รู้ก่อนประชุม COP26 กับ‘ทูตสหราชอาณาจักร’

รู้ก่อนประชุม COP26 กับ‘ทูตสหราชอาณาจักร’

ปี 2564 กำลังเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายในอีกไม่กี่วัน แต่โลกยังไม่พ้นเงื้อมเงาของวิกฤติโควิด-19 ซึ่งนี่ไม่ใช่วิกฤติเดียวที่มวลมนุษยชาติกำลังเผชิญ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกวิกฤติหนึ่งที่กระทบชีวิตประจำวันของทุกคน

ในโอกาสที่สหราชอาณาจักร (ยูเค) กำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ในเดือน พ.ย. 2564 “มาร์ค กูดดิง” เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจถึงการประชุมครั้งสำคัญ 

"ยูเคเฝ้ารอการเป็นเจ้าภาพ COP26 มากๆ ครับ เพราะสำหรับเรานี่ถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดัน โลกให้ร่วมกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเกิดจากมนุษย์และภาคธุรกิจสร้างความท้าทายใหญ่หลวงต่อมวลมนุษยชาติ" ทูตยูเคย้ำโดยอ้างถึงความตกลงปารีสที่ทำไว้เมื่อ 6 ปีก่อน ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) เห็นชอบควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส พร้อมๆ กับตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นควบคู่กันไปว่าจะพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน  1.5 องศาเซลเซียส 

“ซึ่งตามรายงานของ IPCC มนุษย์ทำให้โลกร้อนขึ้นแล้วราว 1.1 องศาเซลเซียส ถ้าเราไม่เร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างรวดเร็วเสียแต่ตอนนี้ ก็จะควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ตามเป้า 1.5 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อโลกย่อมรุนแรงมหาศาล ทั้งสภาพอากาศรุนแรง ภัยแล้ง น้ำท่วมที่รุนแรงขึ้น” 

“ซึ่งตามรายงานของไอพีซีซี มนุษย์ทำให้โลกร้อนขึ้นแล้วราว 1.1 องศาเซลเซียส ถ้าเราไม่เร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างรวดเร็วเสียแต่ตอนนี้ ก็จะควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ตามเป้า 1.5 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อโลกย่อมรุนแรงมหาศาล ทั้งสภาพอากาศรุนแรง ภัยแล้ง น้ำท่วมที่รุนแรงขึ้น” 

ในฐานะเจ้าภาพ  COP26 ยูเคมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ 

1) บรรลุข้อตกลงมาตรการลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา ส่งเสริมประเทศต่างๆ ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็น 0 ภายในกลางศตวรรษ (พ.ศ.2593) 

2) บรรลุข้อตกลงในการปรับตัวส่วนใหญ่เพื่อให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมรับมือได้ 

3) ระดมทุนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ ปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์โดยประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาปรับตัว 

4) ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ที่ไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่ยังมีภาคธุรกิจ เอ็นจีโอและอื่นๆ ร่วมด้วย

เมื่อถามว่าภาคส่วนใดสำคัญที่สุดในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แน่นอนว่าในทัศนะของทูตกูดดิ้ง รัฐบาลสำคัญในแง่ของการเป็นผู้กำหนดนโยบายและกฎหมาย

“พูดจริงๆ นะครับ ผมว่าเราทุกคนทั้งในไทยและยูเค ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะพวกเราต่างได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ  สิ่งที่เราเลือกในฐานะผู้บริโภค สิ่งที่เราซื้อ วิธีการที่เราเดินทางล้วนช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้” ทูตยูเคกล่าวและว่า ภาคธุรกิจมีผลในแง่ของการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีสร้างความยั่งยืน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนมีความสำคัญในแง่ของการทำงานวิจัย วิเคราะห์สถานการณ์ วัตถุประสงค์หลักอันหนึ่งของเราก็คือนำคนเหล่านี้มารวมกันที่กลาสโกว์เพื่อดำเนินการกับการเปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ในฐานะประชาชนคนธรรมดาปัญหาโลกร้อน หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิ (Net Zero) อาจดูห่างไกลจากวิถีชีวิต 

"ผมไม่คิดว่า Net Zero จะเป็นเรื่องไกลตัวประชาชนนะครับ รายงานไอพีซีซี  ระบุว่า ทุกประเทศต้องทำพันธกิจ   Net Zero ภายในกลางศตวรรษ  ซึ่งจะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ ถ้าเราไม่ทำผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วโลกย่อมร้ายแรงมาก โดยเฉพาะในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด  ไทยก็เป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุด เราได้เห็นระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อากาศรุนแรงสุดขั้ว น้ำท่วม ภัยแล้ง ที่ส่งผลใหญ่หลวงต่อประชาชน"

ทูตกูดดิงยกตัวอย่างการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ทุกคนสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน  

"ก็ดูนะครับว่าเราเปิดไฟทิ้งไว้มั้ย เปิดแอร์ทิ้งไว้มั้ย นี่คือสิ่งที่เราควบคุมได้ การเดินทางเราทำยังไง ใช้รถสาธารณะหรือเปล่า หรือใช้รถที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อย วิธีการจัดการขยะก็เหมือนกัน เราควรลดการสร้างขยะ  ขยะนั้นต้องนำไปรีไซเคิลได้ นี่คือสิ่งที่เราสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน" 

