10 ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครอง ควร-ไม่ควร "ลูกฉีดวัคซีนโควิด"

10 ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครอง ควร-ไม่ควร "ลูกฉีดวัคซีนโควิด"

เผยยอดฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่เด็กอายุ 12-17 ปี ผ่านไป10 วัน พบฉีดวัคซีนแล้ว 8 แสนกว่าราย จากเป้าหมาย 4.5 ล้านคน ระบุไม่ประสงค์ฉีด 1.3 กว่าล้านคน 10 ข้อแนะนำจากแพทย์ส่งต่อถึงผู้ปกครอง ควร-ไม่ควร ลูกฉีดวัคซีนโควิด

ผ่านมาแล้ว 10 กว่าวัน ตั้งแต่วันแรก (4 ต.ค.2564)ของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็กอายุ 12-17 ปี ในสถานศึกษาพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ที่มีจำนวน 15,465 แห่ง ใน 29 จังหวัดก่อน และจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย.นั้น 

  • เด็กไทยฉีดวัคซีนโควิดเพียง 8 แสนกว่าคน

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่ายอดจำนวนนักเรียน/นักศึกษาอายุ 12-17 ปี สะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-14 ต.ค.2564 มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน  864,145 คน คิดเป็น ร้อยละ 19.2 และผู้ที่ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 6,668 คน คิดเป็นร้อยละ 0.1 ทั้งที่จำนวนเป้าหมายในการฉีดวัคซีน 4,5000,000 คน

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้กำหนดแผนให้นักเรียน นักศึกษา ทุกสังกัด ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปีขอ จำนวน 5,048,081 คน เบื้องต้นมีผู้ประสงค์จะฉีด 3.61 ล้านคน คิดเป็น 71.67% จะได้รับการฉีดวัคซีนสูตรไฟเซอร์ + ไฟเซอร์  และเด็กต่ำกว่า 18 ปี ไม่ประสงค์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1.34 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเด็กจะไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เป็นการสมัครใจ เป็นความยินยอมของนักเรียน และผู้ปกครอง

อ่านข่าว : รบ.เดินหน้าฉีดวัคซีน นศ.-บุคลากรมหาวิทยาลัยแล้วกว่าล้านคน-นร. 8.6 แสนราย

 

  • แนะฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในเด็ก

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนําให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยา (อย.) ให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งมีวัคซีน 2 ชนิดที่ได้รับการรับรอง คือชนิด mRNA ของ ไฟเซอร์ และ วัคซีนชนิด mRNA ของ โมเดอร์น่าแต่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนโมเดอร์น่าในประเทศไทย

สําหรับวัคซีนชนิดเชื้อตาย ของ ซิโนฟาร์ม และ ซิโนแวค  อยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อมูลเรื่องการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในเด็ก และขณะนี้ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่น แนะนําให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ได้รับการรับรองโดย อย.2 เข็มห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ในเด็กและวัยรุ่นทุกคนที่ อายุตั้งแต่ 16 ปี ขึ้นไป และเด็กและวัยรุ่นทุกคนที่อายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจําตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 รุนแรง ซึ่งเป็นคําแนะนําที่ให้ไว้ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2554

ดร.สุวดี พันธุ์พานิช เลขานุการกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี และ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย ได้ทวิตถึงประเด็นนี้ด้วยว่า ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนเป็นสิทธิส่วนบุคคล วัคซีนที่ได้รับการรับรองจาก WHO ให้ฉีดได้ในกลุ่มเด็ก เป็นข้อมูลที่ช่วยยืนยันว่า มีข้อดีมากกว่าข้อเสียในระดับที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ คนต้องเลือกวัคซีน ไม่ใช่วัคซีนเลือกคน เอามาให้หลากหลายมากพอ

 

  • ควร...หรือไม่ควร? ให้ลูกฉีดวัคซีน

นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค Pongsakorn Chindawatana เรื่องของการฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก ระบุว่า นี่เป็นข้อมูลที่รวบรวมมาให้ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ปกครอง

1. แนวความคิดการฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กๆ เกิดขึ้นเพราะว่า อีกไม่นานโรงเรียนจะเปิดแบบปกติ และเด็กๆ สามารถติดโควิดได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ การฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ที่ทำให้เด็กๆ กลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติและปลอดภัย

2. จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีวัคซีนโควิดตัวไหนได้รับการยืนยันจากผู้ผลิตว่าเหมาะสมสำหรับเด็ก เพราะในช่วงแรกทุกบริษัทเน้นผลิตเพื่อผู้ใหญ่เป็นอันดับแรกๆ ในขณะนี้ มีเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์เพียงชนิดเดียว ที่เคลมว่า วัคซีนของตัวเองสามารถใช้ในเด็กได้อย่างปลอดภัยที่ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้กับเด็ก เหมือนที่ฉีดให้กับผู้ใหญ่ได้ เนื่องจากน้ำหนักตัวของเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ เด็กยังอยู่ในช่วงวัยที่ระบบต่างๆในร่างกายยังมีพัฒนาการ

การจะให้วัคซีนใดๆ จึงต้องมีการคำนวณขนาดยาที่จะฉีดให้เหมาะสม รวมถึงมีการติดตามผลข้างเคียงในระยะยาว ในขณะที่โควิดระบาดรุนแรงแบบนี้ การจะรอให้ศึกษาผลข้างเคียง ผลแทรกซ้อนต่างๆ ในเด็ก จึงอาจจะไม่ทันการณ์กัน นี่จึงเป็นที่มีของการที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศ เริ่มตัดสินใจให้เด็กๆ ได้รับวัคซีนในที่สุด

