เช็ค! 3กลุ่มเดินทางเข้าไทย แนวทางใหม่ลดวันกักตัว

เช็ค! 3กลุ่มเดินทางเข้าไทย แนวทางใหม่ลดวันกักตัว

คกก.โรคติดต่อฯมีมติลดวันกักตัวเดินทางเข้าไทย  แบ่ง 3 กลุ่ม น้อยสุด 7 วัน เกณฑ์เดียวกันทุกประเทศต้นทาง เว้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะประกาศประเทศเพิ่มเติม รอชงเข้าศบค.  

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 23 ก.ย.2564 ที่กรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)เป็นประธาน กล่าวว่า คณะกรรมการฯมีมติเห็นชอบการลดระยะเวลาการกักกันผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ได้รับการกักตัวในสถานที่กักกัน หรือลดวันกักตัว จากเดิมที่ต้องกักกัน 14 วัน  โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

 1. ลดเหลือ 7 วัน  สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐานRT-PCRก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย และเมื่อมาถึงประเทศไทยจะต้องตรวจหาเชื้ออีก 2 ครั้งในวันที่ 0 และวันที่ออกจากสถานที่กักกัน ทกช่องทางเข้าออกประเทศ

   2. ลดเหลือ 10 วัน  ในผู้ที่ไม่มีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนครบโดส  เมื่อถึงไทยต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีRT-PCR  2 ครั้ง ในวันที่ 0-1 และวันที่ออกจากสถานที่กักกัน  ในส่วนของการเดินทางอากาศ และ3.กักตัวอย่างน้อย 14 วัน  ในผู้ที่ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธีRT-PCR 2 ครั้ง ในวันแรกที่มาถึงประเทศไทย และวันที่ 12-13  สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าทางบก เนื่องจากไม่มีการตรวจหาเชื้อมาก่อนและมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าทางอากาศ โดยมีการเสนอศบค.เพื่อพิจารณาต่อไป

      ผู้สื่อข่าวถามว่า หลักเกณฑ์จะใช้ดำเนินการจากผู้ที่เดินทางจากทุกประเทศต้นทางหรือจะมีประกาศประเทศเฉพาะ นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยหลักจะใช้เกณฑ์เดียวกันในทุกประเทศ เว้นแต่จะมีเหตุการณ์อื่นๆเพิ่มเติม จะใช้อำนาจของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเพิ่มเติมได้

     ต่อข้อถามประชาชนกังวลเรื่องการลดวันกักตัวเนื่องจากสายพันธุ์เดลตาครองโลกอยู่ นพ.โอภาส กล่าวว่า คณะกรรมการวิชาการฯพิจารณาในหลายมิติและรอบด้าน อีกทั้ง เป็นการลดวันกักตัวแบบมีเงื่อนไข  คือ ฉีดวัคซีนครบโดส และตรวจหาเชื้อก่อนเข้าประเทศ ต้องมีผลเป็นลบ และตรวจหาเชื้อซ้ำอีก มาตรการกำหนดไว้ค่อนข้างรัดกุม
     “การลดวันกักตัวไม่ได้ทำให้เกิดสถานการณ์การระบาดที่มากขึ้น รวมทั้งเดลตาในประเทศไทยมีการระบาดมากรวมถึงทั่วโลก แต่มีข้อดีทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19ได้มากขึ้น ซึ่งมี 2 ส่วนในเชิงสัญลักษณ์ว่าพร้อมอยู่ร่วมกับโควิด คือ 1.การลดวันกักตัวจะทำให้การเดินทางระหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องท่องเที่ยว การประกอบธุรกิจ การไปเรียนศึกษาต่อ และ2.การเปิดโรงเรียน เพราะฉะนั้นถ้าทำ 2 สิ่งนี้ได้ ก็จะเป็นตัวที่แสดงว่าสามารถควบคุมโรคโควิด-19อยู่ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่มีผู้ติดเชื้อเลย เพราะทั่วโลกยอมรับว่าเชื้อกลายพันธุ์ได้เรื่อยๆ การที่จะทำให้เชื้อหมดไปในระยะเวลาอันสั้น เป็นสิ่งยากลำบาก แต่จะปรับตัวให้อยู่ร่วมกับโรคได้อย่างไร ลดอัตราการเสียชีวิต และลดการป่วยหนัก เป็นสิ่งสำคัญที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการมีชีวิตอย่างปกติมากยิ่งขึ้น”นพ.โอภาสกล่าว