กรมวิทย์ฯเผยไทยยังเจอโควิด-19แค่ 3 สายพันธุ์

กรมวิทย์ฯเผยไทยยังเจอโควิด-19แค่ 3 สายพันธุ์

กรมวิทย์ฯเผยไทยยังเจอโควิด-19แค่ 3 สายพันธุ์ ปรับเพิ่มตรวจรหัสพันธุกรรม 450 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ ยืนยัน ATK เจอผลลบลวง ไม่ได้เกิดจากคุณภาพชุดตรวจยี่ห้อนั้นๆ เป็นข้อจำกัดโดยทั่วไปของ ATK อยู่แล้ว

   เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 11 ต.ค.2564 ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมได้มีการตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจากการตรวจกว่า 500 ตัวอย่างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบภาพรวมทั้งประเทศสายพันธ์ุที่ครองพื้นที่ระบาดมากสุด 97.5 %คือสายพันธุ์เดลตา  ส่วนสายพันธุ์อัลฟา 2.2 %  ส่วนสายพันธุ์เบต้า มีเพียง 0.3%และยังอยู่เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น เนื่องจากเบต้าอำนาจในการแพร่เชื้อไม่เร็ว สัปดาห์ที่แล้วพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ ที่ จ.นราธิวาส และยะลา จังหวัดละ 1 รายเท่านั้น ส่วนภาพรวมเฉพาะภาคใต้เองเชื้อหลักที่ระบาด 70 % ก็คือเชื้อเดลต้าเหมือนกัน ส่วนสายพันธุ์อื่นๆยังไม่พบ เช่น มิว เป็นต้น

     “การตรวจเชื้อในภาคใต้ยังน้อยไปเมื่อเทียบกับสถานการณ์ระบาดปัจจุบัน จึงได้ประสานประสานจังหวัดชายแดนใต้ ตรวจหาเชื้อเพิ่ม เพื่อดูสัดส่วนสายพันธุ์ในภาคใต้แต่ละจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพื่อให้คาดสถานการณ์ได้ถูก เพราะหากเป็นพบว่าสายพันธุ์เบต้าเพิ่มขึ้นก็จะมีปัญหาเรื่องดื้อวัคซีนได้”นพ.ศุภกิจกล่าว

  นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า   กรณีที่สหราชอาณาจักร ปลดไทยออกจากบัญชีแดง พื้นที่เสี่ยงสูงจากสถานกาณณ์โควิดที่ไม่สามารถเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรได้ ยกเว้นผู้ได้รับอนุญาตหรือมีสิทธิพำนักในสหราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้ามองว่าไทยรายงานข้อมูลการตรวจสายพันธุ์ในประเทศเข้าระบบ GISAID ไม่เพียงพอ ได้ชี้แจงไปว่าไทยดำเนินการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมต่อเนื่องแต่เมื่อก่อนหน้านี้ไม่ได้อัพข้อมูลเข้าระบบ GISAID ทันทีเนื่องจากต้องสอบทานข้อมูลโดยไม่ได้สนใจเรื่องเวลา จึงอัพไปได้เพียง 170 ราย ซึ่งทางสหราชอาณาจักรขอให้อัพข้อมูลให้สม่ำเสมอ ไทยจึงปรับเป็นรายงานให้ทุกสัปดาห์ โดยปรับฐานการตรวจตัวอย่างเพิ่มเป็น 450 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ มากกว่าจำนวนที่ควรตรวจตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่คิดจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่ไทยควรตรวจเพียง 130 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ก็เพียงพอ

      “ผลการปรับการรายงานช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาทำให้ล่าสุดไทยรายงานผลตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมเข้าระบบ GISAID แล้วกว่า 4,000 ตัวอย่างและจะมากขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนี้  นอกจากนี้เพื่อความโปร่งใส ขจัดข้อสงสัยว่ามีการปกปิดข้อมูลยังได้นำข้อมูลผลตรวจนี้อัพขึ้นเว็บไซต์ของศูนย์จีโนมทงการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และเว็บไซต์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เอง ทำให้สหราชอาณาจักรพอใจ และปลดไทยออกจากบัญชีแดงในครั้งนี้”นพ.ศุภกิจกล่าว     

       นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงกรณีมีการพูดกันถึงประสิทธิภาพชุดตรวจ ATK ที่รัฐบาลแจกฟรีให้ประชาชนตรวจด้วยตนเองว่าให้ผลลบลวงมาก จนไม่มั่นใจในการใช้นั้น ยืนยันการที่มีผลลบลวงไม่ได้เกิดจากคุณภาพชุดตรวจยี่ห้อนั้นๆ แต่เป็นข้อจำกัดโดยทั่วไปของ ATK อยู่แล้ว ที่ความไวในการตรวจน้อยกว่าการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้ว หากแยงจมูกเองไม่กล้าแยงลึกให้ได้ระดับ ไม่กล้าปั่นวนตามข้อแนะนำการใช้ ใส่น้ำยาน้อยเกินไป หรือตรวจในเวลาที่ปริมาณเชื้อน้อย คือตรวจเร็วไปเชื้อยังไม่มาก หรือนานไปจนเชื้อเหลือแต่ซาก ATK ก็จะตรวจไม่เจอ ไม่เหมือนกับ RT-PCR ที่ตรวจได้แม้ปริมาณเชื้อน้อย หรือซากเชื้อ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ข้อแนะนำการใช้ ATK ต้องให้ตรวจซ้ำอีกใน 3-5 วันหลังจากที่ครั้งแรกให้ผลเป็นลบ ดังนั้นไม่มีชุดตรวจเทพ ชุดตรวจมารอะไรทั้งนั้น แต่เป็นข้อจำกัดความไว ขอให้เข้าใจตรงกัน ชุดตรวจที่รัฐแจกให้จึงยังใช้ได้ในการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด 19

        ด้านนพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ชุดตรวจ ATK ให้พบเชื้อ คือ ควรใช้ในตอนที่เริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ อย่างไรก็ตาม การที่คนไปฉีดวัคซีนมีอัตราครอบคลุมสูงขึ้น ทำให้เมื่อติดเชื้ออาการจึงน้อยลง และมีปริมาณเชื้อน้อย เป็นอีกสาเหตุที่การตรวจด้วย ATK เจอผลบวกน้อยลง