"สปสช." เขต 8 อุดรธานี ชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงรับ "ATK" ตรวจโควิด

"สปสช." เขต 8 อุดรธานี ชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงรับ "ATK" ตรวจโควิด

"สปสช." เขต 8 อุดรธานี ชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงรับ "ATK" ตรวจโควิดด้วยตัวเอง ควบคุมป้องกันโรค ทราบผลเร็ว เข้าระบบการรักษาเร็ว ลดโอกาสแพร่เชื้อมากขึ้น พร้อมจับมือ สสจ.อุดรธานี ตั้งจุดกระจายตามห้างสรรพสินค้าและสถานที่ราชการ

ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ เขต 8 อุดรธานี กล่าวถึงความคืบหน้าการกระจายชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) แบบ Self-test สำหรับให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงนำกลับไปตรวจโควิดด้วยตัวเอง โดยระบุว่า พื้นที่ สปสช.เขต 8 ซึ่งมี 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุดรธานี จ.สกลนคร จ.นครพนม จ.เลย จ.หนองบัวลำภู จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ ได้รับจัดสรร ATK เป็นจำนวน 464,700 ชุด

 

ซึ่ง สปสช. เขต 8 ได้ร่วมมือกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัดในการจัดสรรไปให้หน่วยบริการในพื้นที่ โดยจะส่งไปที่โรงพยาบาลชุมชนก่อน จากนั้นโรงพยาบาลชุมชนจะวางแผนการกระจายต่อในรูปแบบต่างๆ เช่น ให้ประชาชนมารับที่โรงพยาบาล ส่งไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือให้ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เดินแจกกลุ่มเสี่ยงตามบ้าน ขณะเดียวกันหากเป็นพื้นที่เขตเมืองก็จะกระจายบางไปที่ร้านขายยา รวมถึงคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ร่วมมือกับ สปสช. แจก ชุดตรวจ ATK ในพื้นที่

 

ทพ.กวี กล่าวว่า สปสช.เขต 8 เริ่มกระจาย ATK ประมาณ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลข ณ วันที่ 13 ต.ค. 2564 กระจายไปแล้ว 25,428 ชุด ถือว่ายังไม่มากนัก โดยจังหวัดที่แจกไปมากที่สุดคือ จ.อุดรธานี ประมาณ 8,950 ชุด ด้วยเหตุนี้จึงอยากประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงให้เข้ามารับ ATK เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้มากขึ้น เพราะนอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การตรวจคัดกรองด้วย ATK จะเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการควบคุมป้องกันโรค เมื่อทราบผลได้เร็วก็จะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้เร็ว ลดโอกาสในการแพร่เชื้อแก่คนอื่นได้มากขึ้น

 

"สปสช." เขต 8 อุดรธานี ชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงรับ "ATK" ตรวจโควิด

ทพ.กวี กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนที่รับชุดตรวจไปแล้วนั้น ขณะนี้มีการรายงานผลตรวจกลับมาและพบว่ามีผู้มีผลตรวจเป็นบวกจำนวน 23 ราย ซึ่งสำหรับคนที่ผลตรวจเป็นบวกนั้น แต่ละจังหวัดจะมีหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ให้โทรแจ้ง จากนั้นแต่ละจังหวัดจะมีมาตรการรองรับ เช่น เข้า Home Isolation บางจังหวัดเข้า Community Isolation หรือเข้าโรงพยาบาลสนาม ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละพื้นที่ เช่น จังหวัดอุดรธานีมีศูนย์ บขส. ที่จะจัดส่งรถไปรับตัวผู้ติดเชื้อเลยโดยไม่ต้องให้ผู้ติดเชื้อเดินทางเอง 

 

