ททท. ซักซ้อม เปิดประเทศ รุกเจาะ ‘ตลาดชาติเสี่ยงต่ำ’

ททท. ซักซ้อม เปิดประเทศ  รุกเจาะ ‘ตลาดชาติเสี่ยงต่ำ’

“ททท.” เดินสายเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก 1 พ.ย. เปิดกว้างทุกประเทศเที่ยวไทย แต่เงื่อนไขต่างกัน วางโรดแมพบลูโซน รับประเทศเสี่ยงระดับกลาง ขณะ "ประเทศเสี่ยงต่ำ" ฉีดวัคซีนครบโดส ผลตรวจโควิดเป็นลบ ไม่ต้องกักตัว เที่ยวได้ทั่วไทย ไม่จำกัดพื้นที่

คาดอีก 2 วัน “ศบค.” เคาะรายชื่อประเทศเสี่ยงต่ำ พร้อมอัพเดททุก 1-2 สัปดาห์ตามสถานการณ์ 

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา เรื่อง “เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” เริ่มรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศที่มีความเสี่ยงระดับต่ำ โดยได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และต้องมีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง มาเที่ยวประเทศไทยแบบ "ไม่ต้องกักตัว"

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงเร่งเตรียมความพร้อม ซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยวานนี้ (14 ต.ค.) ได้บรรยายพิเศษในที่ประชุมสมาชิกของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ประจำเดือน ต.ค.2564 ผ่านช่องทาง Zoom เกี่ยวกับแนวทางการรับนักท่องเที่ยวเข้าราชอาณาจักรแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ในการท่องเที่ยวตามแถลงการณ์ของนายกฯ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะประกาศรายชื่อ “ประเทศความเสี่ยงต่ำ” ภายในไม่เกิน 1-2 วันนี้ ส่วนจะมีกี่ประเทศ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ ทั้งนี้จะมีการรีวิวรายชื่อประเทศความเสี่ยงต่ำอยู่ตลอดทุก  1-2 สัปดาห์เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

“ประเทศไทยยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทุกประเทศทั่วโลก แต่จะมีเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของประเทศต้นทาง และการฉีดวัคซีนครบหรือไม่ครบโดสของนักท่องเที่ยว”

  • ย้ำ 3 แนวทางเปิดรับทัวริสต์ทั่วโลก

โดย ททท.ได้เน้นย้ำ 3 แนวทางการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยแบบ “ไม่กักตัว” และ “ไม่จำกัดพื้นที่” จะต้องเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศความเสี่ยงต่ำที่กำหนด กรณีเดินทางมาจากประเทศอื่น ให้พำนักในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วันก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย โดยจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ไม่พบเชื้อ สามารถเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยได้ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวเดินทางมาจากประเทศความเสี่ยงต่ำ จะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานรับรองการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนด ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด หรือกรณีเคยติดเชื้อและได้รับวัคซีน 1 เข็มในช่วง 3 เดือนหลังติดเชื้อ (เป็นประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบว่าใบรับรองการติดเชื้อแบบเป็นทางการ) เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนออกเดินทาง ยกเว้นผู้มีอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีน และเดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครอง

นอกจากนี้ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่พบเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง กรณีตรวจพบการติดเชื้อ ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าเคยติดเชื้อมาก่อนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีใบจองที่พัก อาจเป็นสถานกักกันที่ทางราชการกำหนด (AQ, OQ, AHQ) หรือโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ ที่มีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการสำหรับตรวจหาเชื้อในวันแรกที่มาถึง โดยรวมค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR

เมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยาน ให้นักท่องเที่ยวโหลดแอพพลิเคชันที่กำหนด “หมอชนะ” (ภาษาอังกฤษ) เดินทางโดยรถที่จัดไว้ เช่น รถจากโรงแรม โดยมีการกำกับการเดินทาง เพื่อเข้าพักตามโรงแรมที่จองไว้ และทางโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ในวันที่ 0-1 ซึ่งผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง และต้องอยู่ในโรงแรมจนได้รับผลการตรวจอย่างเป็นทางการ

และเมื่อผลการตรวจหาเชื้อ “ไม่พบเชื้อ” นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้ตามความต้องการ โรงแรมแนะนำให้สังเกตอาการอย่างน้อย 7 วัน หากมีอาการ ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อจากโรงพยาบาลใกล้ที่พัก หรือตรวจ ATK ที่โรงแรม หากพบเชื้อ ให้รายงานเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่

 

  • กางเงื่อนไข“บลูโซน”

แนวทางที่ 2 นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และมีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่พบเชื้อ แต่เดินทางมาจากประเทศความเสี่ยงระดับกลางขึ้นไป ต้องอยู่ในพื้นที่ “บลูโซน” หรือพื้นที่สีฟ้านำร่องการท่องเที่ยว อย่างน้อย 7 วันก่อนไปเที่ยวพื้นที่อื่นในไทย และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวนครั้งขึ้นกับไทม์ไลน์แต่ละระยะ

