สิ่งที่จะหยุด"โควิดภาคใต้"ได้ ก่อนที่จะต้องถึงขั้น “ล็อกดาวน์"

สิ่งที่จะหยุด"โควิดภาคใต้"ได้ ก่อนที่จะต้องถึงขั้น “ล็อกดาวน์"

ขณะที่ทิศทางโควิด-19ประเทศไทย มีแนวโน้มลดลง แต่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับพุ่งขึ้น กำลังซ้ำรอยการระบาดแบบในกทม.ก่อนหน้านี้ และหากยังเอาไม่อยู่ เป็นไปได้มากที่จะต้องล็อกดาวน์

ภาพรวมโควิด-19ประเทศ

      วันที่ 10 ต.ค. 2564 ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดโควิด-19รายใหม่ 10,817 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 84 คน ในจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ แยกเป็นพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 2,061 ราย 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2,332 ราย จังหวัดอื่นๆ 67 จังหวัด 6,311 ราย และเรือนจำและที่ต้องขัง 50 ราย

     “ภาพรวมทิศทางสถานการณ์โควิด-19ของประเทศแนวโน้มลดลง ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลค่อยๆ ลดลงตามลำดับต่ำลงมาเรื่อยๆซึ่งพื้นที่กทม.ค่อนข้างปลอดภัย ในระดับที่ควบคุมได้ ส่วนต่างจังหวัดขณะนี้ทรงตัว มีแนวโน้มอาจจะเพิ่มขึ้นได้ เมื่อแยกออกมาพบในพื้นที่ชายแดนใต้ กำลังเพิ่มขึ้นตามลำดับ ส่วนต่างจังหวัดอื่นสถานการณ์ดีขึ้น อัตราลดลงช้าๆ  อยู่ในการควบคุม”นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564

     นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ถ้าทำได้ตามที่วางแผนการให้วัคซีนโควิด-19 โดยมีวัคซีนเพียงพอ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมาฉีดวัคซีน เท่ากับเมื่อสิ้นธ.ค.เกือบทุกคนในประเทศไทยจะได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ส่วนเข็ม 3 จะค่อยๆเพิ่มต่อไป  หากการดำเนินงานเป็นไปตามแผน คาดว่าในวันที่ 1 ม.ค.65 สถานการณ์จะคลี่คลายได้มาก การดำเนินชีวิตต่างๆ ก็คงกลับมาอยู่ในรูปแบบปกติ แบบวิถีใหม่(New normal) ต่อไป และกลางปี 2565 โรคโควิด-19อาจจะสงบลงหลังระบาดมา 2 ปีกว่าแล้ว

อ่านข่าว : โควิดภาคใต้ยังไม่ถึงจุดพีค สธ.เพิ่มเตียงไอซียูรองรับเกือบ 200  

โควิดภาคใต้ติดเชื้อสัดส่วน 1 ใน 5   

     ทว่า ในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับไม่ได้เป็นเหมือนภาพรวมประเทศ แต่กำลังสวนทาง พบการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากในแต่ละวัน นพ.เกียริตภูมิ กล่าวว่า โควิด-19ในพื้นที่ชายแดนใต้พบ 3 สายพันธุ์ มีเบตา อัลฟา และเดลตา อย่างไรก็ตาม ภาคใต้ระบบการดูแลรักษายังพอเพียง มีโรงพยาบาลสนาม 1.8-1.9 พันเตียง คนอยู่ประมาณ 50-60% แต่ก็บอกว่าอย่าประมาท อย่าเพิ่งดีใจ เพราะตอนกรุงเทพฯ ที่เปิดรพ.บุษราคัม ตอนนั้นกทม.ติดกว่าพันคนต่อวัน แต่เปิดได้ 1 สัปดาห์เพิ่มขึ้นมาก

       เมื่อวันที่ 8 ต.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19  โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งตอนนี้ยังมีการระบาดของโรคมาก อัตราการติดเชื้อต่อวันอยู่ที่ 20 % หรือ 1 ใน 5 ของการติดเชื้อทั้งประเทศ ดังนั้นจึงได้มีการจัดส่งวัคซีนลงไปเพิ่มเติม และจะระดมฉีดสัปดาห์หน้า ประกอบกับการเฝ้าระวัง สอบสวนควบคุมโรคใจจุดระบาดอย่างเข้มข้น

       กรณีเป็นผู้ติดเชื้อก็แยกออกมารักษา คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็แยกกักตัว ตรวจหาเชื้อตามกำหนด อย่างไรก็ตาม ถ้าดูตามอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19ครอบคลุมประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่ายังมีความครอบคลุมสูง โดย กรณีผู้สูงอายุในจังหวัดสงขลา ได้รับเข็ม 1 แล้วคิดเป็น 65% ยะลา 56% นราธิวาส 50% และปัตตานี 48 % จึงน่าจะลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุลงได้ ส่วนกลุ่มอื่นๆ ยังคงต้องเร่งทยอยฉีดกันต่อเนื่อง

