'กรมอนามัย' แนะ 'วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น' หากสัมผัส 'สารเคมีรั่วไหล'

'กรมอนามัย' แนะ 'วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น' หากสัมผัส 'สารเคมีรั่วไหล'

​'กรมอนามัย' กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนที่อยู่บริเวณจุดไฟไหม้ 'โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้' แนะวิธีป้องกันตัวหลังสัมผัสกับ 'สารเคมีรั่วไหล' และ 'วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น' หวั่นกระทบต่อสุขภาพ

วันนี้ (5 ก.ค. 64) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณี 'โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้' เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เวลาประมาณ 03.30 น อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการซึ่งพบว่าเกิดเพลิงไหม้ตัวอาคารโรงงานอย่างรุนแรง และมีเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะ แรงอัดทำให้บ้านเรือนและโรงงานที่อยู่โดยรอบข้างรัศมี 500 เมตร ได้รับความเสียหายจำนวนมาก

ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นพบ ถังเคมีขนาด 2,000 ตัน ระเบิดภายในบริษัทมีแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้เป็นวงกว้าง และมีควันดำฟุ้งกระจายไปในรัศมีหลายกิโลเมตร สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ ได้ขอความร่วมมือประชาชนอพยพออกจากพื้นที่อย่างน้อย 5 กิโลเมตร เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากสารเคมี เป็นสไตรีนโมโนเมอร์ที่เป็นของเหลว ไวไฟ เมื่อติดไฟจะให้ควันหรือก๊าซที่ระคายเคืองหรือเป็นพิษ จึงห้ามอยู่ใกล้ เปลวไฟและประกายไฟ และห้ามสูบบุหรี่

  • วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

สารนี้มีอันตรายต่อระบบอวัยวะสำคัญของร่างกาย ทั้งระบบ ทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบสร้างเลือด ตับ และระบบประสาทส่วนกลาง

เมื่อได้รับไอระเหยของสารนี้ทางการสูดดม ส่งผลให้เวียนศีรษะ ง่วงซึม ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หมดสติ จะต้องย้ายผู้ป่วยไปบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ทันที

หากได้รับทางผิวหนัง จะมีอาการผิวหนังแดง ปวด ให้ใช้วิธีล้างผิวหนังทันทีด้วยสบู่และน้ำปริมาณมาก ๆ หากสัมผัสสารทางดวงตาจะทำให้ระคายเคืองตา ตาแดง ปวดตา จึงควรล้างตาด้วยน้ำ ในปริมาณมาก ๆ เช่นกัน เพื่อเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

 

  • ข้อปฏิบัติ หากเพลิงไหม้ หรือ 'สารเคมีรั่วไหล'

ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้และมีสารเคมีรั่วไหลออกมา ประชาชนควรตั้งสติ และปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

1) อพยพออกจากพื้นที่ทันทีตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการ และอยู่เหนือลม หรืออยู่ในอากาศที่ถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการสูดดมควัน 

2) กรณีที่สัมผัสควันไฟหรือไอระเหยจากสารเคมีให้รีบนำผู้บาดเจ็บออกจากพื้นที่ หากสารเคมีเปื้อนผิวหนังให้ล้างและทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ แต่ถ้าสัมผัสสารเคมีหรือโดนไอระเหยเข้าดวงตาให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง และโทรเรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669

3) เมื่อออกจากพื้นที่ได้แล้ว หากพบว่ามีคนติดอยู่ห้ามกลับเข้าไปด้วยตนเองเด็ดขาด ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ

4) ติดตามข้อมูลสถานการณ์ จากหน่วยงานภาครัฐ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

5) ถึงแม้เหตุการณ์ไฟไหม้จะสงบลงแล้ว ยังไม่ควรเข้าใกล้หรือสัมผัสสารเคมีในบริเวณนั้นโดยเด็ดขาดจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว หากเหตุการณ์สงบแล้วและกลับเข้าบ้านต้องประเมินสถานภาพตนเองและคนใกล้ชิด หากพบมีอาการผิดปกติดังกล่าวควรรีบกลับมาพบแพทย์ทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว