แนะ 'ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง-'ปลูกถ่ายอวัยวะ' ฉีด 'วัคซีนโควิด'

แนะ 'ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง-'ปลูกถ่ายอวัยวะ' ฉีด 'วัคซีนโควิด'

แพทย์ ย้ำ "ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง" และ "ปลูกถ่ายอวัยวะ" ควรฉีด "วัคซีนโควิด" ระบุสามารถเพิ่มภูมิต้านทานได้ดีถึง 70-80% ลดการติดเชื้อ ความรุนแรง และการเสียชีวิตได้

“กลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง” เป็นหนึ่งใน 7 ผู้ป่วย "โรคเรื้อรัง" ที่จะต้องได้รับการฉีด "วัคซีนโควิด-19" ตามแนวทางของรัฐบาลที่เปิดให้ประชาชน 2 กลุ่มแรก คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วย 7  "โรคเรื้อรัง" ได้ลงทะเบียนจองฉีด"วัคซีนโควิด-19" ผ่านทางแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” และโรงพยาบาล รพ.สต. และอสม. ซึ่งข้อมูลล่าสุด วันที่ 12 พ.ค.2564 มีผู้ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนสะสมรวม 1,924,538 คน โดยแบ่งเป็นจำนวนการจองคิวฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานคร 560,931 คน และจำนวนการจองคิวฉีดวัคซีนต่างจังหวัด 1,363,607 คน

  • "ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง" ฉีด "วัคซีนโควิด-19"

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เปิดเผยถึงจำนวน"ปลูกถ่ายไต"ปี 2563 จาก 31 โรงพยาบาล พบว่า มีการ "ปลูกถ่ายไต" ประมาณ 700 กว่าราย มีผู้ป่วย"ปลูกถ่ายไต"ที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน 6,640 ราย และผู้รออวัยวะ 5,692 ราย ขณะที่การเปลี่ยนตับนั้น มีการปลูกถ่ายตับ 124 ราย และมีผู้ป่วยปลูกถ่ายตับที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน 1,031 ราย

162082495697

รศ.พญ.ธนันดา ตระการวนิช ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรแพทย์โรคไต กล่าวว่าขณะนี้ประเทศไทยมี "ผู้ป่วยโรคไต"ประมาณ 12 ล้านคนหรือประมาณเกือบ 10% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะไตมากที่สุด รองลงมาจะเป็น ตับ หัวใจ และปอด

โดยหลังจากที่คนไข้ปลูกถ่ายอวัยวะนั้น ต้องใช้ยากดภูมิ และต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 การที่รัฐบาลได้ให้ "ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง" เป็น 1 ใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับ "วัคซีนโควิด-19" ก่อน เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนไข้กลุ่มนี้อย่างมาก เพราะการฉีด "วัคซีนโควิด-19" แม้ในประเทศไทยยังไม่มีการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า วัคซีนโควิด-19 ช่วยเพิ่ม "ภูมิต้านทาน"โรคโควิด-19 ให้แก่ผู้ป่วยโรคไตได้

  • กลุ่มผู้ป่วย "ปลูกถ่ายอวัยวะ"ต้องเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรค

ตอนนี้เรากำลังศึกษาว่าวัคซีน 2 ชนิดที่มีอยู่ในบ้านเรา เมื่อนำมาฉีดแก่ผู้ป่วยแล้วควรจะฉีดจำนวนเท่าใด และจะมีผลข้างเคียงหรือไม่อย่างไร เพราะแม้ในต่างประเทศจะมีผลข้างเคียงน้อย พบใน 2-3 คนเท่านั้นที่ภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีนจะไม่ขึ้น แต่คนไข้ที่ฉีดวัคซีนแล้วภูมิคุ้มกันขึ้นดีขึ้นถึง 70-80% มีจำนวนมาก ทั้งที่คนไข้กลุ่มนี้ต้องกินยากดภูมิ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงในการติดโควิด-19 อย่างมาก อยากให้คนไข้กลุ่มนี้ทุกคนลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และความรุนแรงของโรครศ.พญ.ธนันดา กล่าว

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมประชาสัมพันธ์ ระบุชัดเจนว่า 7 อันดับโรคประจำตัว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง 73% โรคเบาหวาน 55% โรคไขมันในเลือดสูง 30% โรคไตเรื้อรัง 17% โรคหัวใจ 13% โรคอ้วน 8% และโรคปอด 8% อีกทั้งข้อมูลลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิต ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-10 พ.ค.2564 รวม 327 ราย พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 86% และผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัว 14%

162082468061

รศ.พญ.ธนันดา กล่าวต่อว่าในต่างประเทศมีการฉีด "วัคซีนโควิด-19" ให้แก่ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ รวมถึงผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง โดยบางประเทศต้องฉีด  2เข็ม ซึ่งในส่วนของไทยจะมีการพิจารณารับวัคซีนที่ไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็น ได้แก่ วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ วัคซีนชนิดเชื้อตาย และวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ โดยจะฉีดสำหรับผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะไปแล้ว 3 เดือน

