อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น หลังฉีด"วัคซีนไฟเซอร์"นักเรียนแล้ว 1.5 แสนคน

อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น หลังฉีด"วัคซีนไฟเซอร์"นักเรียนแล้ว 1.5 แสนคน

สธ.เผยอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์นักเรียนแล้ว 1.5 แสนคน ส่วนเด็กชายอายุ16ปีขึ้นไปฉีด 2 เข็มได้ ต่ำกว่า 16 ปีฉีดเข็มเดียวรอประเมินสัปดาห์หน้า แนะจุดฉีดในร.ร.เปิดเพลงสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ช่วยลดความกังวลนักเรียน เผยไทยเตรียมออกวัคซีนสูตรไขว้ใหม่

      เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ต.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า   วัคซีนไฟเซอร์ล็อตที่ 2 จากการสั่งซื้อส่งมอบเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมาจำนวน 1.5 ล้านโดส ผ่านการตรวจรับรองคุณภาพและความปลอดภัยจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เรียบร้อยแล้ว เตรียมทยอยกระจายไปรพ.ภูมิภาคทุกอำเภอภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อฉีดกลุ่มนักเรียนที่ผู้ปกครองแจ้งความประสงค์ให้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไว้ราว 4 ล้านคน 

      “ที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียว่าวัคซีนไม่พอ บางโรงเรียนต้องมีการจับสลากนั้น ขอยืนยันว่าวัคซีนไฟเซอร์มีการเตรียมไว้เพียงพอนักเรียนทุกคน โดยจะมีการทยอยส่งมอบเป็นงวด   โดยในล็อตแรกทยอยส่ง 40 % ของนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนแต่ละพื้นที่ และจะมีการส่งอีกเป็นงวดๆ เพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน จากนั้นเว้น 3-4 สัปดาห์จึงมารับวัคซีนเข็ม 2 ก็มีการวางแผนเตรียมไว้เช่นกัน”นพ.โสภณกล่าว 

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีนในนักเรียน/นักศึกษาอายุ 12-17 ปีทั่วไปเริ่มเมื่อวันที่ 4 ต.ค.นั้น ฉีดสะสมแล้ว  150,190 คน คิดเป็น 3.3 %ของเป้าหมาย 4.5 ล้านคน   ซึ่งผู้ที่รับวัคซีนไฟเซอร์หากเป็นกลุ่มที่อายุน้อยจะต้องมีการเฝ้าระวัง ดังนั้น นักเรียน/นักศึกษาที่รับวัคซีนแล้ว ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นอาการไม่พึงประสงค์ เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
      เช่น แน่นหน้าออก เจ็บหน้าอก หอบ เหนื่อยง่าย หมดสติ เป็นลม ใจสั่น ให้แจ้งผู้ปกครองหรือครู โดยที่ผ่านมาที่มีการฉีดในเด็กกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัวก่อนหน้านี้ พบ 3 รายแต่ได้รับการรักษาพยาบาลแล้วอาการที่ไม่ได้รุนแรง สามารถหายป่วยได้ถ้ารักษาถูกต้องและทันเวลา  ซึ่งไม่ใช่การฉีดวัคซีนในกลุ่มนักเรียน เพราะเริ่มฉีดวันที่ 4 ต.ค. ยังเร็วไป ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง

    ทั้งนี้ หลังจากมีการฉีดวัคซีนแล้ว 1.5 แสนคน และมีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์นั้น อาการที่พบขณะนี้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นในบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น เจ็บบริเวณที่ฉีด บวมร้อนบริเวณที่ได้รับวัคซีน บางกรณีเวียนศีรษะ เหมือนจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียนจำนวนไม่มาก เมื่อปฐมพยาบาลแล้วก็กลับเป็นปกติ

        “เป็นที่น่าสังเกตว่า บางครั้งเมื่อมีการฉีดวัคซีนรวมกันในโรงเรียน  เด็กจะมีความกลัว ทำให้เกิอการที่ต่อๆกัน ดังนั้นการจัดพื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีนทั้งในโรงเรียนและสถานที่สาธารณะ เช่น ในหอประชุม สนามกีฬา ควรจัดให้โปร่ง ไม่แออัด อาจจะเปิดเพลงให้ผ่อนคลาย ไม่ให้เครียดหรือกังวล  ขณะเดียวกันครูหรือบุคลการทางการแพทย์ ต้องให้ข้อมูล อธิบายถึงอาการที่อาจจะเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนหรืออากรที่มีโอกาสเกิดความรุนแรง ที่กังวลคืออาการที่เกี่ยวข้องกับกล้าเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ส่วนอาการ อื่นๆเล็กๆน้อยๆสามารถรักษาให้หายได้ ไม่ต้องกังวล”นพ.โสภณกล่าว 
      ผู้สื่อข่าวถามถึง การพิจารณาฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม2ในนักเรียนชาย นพ.โสภณ กล่าวว่า  กรณีที่เป็นเด็กผู้ชายและหญิงอายุ อายุ 16-18 ปี ให้ฉีด 2 เข็มปกติ  เด็กอายุ 12-ต่ำกว่า16 ปี หากเด็ก มีโรคประจำตัว ต้องฉีด 2 เข็ม เพราะถ้ามีโรคประจำตัวแล้วป่วยโควิด-19จะมีอาการรุนแรงได้  แต่กรณีเด็กชาย อายุ 12- ต่ำกว่า 16 ปี แข็งแรงดี จะต้องรอดูในสัปดาห์หน้าว่ามีอาการอะไรเกิดขึ้น เพราะมีการสังเกตอาการเฝ้าระวัง จะมีข้อมูลมากขึ้น เนื่องจากอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่กังวลจะเกิดในเด็กไทยเหมือนในต่างประเทศหรือไม่ โดยมีเด็กชายที่แจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ประมาณ 2 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของจำนวนนักเรียนเป้าหมาย  

       ผู้สื่อข่าวถามถึงการพิจารณาวัคซีนสูตรไขว้ ของอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน  นพ.โสภณ กล่าวว่า จะมีวัคซีนสูตรไขว้เพิ่มขึ้น แต่รายละเอียดจะแจ้งในวันจันทร์ที่ 11 ต.ค.2564 หลังเข้าสู่การพิจารณาของศูนย์EOC สธ.ที่มีนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ.เป็นประธานแล้ว

     ถามต่อถึงเหตุผลและความเป็นไปได้ที่จะมี วัคซีนสูตรไขว้ แอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์ นพ.โสภณ กล่าวว่า  ประเทศไทยจะมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์เข้ามามากในช่วง เดือน ต.ค.-ธ.ค. จึงต้องใช้วัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีดทั้ง จำนวนวัคซีนแอสตร้าฯ กับ ไฟเซอร์ ก็มีจำนวนมากพอๆกัน ส่วนซิโนแวคฉีดในเดือน ต.ค.นี้ก็คงหมด ส่วนผู้ที่ฉีดแอสฯ ครบ 2 เข็ม นั้น  ต่างประเทศ ก็ยังไม่มีการฉีดบูสเตอร์ ต้องรออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานกว่า ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็มด้วยซ้ำไป

       เมื่อถามว่าปริมาณวัคซีนในประเทศไทยมีเพียงพอ ทำไมต้องพิจารณาให้มีวัคซีนสูตรไขว้ นพ.โสภณ กล่าวว่า เพื่อทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้เร็ว โดยฉีดห่างกันราว 3-4 สัปดาห์ และขณะนี้ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ และอิตาลี ก็มีการฉีดวัคซีนสูตรไขว้นี้แล้วด้วย