สำหรับแผนการแบ่งปันวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ในการลดโลกร้อนระหว่างรัฐบาลยูเคกับรัฐบาลไทย ทูตกูดดิงกล่าวว่า สองประเทศมีความร่วมมือกันมากมาย แต่ขณะนี้ให้ความสำคัญกับการเดินหน้าสู่ COP26 ก่อน 

ส่วนความร่วมมือระยะยาวระหว่างยูเคกับไทยมีทั้งเรื่องพลังงาน พลังงานในอนาคต ทรัพยากร การผลิตข้าว  ยานยนต์ไฟฟ้า การให้เงินทุนสู้โลกร้อน เป็นความร่วมมือกันมานานทั้งกับไทยและประเทศอื่นๆ เพื่อให้ความร่วมมือนี้เดินหน้าต่อไป 

เมื่อถามถึงโครงการใหญ่ๆ ในยูเคที่เน้นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ชนิดที่พอจะเป็นโมเดลให้ประเทศอื่นได้ ทูตได้เปรียบเทียบปัญหามลพิษในยูเคเมื่อครั้งอดีตกับปัจจุบัน

 "ยูเคให้ความสำคัญมาระยะหนึ่งแล้วครับ เมื่อคุณคิดถึงมลพิษทางอากาศในยูเค เดิมทีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมลพิษมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงงานที่ใช้ถ่านหิน แต่ตอนนี้มลพิษมาจากรถยนต์  สิ่งที่ทำอย่างแรกขณะนี้คือเราพยายามส่งเสริมยานยนต์ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ ตัวอย่างเช่น ยูเควางแผนที่จะห้ามการจำหน่ายรถยนต์ดีเซลและเบนซินในปี 2578 ตอนนี้บริษัทผู้ผลิตและผู้ซื้อรถต่างทราบแผนการนี้แล้ว ถือเป็นข้อมูลขั้นแรกในการตัดสินใจลงทุน 

อีกเรื่องหนึ่งคือโรงไฟฟ้าถ่านหิน การเลิกใช้ไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นเรื่องสำคัญต่อโลกมาก ยูเคจะเลิกใช้ภายในปี 2567สองเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เราให้ความสำคัญมากในปีนี้"

ทั้งนี้ เมื่อ 10 ปีก่อน พลังงานที่ใช้ในยูเคมาจากถ่านหิน 40% ทุกวันนี้เหลือแค่ 2%และจะเหลือ 0% ภายในปี 2567 ด้วยนโยบายที่ใช้เรื่องการลงทุนในพลังงานคาร์บอนต่ำ 

"หากทุกรัฐบาลรับปากว่าจะทำก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และเราก็ร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิด" 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากภาคธุรกิจต้องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มต้นทุน เรื่องนี้ทูตมีคำตอบ 

"ผมคิดว่าผลกระทบกับภาคต่าง ๆ แตกต่างกัน นี่คือปัญหาหนึ่งที่เราเผชิญสำหรับการทำ  Net Zero ให้ประสบความสำเร็จ  ถ้าคุณอยู่ในภาคธุรกิจที่ใช้พลังงานเข้มข้นก็จะส่งผลกระทบกับคุณมากกว่าภาคส่วนอื่น 

 แต่ผมอยากบอกว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ยูเคลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 44% ดังนั้นรัฐบาลจึงตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 78%  ภายในปี 2578  สำหรับประเทศเราไม่ใช่สิ่งที่ต้องเลือกระหว่างลดคาร์บอนกับเศรษฐกิจ คุณทำควบคู่กันได้และต้องทำควบคู่กัน รัฐบาลเป็นผู้กำหนดทิศทางนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากนั้นภาคเอกชนลงทุนตามนโยบาย เช่น โลว์คาร์บอนเทคโนโลยี ยานยนต์โลว์คาร์บอน ผมคิดว่าความท้าทายคือทิศทางนโยบายที่เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประเทศและบริษัทได้เลือกลงทุน ซึ่งเทคโนโลยีแห่งอนาคตมีโอกาสที่ใหญ่มาก"

พูดง่ายๆ คือ การทำธุรกิจแบบห่วงใยสิ่งแวดล้อมในระยะสั้นอาจมีผลกระทบบ้างแต่เกิดประโยชน์ในระยะยาวอย่างแน่นอน 

"ใช่ครับ บริษัทและประเทศจะได้ประโยชน์ระยะยาวหากลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำเสียแต่เนิ่นๆ เพราะมีโอกาสและตลาดใหญ่มาก ผมคิดว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบจัดความช่วยเหลือต่อบางภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบหนัก ต้องใช้เครื่องมือแตกต่างหลากหลายที่มีเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง บางครั้งอาจเป็นความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับบางภาคส่วนในช่วงเปลี่ยนผ่าน" ทูตยูเคกล่าวโดยสรุป