“เราไม่ได้ใช้วิธีให้โทรหาหน่วยบริการที่แจก ATK เพราะบางครั้งผู้ติดเชื้ออาจมารับชุดตรวจจากในเมืองกลับไปตรวจที่บ้านในต่างอำเภอ หากมีผลเป็นบวกก็ไม่อยากให้ต้องเดินทาง จึงใช้วิธีให้โทรเข้าคอลเซ็นเตอร์แทน”ทพ.กวี กล่าว

 

ทพ.กวี กล่าวอีกว่า นอกจากการกระจาย ATK ตามระบบปกติโดยหน่วยโรงพยาบาลแล้ว แต่พบว่ายังมีปัญหาบางส่วน เช่น แพทย์และพยาบาลเหนื่อยล้าจากควบคุมการระบาดและรักษาโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนมากจึงตั้งรับให้ประชาชนมารับที่โรงพยาบาล ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่อยากเดินทางไปโรงพยาบาล

 

อีกส่วนหนึ่ง คือ ประชาชนบางส่วนไม่มีแอปพลิเคชันเป๋าตังหรือใช้ไม่เป็น และในส่วนของโรงพยาบาล ด้วยความที่เป็นหน่วยงานรัฐทำให้ติดขัดในการลงทะเบียนแอปฯถุงเงิน บางครั้งเจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องโทรศัพท์ส่วนตัวแทนแล้วใช้วิธีแจ้งทางธนาคารกรุงไทยให้ทราบว่าเป็นการแจกของหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงก็ยังไม่ค่อยตื่นตัวในการเข้ามารับ ATK

 

"สปสช." เขต 8 อุดรธานี ชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงรับ "ATK" ตรวจโควิด

ด้วยเหตุนี้ สปสช.เขต 8 ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใน จ.อุดรธานี จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี นำ ATK ไปกระจายตามจุดต่างๆ นอกเหนือจากโรงพยาบาลตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชนที่ไม่สามารถเดินทางมารับที่โรงพยาบาลได้ โดยเริ่มจากการตั้งจุดกระจายที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลอุดรธานี จากนั้นก็ขยับไปตั้งที่สำนักงานไปรษณีย์จังหวัดอุดรธานี จากนั้นไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานี รวมทั้งยังมีอีกหลายพื้นที่ในเร็วๆนี้ ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้ทำให้เข้าถึงประชาชนหลากหลายกลุ่มมากขึ้น

 

ขณะเดียวกัน แนวทางการดำเนินงานในขั้นต่อไป สปสช. เขต 8 จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงรับทราบและเข้ามารับชุดตรวจฟรี ซึ่งหากประชาชนตื่นตัว คาดว่าใน 1 เดือนน่าจะกระจายได้หมด 

 

นอกจากนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. ส่วนกลางยังมีนโยบายให้ สปสช.เขตพื้นที่ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ ทุกแห่งให้พิจารณาจัดทำโครงการจัดซื้อ ATK เพื่อแจกประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง และกระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มีนโยบายจะวางแผนกระจายชุดตรวจให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เช่น อาจสนับสนุนให้ราคาถูกลง กระจายจุดขายนอกจากร้านขายยาไปยังร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น ทำให้ประชาชนเข้าถึง ATK ตรวจเชื้อโควิดด้วยตัวเองได้โดยทั่วถึง จึงเชื่อได้ว่าประเทศของเราจะหยุดภัยโควิดได้ในเร็วๆ นี้

 

ทั้งนี้ ข้อมูลเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เวลา 13.05 น. ทั่วประเทศมีประชาชนเข้ามารับชุดตรวจ ATK ไปแล้วทั้งสิ้น 916,910 ชุด โดยเป็นการจ่าย ATK ให้กับประชาชนรวม 438,881 ราย และได้มีการบันทึกผลการตรวจแล้ว 180,679 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของผู้ที่ได้รับ ATK โดยมีรายงานพบผลเป็นบวกจำนวน 2,327 ราย

 

"สปสช." เขต 8 อุดรธานี ชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงรับ "ATK" ตรวจโควิด