เอาไม่อยู่อาจล็อกดาวน์

        เมื่อถามว่าสถานการณ์โควิด-19ในภาคใต้ขณะนี้ถึงขั้นจำเป็นต้องล็อกดาวน์หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ได้ให้นโยบายไว้เหมือนกัน หากมาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ อาจต้องใช้มาตรการทางสังคมเข้าไปดำเนินการเพิ่มขึ้น 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการทางสังคมขั้นสูงสุด ที่ประเทศไทยนำมาใช้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล คือการล็อกดาวน์ทั้งพื้นที่ 

       และแม้ว่าขณะนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการล็อกดาวน์หมู่บ้าน ตำบล แต่หากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อาจจะต้องล็อกดาวน์ในระดับอำเภอ และจังหวัดต่อไป
แนวทางควบคุมโควิด-19ภาคใต้

     นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งยะลา สงขลา ปัตตานี ก็พบว่า ต้องมีมาตรการต่างๆเข้มมากขึ้น อย่างการส่งเสริมร้านอาหาร ร้านค้า หรือการดำเนินการต่างๆเกี่ยวกับ มาตรการโควิดปลอดภัย (Covid Free Setting) และการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) แม้จะไม่ได้บังคับ แต่เป็นการเชิญชวน เช่น การไปร้านอาหาร ร้านค้า หากไม่มีการทำ Covid Free Setting ประชาชนต้องช่วยกันทวงถาม เพื่อให้เกิดการตื่นตัว รวมถึง ต้องเร่งส่งเสริมให้เกิด Universal Prevention ซึ่งในพื้นที่ยังไม่ค่อยดำเนินการมากนัก

        สิ่งสำคัญจะต้องมีมาตรการต่างๆ ควบคู่กันเพื่อป้องกันโรคในพื้นที่ภาคใต้ให้ได้ โดยมีทั้งการส่งชุดตรวจ ATK ลงไปเพิ่มเติม ส่งยาฟาวิพิราเวียร์เข้าไป เนื่องจากพบว่ามีการใช้ยาเพียง 30% ทำให้อัตราการเสียชีวิตยังสูง  และแนะนำว่าต้องให้ยาใน 4 วันแรกเพราะได้ผลดีมาก ขณะนี้ส่งไปเพิ่มประมาณ 1 ล้านเม็ด และจะติดตามการดำเนินการควบคุมป้องกันโรคเพิ่มเติมกับทางผู้ตรวจราชการฯ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) อย่างใกล้ชิด ซึ่งน่าจะทำให้การติดเชื้อจะชะลอได้ ขณะเดียวกันยังได้ส่งวัคซีนป้องกันโควิดเข้าไปอีกเป็นแสนโดส ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และไฟเซอร์

     นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จะนำทีมเคลื่อนที่เร็ว CCRT เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ในชุมชน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 608 เร่งมาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีล(Bubble and seal) เคร่งมาตรการสังคม อาจต้องงดกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องประเมินอีกครั้ง รวมถึง บูรณาการมาตรการแยกกักที่บ้าน(Home isolation) ศูนย์แยกกุดชุมชน(Community isolation) และการตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท(ATK) นอกจากนี้ ได้มีการจัดส่งวัคซีนเพิ่มเติมกรณีเร่งด่วนเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งต้องใช้โมเดลของกรุงเทพฯ ที่เราทำแล้วได้ผลไปใช้กับภาคใต้  คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

เป้าลด 10 %ทุกสัปดาห์

   ด้านนพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และผู้ตรวจฯเขตสุขภาพที่ 12  ซึ่งดูแลพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กล่าวว่า  เขตสุขภาพที่ 12 ได้เป้าหมายในการลดอัตราการติดเชื้อให้ได้ 10% ทุกสัปดาห์ และตั้งเป้าว่าสถานการณ์ต้องคลี่คลายก่อนปีใหม่ โดยมีทีม CCRT ทำเรื่องการตรวจคัดกรอง เจอผู้ป่วยก็นำเข้าสู่ระบบการรักษา เดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19ให้มีความครอบคลุมสูง

      รวมถึงความครอบคลุมวัคซีนจะมีมากขึ้น  ที่สำคัญคือการสร้างความรู้ ทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือกับคนในพื้นที่ เพราะยังมีความกังวลเนื่องจากเดือนต.ค.นี้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ต้องติดตามกำกับอย่างเข้มข้น เช่น งานศพ  งานบุญ กิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ที่เป็นการรวมกลุ่มของคนในพื้นที่

       ผู้สื่อข่าวถามถึงการข้ามแดนผิดกฎหมาย นพ.สุเทพ กล่าวว่า ยังเจอบ้าง แต่ก็มีการตั้งด่านตรวจสอบ และเฝ้าระวังการลักลอบต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาจากการตรวจสอบ ติดตาม พบว่าคนที่เข้าเมืองมาแบบถูกกฎหมายและเข้าระบบกักตัวนั้นตรวจพบการติดเชื้อประมาณ  30% ส่วนคนที่ลักลอบเข้ามา พอตามตัวและตรวจเจอเชื้อประมาณ 9%  ซึ่งปัจจุบันลักลอบเข้ามาสัปดาห์ละประมาณ 100-200 คน ก็มีการตามตัวกลับมาเฝ้าระวังที่สถานกักตัวในพื้นที่(Local Quarantine)