั้น การมีวินัยในตนเองจะส่งผลดีต่อทั้งตัวเรา และผู้อื่นร่วมกับการคอยติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

  • "อัลฟาพลัส" ก่ออาการมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ ในส่วนของ สายพันธุ์อัลฟา พลัส (E484K) พบลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในกัมพูชา พบครั้งแรกในอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.2563 ซึ่ง สายพันธุ์อัลฟา พลัส (E484K)   พบ spike โปรตีน ระหว่างสายพันธุ์ เบตา และ แกมมา ซึ่งหากพบจำนวนมากก็อาจเกิดการหลบภูมิได้บ้าง

อัลฟาพลัส (E484K) ซึ่งเป็นตำแหน่งหลบภูมิคุ้มกัน และก่อให้เกิดอาการมากกว่าเดิม พบ 18 ราย โดยพบ 2 รายใน จ.เชียงใหม่ และ 16 รายที่ จ.จันทุบรี และ จ.ตราด เป็นชาวกัมพูชา 12 ราย และชาวไทยอีก 4 ราย ซึ่งทั้งหมดทำงานในล้งลำไย

  • สายพันธุ์ย่อยเดลตาพลัสน่ากลัวหรือไม่?

ด้าน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” ระบุถึงการพบสายพันธุ์เดลตาพลัสในประเทศไทยว่า ไทยพบไวรัสเดลตาพลัส (Delta Plus) รายแรกที่พระนครศรีอยุธยา แพร่ระบาดเร็วขึ้น 15% หลังจากที่มีข่าวการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลตาพลัสในอังกฤษ โดยพบจำนวนผู้ติดเชื้อ 6% จนทางการอังกฤษจัดให้เป็น VUI (Variant Under Investigation) เนื่องจากมีความสามารถในการระบาดเพิ่มขึ้น 15% แต่ยังไม่ได้ยกระดับขึ้นเป็นไวรัสที่น่าเป็นกังวล : VOC (Variant of Concern) เพราะยังขาดข้อมูลเรื่องความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน

ไวรัสเดลตาพลัสเป็นปัจจัยที่ทางอังกฤษให้ความสนใจ เพราะเกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่มีการระบาดระลอกใหม่ มีผู้ติดเชื้อหลายหมื่นคนต่อวัน แต่คงไม่ได้เกิดจากปัจจัยไวรัส Delta Plus เพียงลำพัง แต่น่าจะเกิดจากการผ่อนคลายมาตรการของทางการอังกฤษ ร่วมกับการที่ประชาชนอังกฤษหย่อนวินัยในการป้องกันโรคระบาด

ทางกรมควบคุมโรคได้แถลงว่า พบไวรัส Delta Plus ที่พระนครศรีอยุธยา จากการถอดรหัสจีโนม ซึ่งทำเป็นประจำอยู่แล้ว และเคยพบว่ามีสายพันธุ์ย่อยของไวรัสเดลต้าในประเทศไทย 4 สายพันธุ์ ซึ่งไม่ได้มีลักษณะการแพร่ระบาด หรือความสามารถในการก่อโรครุนแรงแตกต่างกับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564

ในช่วงเดือนกันยายน 2564 จากการถอดรหัสตามปกติ ได้พบผู้ติดเชื้อที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นไวรัสเดลต้าพลัส (AY.4.2) จึงสมควรที่จะทำความรู้จักไวรัสก่อโรคโควิด และไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์ย่อยเดลตาพลัส ดังนี้

1.โควิดเกิดจากไวรัสตระกูลโคโรนาลำดับที่ 7

2.ไวรัสโคโรนาเป็นไวรัสอาร์เอ็นเอ (RNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว ไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีดีเอ็นเอ (DNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมคู่

3.สิ่งมีชีวิตสารพันธุกรรมเดี่ยว จะมีการกลายพันธุ์ได้ง่าย

4.จากการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา ขณะนี้มีจำนวนโดยประมาณมากกว่า 1,000 สายพันธุ์หลัก และสายพันธุ์ย่อย

5.ในการแบ่งกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ จะใช้เรื่องความสามารถในการแพร่ระบาด ความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน โดยกลุ่มที่ถือว่ามีความสำคัญก็คือกลุ่มที่น่ากังวล (VOC) ได้แก่ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา

6.ในกลุ่มไวรัสเดลตานั้น พบสายพันธุ์ย่อยแล้วกว่า 20 สายพันธุ์ โดยในเดือนสิงหาคม 2564 ไทยพบ 4 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งไม่มีไวรัสสายพันธุ์เดลตาพลัส

7.ไวรัสสายพันธุ์เดลตาพลัสเป็นสายพันธุ์ย่อยจากสายพันธุ์ที่เคยพบเมื่อเดือนสิงหาคมแล้ว และขณะนี้พบระบาดในประเทศอังกฤษ

8.ขณะนี้ประเทศไทยได้พบไวรัสเดลตาพลัสหนึ่งราย นับเป็นรายแรกที่พระนครศรีอยุธยา

9.เดลตาพลัสเป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่พบว่ามีการระบาดกว้างขวางรวดเร็วกว่าไวรัสเดลตา 15% ส่วนความรุนแรงในการก่อโรคและการดื้อต่อวัคซีนยังไม่มีการรายงาน

กล่าวโดยสรุป ไทยได้พบไวรัสสายพันธุ์เดลตาพลัสแล้ว นับเป็นรายแรกที่พระนครศรีอยุธยา และยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ เพิ่มเติม 

เดลตาพลัสแพร่รวดเร็วขึ้น 15% เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา จึงสมควรจะต้องระมัดระวัง แต่ยังไม่ต้องตระหนกตกใจ เพียงแต่ให้ตระหนักว่าไวรัสมีความสามารถในการปรับตัวเก่งมาก มนุษย์จึงต้องต่อสู้อย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องวินัยในการป้องกันตนเอง การเร่งฉีดวัคซีน ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทุกประเทศจะต้องระดมออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาดครั้งนี้”นพ.เฉลิมชัย กล่าว 

 

อ้างอิง : รพ.ศิครินทร์ ,กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์