"วัคซีน mRNA" ไทย รอลุ้นผลศึกษา เฟส 2 คาดผลทยอยออกสัปดาห์หน้า

"วัคซีน mRNA" ไทย รอลุ้นผลศึกษา เฟส 2 คาดผลทยอยออกสัปดาห์หน้า

ส่องความคืบหน้า วัคซีน "ChulaCov19" ชนิด "mRNA" คณะแพทย์ จุฬาฯ เผยรอลุ้นผลการศึกษา ระยะ 2 คาดสัปดาห์หน้าเริ่มได้ผลการทดสอบ เตรียมศึกษาฉีดบูสเตอร์

วันนี้ (24 ก.ย. 64) ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ความก้าวหน้า COVID-19 mRNA Vaccine ประเทศไทย เนื่องใน วันมหิดล ปี 2564 ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ sirirajpr โดยระบุว่า ประวัติการณ์ของโลกในเรื่อง "วัคซีนโควิด-19" มีความก้าวกระโดด มีกว่า 266 วัคซีน จาก 300 กว่าวัคซีน ที่เข้าสู่ การวิจัยในมนุษย์ ตอนนี้อย่างน้อย 5 เทคโนโลยี ที่ขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน

 

ปัญหาที่เราตระหนัก และ พบเจอมาคือการเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน แม้ว่าทั้งโลกจะฉีดกันไปแล้ว 6,000 ล้านโดส ราว 33-40 ล้านโดสต่อวัน แต่ความเหลื่อมล้ำที่ยังมีช่องว่าง  เช่น ประเทศที่ฉีดไม่ถึง 5% อย่าง แอฟริกา หรือ ปาปัวนิวกินี หากปล่อยไว้ เชื้อกลายพันธุ์หรือที่ระบาดในประเทศเหล่านี้กระจายออกมา ก็จะเกิดปัญหาคล้ายเดลตาได้

 

ขณะที่อีกหนึ่งความท้าทาย คือ หลายคนมองว่าประเทศที่พัฒนามีการฉีดวัคซีนเยอะ แต่วัคซีนไม่ว่าชนิดไหน ก็จะค่อยๆ ตกตามธรรมชาติ ในประเทศอังกฤษ อิสราเอล สหรัฐ ที่มีการฉีดวัคซีนเยอะ ผ่านไป 6-8 เดือน เจอเดลต้า ทำให้การระบาดหนักขึ้นมา แต่อัตราการครองเตียง ไม่ได้สูงเหมือนตอนติดเชื้อใหม่ โดยในสหรัฐเองจะเห็นว่า 99.5% ของคนที่ป่วยหนักและเสียชีวิต เกิดกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

อ่านข่าว : "วัคซีนเชื้อตาย" ฝีมือคนไทย เฟส 1 ตรวจแอนติบอดีต่อสไปรค์ได้ 100%

  • "วัคซีน mRNA" ของไทย 

 

สำหรับการ วัคซีน ChulaCov19 เป็น ชนิด mRNA พัฒนาโดย รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศูนย์วิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  ความได้เปรียบของ วัคซีน mRNA คือ ออกแบบได้เร็ว ไม่ต้องเลี้ยงเชื้อ ยกตัวอย่าง โมเดอร์นา ใช้เวลาออกแบบ mRNA ทดสอบในสัตว์ และคน ไม่ถึง 2 เดือนครึ่ง และไม่ถึง 1 ปี ขึ้นทะเบียนได้ และในอนาคตต้นทุนการผลิตจะถูกลง ซึ่งขณะนี้ 1 ใน 6 ของโลก ฉีดวัคซีน mRNA

 

  • ศึกษาในสัตว์ กระตุ้นภูมิสูง 

 

ผลการวิจัยที่ผ่านมา ได้ผ่านการทดสอบในหนูและหนู พบว่า ภูมิสูงมาก เบื้องต้นพบว่า วัคซีนสามารถป้องกันสัตว์ทดลองไม่ให้ป่วยได้ โดสต่ำ 1-10 ไมโครกรัม ป้องกันไม่ให้ป่วยจากโควิด 100% และป้องกันเชื้อเข้ากระแสเลือด 100% ลดเชื้อในจมูก ปอด มากกว่า 10 ล้านเท่า กระตุ้นภูมิได้สูง

  • การทดสอบในมนุษย์เฟส 1-2 

 

ที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทำการทดลองในลิง และหนู ประสบผลสำเร็จ พบว่า สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิต และ ทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นวันแรก โดยแบ่งการทดสอบได้ ดังนี้ การทดสอบในระยะที่ 1 แบ่งออกเป็นสองกลุ่มอายุ จำนวน 72 คน

 

กลุ่มแรก เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 18-55 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน

กลุ่มสอง เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 56-75 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน

 

จากผลที่ออกมาในเดือน ส.ค. 64 ในจำนวนสองกลุ่มข้างต้น ซึ่งจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่ฉีดวัคซีน 10 ไมโครกรัม 25 ไมโครกรัม และ 50 ไมโครกรัม เพื่อดูว่าวัคซีน ChulaCov19 มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ปริมาณเท่าใด เพราะปัจจุบันโมเดอร์นาใช้วัคซีนปริมาณ 100 ไมโครกรัม ส่วนไฟเซอร์ใช้ 30 ไมโครกรัม ทางศูนย์ฯ ต้องศึกษาว่าคนไทยหรือเอเชีย เหมาะกับการฉีด 10 หรือ 25 หรือ 50 ไมโครกรัม จะได้รู้ขนาดที่ปลอดภัยและกระตุ้นภูมิได้สูง

 

เมื่ออาสาสมัครได้ฉีดเข็มที่สองไปแล้ว 7 วัน ผลข้างเคียงอยู่ในขั้นเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด เพลีย ไข้ หนาวสั่น แต่อาการจะดีขึ้นโดยเฉลี่ยภายใน 1-3 วัน

 

จากการทดสอบพบว่า ChulaCov19 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนตี้บอดี้ได้สูง กระตุ้นแอนตี้บอดี้ที่ได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม

 

นอกจากนี้ สามารถยับยั้งเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์คือ Alpha, Beta, Gamma และ Delta ได้เกิน 80% พร้อมทั้ง ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด T-Cell ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของคนที่ติดเชื้อได้อีกด้วย

 

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2 ในผู้ที่อายุ 18 - 59 ปี จำนวน 150 คน ซึ่งฉีดครบสองเข็มแล้ว สัปดาห์หน้าจะเริ่มได้ผลการทดสอบ กำลังหารือกับ อย. ว่าจะเดินต่ออย่างไรในการขึ้นทะเบียน ปีหน้าไม่ว่าวัคซีนใดในไทยหรือในโลก หลายประเทศก็คงจะเหลือคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนน้อยมากแล้ว น่าจะต้องทำการศึกษาในการฉีดบูสเตอร์ต่อไป