3. สำหรับในไทย ตอนนี้มีวัคซีนไฟเซอร์เพียงตัวเดียวเท่านั้น ที่ผ่านการอนุมัติรับรองโดยองค์การอาหารและยา ให้สามารถฉีดใช้ได้กับกลุ่มเด็ก ส่วน Sinopharm นั้น จนถึงวันนี้ที่เขียนบทความ (18 กันยายน 2564 ยังไม่ได้รับการอนุมัติโดย อย. ให้ใช้ในเด็กครับ

4. สำหรับประสบการณ์การฉีดวัคซีนให้กับเด็กๆ หลายประเทศมีการฉีดไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12-18 ปีไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี และฮ่องกง

5. จากการเก็บรวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีน mRNA ในกลุ่มเด็ก ที่พบว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ มีตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงมาก ผลข้างเคียงแบบรุนแรงคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือภาษาแพทย์เรียกว่า Myocarditis ซึ่งพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง อาการมักจะเกิดภายในสามสิบวันหลังรับวัคซีน  

* ข้อมูลจาก CDC หรือศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกาอาการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคือ มีใจสั่น ใจเต้นแรง เจ็บแน่นหน้าอก ส่วนมากหายไปได้เอง แต่บางรายอาจต้องแอดมิดเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาล

ตัวเลขในสหรัฐอเมริกา พบว่าฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก 1 ล้านคน พบมีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ 60 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทางการแพทย์ยอมรับได้ เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงในการเกิดโรคโควิด

6. ในประเทศไทยมีการฉีดไฟเซอร์ให้เด็กอายุระหว่าง 12-18 ปี ที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงไปบ้างแล้ว (ผมไม่มีตัวเลขว่าฉีดไปแล้วกี่ราย / update เวลา 19.55 น. วันที่ 18 กันยายน มีเด็กๆ ฉีดไปแล้ว 860,000 รายครับ ขอบคุณข้อมูลจากคุณ Chanchai Janekokiattikun)

เด็กที่ฉีดไปทั้งหมด พบมีผลข้างเคียงที่รุนแรง 1 ราย เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น้องมีโรคอ้วนเป็นปัจจัยร่วม และขณะนี้ได้รับการรักษาจนปลอดภัยแล้ว

7. ขณะนี้มีวัคซีนสำหรับเด็กที่ อย.อนุญาตให้ใช้คือไฟเซอร์ สำหรับผู้ปกครองที่กังวลใจ ไม่อยากให้ลูกหลานฉีดวัคซีนในกลุ่ม mRNA สามารถเลือกไปใช้วัคซีนกลุ่มเชื้อตาย คือ sinopharm ที่บริจาคให้โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้

8. โครงการฉีด Sinopharm ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชื่อว่า “โครงการ VACC2 School” เป็นการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 10-18 ปี โดยถือว่าเป็นกลุ่มทดลองเพื่อการศึกษาและติดตามผลของวัคซีน ซึ่งโครงการคาดว่าจะสามารถทำให้เด็กๆ กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว ก่อนโรงเรียนจะเปิดภาคเรียนใหม่ครับ

9. อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนในเด็กนั้น ศบค. เน้นย้ำว่าไม่ใช่การบังคับ เด็กๆ ที่ไม่อยากฉีดก็สามารถเลือกที่จะไม่ฉีดได้ และไม่เกี่ยวข้องกับการกลับเข้าชั้นเรียน หมายความว่า ถึงไม่ฉีดก็ยังกลับไปเรียนได้ตามปกติ แต่อาจจะมีความเสี่ยงกว่ากลุ่มเด็กๆ ที่ฉีดวัคซีนครับ

10. อย่างไรก็ตาม วัคซีนไม่ได้ทำให้เด็กๆไม่ติดโควิด แต่จะช่วยลดความรุนแรงลง ถ้าเด็กๆ มีการติดเชื้อ และที่สำคัญ ถึงฉีดวัคซีนไปแล้ว เด็กๆ ก็ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่างทางสังคมอยู่เหมือนเดิม

  • ถ้าไม่ฉีดวัคซีนควรปฎิบัติตัวอย่างไร?

การติดเชื้อในเด็กพบเจอได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่ แต่แนวโน้มจะสามารถเพิ่มขึ้นได้หากเชื้อไวรัสเกิดการระบาดรุนแรงขึ้นในอนาคต หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่ยากต่อการป้องกัน กรณีอาการรุนแรงมักพบในการติดเชื้อของเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12-18 ปีลงไปพบว่ามีโอกาสเกิดอาการรุนแรงน้อย

 

เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ในเด็กยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างละเอียด การป้องกันการติดเชื้อในเด็กจึงเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อสู่เด็ก ผู้ปกครองควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ให้ครบโดส และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของเด็ก ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงความเสี่ยงการติดเชื้อ : ไม่พาเด็กเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ชุมชนแออัด สวมหน้ากากอนามัย และให้ล้างมือบ่อย ๆ หลังสัมผัสกับวัตถุ
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง : ส่งเสริมสุขภาพให้เด็กอย่างเหมาะสมทั้งเวลาการพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่
  • ฉีดวัคซีนอื่นเสริมการป้องกันทางอ้อม : ควรให้เด็กเข้ารับวัคซีนตามกำหนดของช่วงอายุ ร่วมกับวัคซีนที่มีส่วนช่วยลดผลข้างเคียงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ

อ้างอิง : รพ.เพชรเวช ,นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ,กระทรวงศึกษาธิการ , กระทรวงสาธารณสุข