ในกรณีที่นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลคงต้องเป็นการพิจารณาของแพทย์ และผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ก็ยังควรได้รับวัคซีน เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการกดยากดภูมิ ซึ่งจะทำให้ "ภูมิต้านทาน"โรคโควิด-19ได้น้อยเมื่อเทียบกับคนปกติ อีกทั้งต่อให้ฉีด "วัคซีนโควิด-19" แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย หรือคนปกติก็ต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข เพราะวัคซีนเป็นการป้องกัน

การฉีด "วัคซีนโควิด-19" ให้แก่ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วยไตวายเรื้อง ผู้ป่วยตับเรื้อรัง ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคปอด หรือผู้ป่วยรอการปลูกถ่ายอวัยวะทุกอวัยวะ หลังฉีดวัคซีนจะต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และทุกควรฉีดเพื่อจะได้สร้างภูมิคุ้มกัน อีกทั้งควรจะเป็นการฉีดวัคซีนที่อ้างอิงตามหลักฐานทางการแพทย์ ทั้งในและต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: เปิดขั้นตอน 'ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด' ต้องทำอย่างไรบ้าง?

                     บอร์ดวัคซีน รื้อระบบ งัดสูตร 30:50:20 เร่งฉีด ไฟเขียวให้ 'วอล์คอิน' ได้

                     'เซ็นทรัล ลาดพร้าว' ระดมฉีดวัคซีนวันแรก! เป้า 2 พันคน

  • ฉีดวัคซีนเร็ว ป้องกันโรค ลดอาการรุนแรงเสียชีวิต

ผู้ป่วย "ปลูกถ่ายอวัยวะ"ต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ "ปลูกถ่ายอวัยวะ"ไปแล้ว และกำลังรอการ "ปลูกถ่ายอวัยวะ" ซึ่งกลุ่มที่ปลูกถ่ายอวัยวะ หลังจาก "ปลูกถ่ายอวัยวะ" ร่างกาย ระบบต่างๆของเขามีการเปลี่ยนไป พวกเขาต้องทานยากดภูมิ ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น ต้องระวังการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะ 3 เดือนแรกหลังจาก "ปลูกถ่ายอวัยวะ"ต้องทายยากดภูมิที่มีโดสสูงๆ ทำให้การฉีดวัคซีนโควิด -19 ในกลุ่มนี้ต้องเฝ้าระวัง เพราะฉีดไปแล้วภูมิคุ้มกันอาจจะขึ้น หรืออาจจะขึ้นเพียงครึ่งเดียวของผู้ป่วยอื่น

ส่วนกลุ่มที่กำลังรอปลูกถ่ายอวัยวะ พวกเขาสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยต้องเฝ้าระวังเช่นเดียวกัน แต่ภูมิคุ้มกันอาจจะขึ้นดี และผลข้างเคียงอื่นๆ จะเหมือนคนปกติ รวมถึงการเกิดลิ่มเลือดก็ไม่น่าจะเกิดได้เช่นเดียวกัน ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยแต่ละคนต้องฉีดกับวัคซีนชนิดไหน และต้องติดตามเฝ้าระวังอาการต่อไปเรื่อยๆ

162082498348

“ก่อนเกิดโควิด-19 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตจำนวนมาก และมีการปลูกถ่ายอวัยวะประมาณ 300 รายต่อปี เพราะส่วนหนึ่งต้องมีผู้บริจาคอวัยวะด้วย แต่เมื่อเกิดโควิด-19 การปลูกถ่ายอวัยวะก็รักษาได้น้อยลง เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องของหอผู้ป่วย เตียง และการขอรับบริจาคอวัยวะ หลายๆเคสในขณะนี้ยังต้องรอการปลูกถ่ายอวัยวะด้วย แต่ทั้งนี้เมื่อเราหลีกเลี่ยงสถานการณ์ไม่ได้ก็ต้องให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นการเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่พวกเขา ขณะเดียวกัน ขอให้ประชาชนทุกคนฉีดวัคซีน เพราะวัคซีนที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค อยากให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันตนเอง ป้องกันคนที่เรารัก ช่วยประเทศ รศ.พญ.ธนันดา กล่าว

โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ล้วนเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะโรคไตที่เมื่อเกิดขึ้นพร้อมกับโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่โควิด-19 ดูเหมือนจะชื่นชอบเป็นพิเศษเช่นเดียวกับโรคความดันโลหิตสูง ที่เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคเหล่านี้หากติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูง การฉีด "วัคซีนโควิด-19" จึงต้องครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงครอบครัวและญาติของผู้ป่วยด้วย เพื่อไม่ให้ญาติ หรือครอบครัวกลายเป็นผู้แพร่เชื้อให้แก่ผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น 2 กลุ่มดังกล่าว จะสามารถจองฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันนี้ และจะเริ่มฉีดในเดือนมิ.ย.2564 นี้