“การเปิดพื้นที่บลูโซนถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสร้างแรงจูงใจแก่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคต่างจากมาตรการตามระดับของ ศบค. และสามารถกำหนดหรือปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคให้เป็นไปตามระดับการจัดการตามพื้นที่เฝ้าระวังได้เอง โดยสามารถเปิดกิจกรรมได้ทุกประเภท ยกเว้นสถานบริการ สถานบันเทิง และสถานบริการอื่นในลักษณะคล้ายกันที่ยังไม่อนุญาตให้เปิด รวมถึงห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 500 คน"

สำหรับไทม์ไลน์การเปิดบลูโซน แบ่งออกเป็น 4 ระยะตามที่ ศบค.ประกาศก่อนหน้านี้ ได้แก่ ระยะนำร่อง (1-31 ต.ค.64) 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) และกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล) โดยมีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง

 

  • ปี 65 เปิด 12 จังหวัดติดเพื่อนบ้าน

ระยะที่ 1 (1-30 พ.ย.2564) เปิดอีก 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ (สนามบินสุวรรณภูมิ) กระบี่ (ทั้งจังหวัด) พังงา (ทั้งจังหวัด) ประจวบคีรีขันธ์ (ต.หัวหิน ต.หนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่ เกาะสีชัง อ.ศรีราชา) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อ.เมืองฯ อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) บุรีรัมย์ (อ.เมืองฯ) หนองคาย (อ.เมืองฯ อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.สังคม) อุดรธานี (อ.เมืองฯ อ.นายูง อ.หนองหาน อ.ประจักษ์ศิลปาคม อ.กุมภวาปี อ.บ้านดุง) ระยอง (เกาะเสม็ด) และตราด (เกาะช้าง) รวมมี 17 จังหวัด โดยจะเสนอให้มีการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 แบบ RT-PCR และครั้งที่ 2 ATK ณ จุดที่กำหนด

ระยะที่ 2 (1-31 ธ.ค.2564) เปิดอีก 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส รวมมี 33 จังหวัด โดยจะเสนอให้มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 1 ครั้ง

ระยะที่ 3 (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) เปิดอีก 12 จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล รวมมี 45 จังหวัด โดยจะเสนอให้มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR หรือ ATK 1 ครั้ง

 

  • เร่งกดยอดผู้ติดเชื้อ ‘บลูโซน’

อย่างไรก็ตาม การเปิดพื้นที่บลูโซน จะเปิดได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับความพร้อมด้านสถานการณ์ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นได้เกิน 70% ซึ่งเน้นไปที่ประชาชนกลุ่ม 608 หรือกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงความพร้อมด้านสาธารณสุข อัตราการครองเตียงเหลืองแดงต้องไม่เกิน 80% สัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะต้องไม่เกิน 5-10 คน ต่อจำนวนประชากร 1 แสนคนต่อวัน ทำให้หลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเงื่อนไข หรือพบการระบาดซ้ำของโควิด-19 อีกครั้ง จะต้องจัดการกดตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อให้ลดลง และฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ เนื่องจากให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของคนในพื้นที่เป็นหลัก จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดทุกจังหวัดตามแผนให้ได้ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ แต่หากจังหวัดใดที่มีความพร้อมก็สามารถดำเนินการเปิดได้ก่อน

ส่วนแนวทางที่ 3 นักท่องเที่ยวที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบโดส สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้เช่นกัน แต่ต้องกักตัวในสถานกักกันโรคที่รัฐบาลจัดสรรไว้ โดยหากเดินทางทางอากาศ ต้องกักตัว 10 วัน เดินทางทางบก ต้องกักตัว 14 วัน

 

  • ยัน 1 พ.ย. ขั้นตอนขอเข้าไทยง่ายขึ้น

ผู้ว่าการ ททท. กล่าวด้วยว่า ส่วนการยกเลิกขั้นตอนการขอใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทย (COE) ที่ได้รับเสียงร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติว่ามีขั้นตอนยุ่งยากนั้น จะยกเลิกได้ก็ต่อเมื่อ พรก.ฉุกเฉิน ถูกยกเลิกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไป ททท.ได้รับการยืนยันมาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการของ COE ที่ง่ายขึ้น และถ้าหากมีการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ก็จะมีการยกเลิก COE ไปเป็นรูปแบบอื่นที่ง่ายขึ้นเช่นกัน โดยทุกขั้นตอนจะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนนักท่องเที่ยวขึ้นเครื่องบินออกจากประเทศต้นทาง ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากสายการบินต่างๆ ช่วยตรวจสอบเอกสารที่จำเป็น เพื่อลดความแออัดที่สนามบิน