“หญิงท้อง”ตายจากโควิด-19 อันดับ 1 เกือบ 50 % ทารกตายตามแม่

“หญิงท้อง”ตายจากโควิด-19 อันดับ 1 เกือบ 50 % ทารกตายตามแม่

สธ.เผยโควิด-19เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของหญิงท้องในปีที่ผ่านมา เกือบ 40 %  ทารกตายตามแม่เกือบ 50 % ขณะที่ยอดฉีดวัคซีนต่ำแค่ 25 % เหตุกังวลอาการข้างเคียง-ไม่มั่นใจประสิทธิภาพ ย้ำวัคซีนปลอดภัย   ช่วยลดติดเชื้อ-ป่วยรุนแรง-เสียชีวิต

   เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 ต.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพและโฆษกกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ติดโควิด -19 ในหญิงตั้งครรภ์ โดยทั่วโลกพบว่าสตรีมีครรภ์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นราว 50-60 % จากภาวะปกติ  และหลายประเทศโควิด-19เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของสตรีมีครรภ์ เช่น ยุโรป หรืออเมริกาประมาณ  25%ของหญิงมีครรภ์ที่เสียชีวิตเกิดจากโควิด-19
      “ในประเทศไทยระหว่างเดือน ต.ค 2563 -ก.ย.2564 ช่วง 1 ปีงบประมาณที่มีการระบาดของโควิด-19ระลอก2-3 พบว่ามีสตรีมีครรภ์เสียชีวิต 192 คน  จากโควิด 78 คนคิดเป็นเกือบ 40 % เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของสตรีมีครรภ์ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุการตายอื่น เช่น ตกเลือด “นพ.เอกชัยกล่าว      

   นพ.เอกชัย กล่าวอีกว่า  สถานการณ์โควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ ช่วงเม.ย.-ก.ย.2564 ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ติดเชื้อ 4,778 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เคยรับวัคซีน 209 ราย  ทารกติดเชื้อ 226 ราย  โดยสตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อมักจะอยู่ในพื้นที่กทม. ปริมณฑล แล3จังหวัดชายแดนภาคใต้ มารดาเสียชีวิต  95 คน มีทารกเสียชีวิตตามแม่ 46 ราย  

         สำหรับการฉีดวัคซีน สตรีมีครรภ์ฉีดแล้วประมาณ 75,000 คนเป็นเข็มที่ 1 ส่วนเข็มที่ 2 จำนวนราว 51,900 คน และเข็ม 3 ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขราว  500 คน ทั้งนี้ หญิงมีครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 3 เดือนใน 1 ปีมีราว 3 แสนคน  เพราะฉะนั้น จำนวนที่ฉีดวัคซีนในปัจจุบันคิดเป็นราว 25 % เมื่อแยกเป็นรายเขตสุขภาพ พบว่า เขต 1 ฉีดแล้ว 17.1% เขต 2 ฉีดแล้ว 25.3% เขต 3 ฉีดแล้ว 14.6% เขต 4 ฉีดแล้ว 34.3 % เขต 5 ฉีดแล้ว 26.8% เขต 6ฉีดแล้ว  40.8% เขต 7 ฉีดแล้ว 11.6 % เขต 8 ฉีดแล้ว 13.6 % เขต 9 ฉีดแล้ว 19.5% เขต 10 ฉีดแล้ว 12.8% เขต 11 ฉีดแล้ว 19.7 % เขต 12 ฉีดแล้ว 33% และเขต 13 ฉีดแล้ว 29.7 % จึงจะต้องเร่งให้สตรีมีครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีน

     นพ.เอกชัย กล่าวอีกว่า การสำรวจอนามัยโพลล์ ประเด็น หญิงตั้งครรภ์กับการฉีดวัคซีนโควิด-19  ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นหญิงมีครรภ์ใน 77 จังหวัด จำนวน 1,165 คน ระหว่างวันที่ 15-29 ก.ย.2564   ส่วนใหญ่ตั้งครรภ์ในไตรมาส 2-3  ฝากครรภ์เรียบร้อยแล้ว และสตรีมีครรภ์เกือบทั้งหมดอยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวจตั้งแต่ 3-7 คน  มีไม่ถึง 1 % อยู่ตัวคนเดียว

      ภาพรวม พบว่า  50% ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ในจำนวนนี้ก 60 % ตั้งใจจะฉีด โดยที่ยังลังเล สาเหตุจาก กังวลผลข้างเคียงมากที่สุด รองลงมาเป็น ไม่มั่นใจในความปลอดภัย และอยากศึกษาข้อมูลให้แน่ใจก่อนฉีด เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม พบว่า หญิงมีครรภ์ยังมีการออกไปทำงานนอกบ้าน จึงเป็นส่วนที่กังวลเพราะยังไม่ได้ฉีดวัคซีน  ส่วนการป้องกันตนเองตามมาตรการUnivesal Prevention หญิงมีครรภ์ทำได้ดีที่สุดในเรื่องการสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่สาธารณะโดยทำเป็นประจำ 97.8%  ที่ทำได้น้อยที่สุด คือ สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นในบ้านโดยทำเป็นประจำเพียง 43.3% 
        นพ.เอกชัย กล่าวด้วยว่า  โดยสรุปการตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนของหญิงตั้งครรภ์ ส่วนหนึ่งกังวลเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน  และสูตรไขว้ต่างๆ ทั้งที่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ฯ  สมาคมแพทย์โรคติดเชื้อและกระทรวงสาธารณสุข ออกมาให้ข้อมูลแล้วว่า องค์การอนามัยโลกบอกแล้วว่า วัคซีนสูตรไขว้สามารถฉีดได้ในสตรีมีครรภ์อย่างปลอดภัย ส่วนความกังวลเรื่องผลข้างเคียงนั้น ในสตรีมีครรภ์ผลข้างเคียงไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไปและเล็กน้อย หายได้ นอกจากนี้ คิดว่าตนเองไม่มีความเสี่ยงและมีโอกาสติดเชื้อน้อยไม่ต้องฉีด อาจเป็นความเข้าใจที่ประมาทได้
    “ ขอให้สตรีมีครรภ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีกกว่า 2 แสนคนเข้ารับการฉีด ส่วนหญิงที่ให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีนได้ หลังจากฉีดแล้วสามารถให้นมได้ทันที เพราะวัคซีนไม่มีผลต่อน้ำนม ที่สำคัญ การฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรสามารถลดอัตราการติดเชื้อ อัตราการป่วยรุนแรง และอัตราการเสียชีวิต  ประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนมีมากกว่าผลข้างเคียงหรือความเสี่ยง และทุกประเทศทั่วโลกแนะนำเช่นนี้  และให้สตรีมีครรภ์ฉีดได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป”นพ.เอกชัยกล่าว