'ยั่งยืน' และ 'ปลอดภัย' ความท้าทายธุรกิจในวิกฤติโควิด 19

'ยั่งยืน' และ 'ปลอดภัย' ความท้าทายธุรกิจในวิกฤติโควิด 19

ที่ผ่านมาปัญหาสภาวะแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั่วโลก หลายฝ่ายรวมกันแก้ไขรวมถึงภาคธุรกิจ แต่หลังจากเกิดวิกฤติโควิด 19 ขยะพลาสติก และขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกครั้งจากมาตรการความปลอดภัย หลายคนมองว่าอาจต้องดึงเรื่องความปลอดภัยมาก่อนในเวลานี้

โรดแมป กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการลดใช้ขยะพลาสติกทุกประเภทอย่างเต็มรูปแบบในปี 2573 แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังจากเริ่มมีการลดใช้ถุงพลาสติกไม่นาน ส่งผลให้ขยะพลาสติกที่มาจากการธุรกิจเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นกว่า 60%

ความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างโควิด 19 นี้ เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของการแก้ปัญหาสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ขณะที่ภาคธุรกิจเอง นอกจากจะต้องปรับการบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 สงครามการค้า สงครามราคาน้ำมันแล้ว ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญต่อเนื่อง ควบคู่กันไป

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะธุรกิจเคมีภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท. ครอบคลุมการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลาย สามารถนำไปต่อยอดเป็นเคมีภัณฑ์ที่หลากหลายและเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์การสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ธุรกิจก่อสร้าง พลาสติกเชิงวิศวกรรม อุปกรณ์ ทางการเกษตร ฯลฯ ด้วยการผสานนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ได้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว และปรับตัวรับวิกฤติ สร้างความสมดุลทั้งสามมิติของความยั่งยืน ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบแนวทางการดำเนินงาน ด้านความยั่งยืนของโลก (United Nations Global Compact: UN Global Compact และ Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นองค์ประกอบสำคัญในการวางแผนยุทธศาสตร์

162032441535

โดยจัดลำดับความสำคัญ และมุ่งเน้นใน 3 ประเด็น ได้แก่ เป้าหมาย 12 : การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) เป้าหมาย 13 : การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และ เป้าหมาย 9 : อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure)  ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งต่อธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

  • "ความยั่งยืน" ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

 

“ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า “ความยั่งยืน” เป็น 1 ใน 3 กลยุทธ์หลักของการดำเนินงาน GC ทั้งปัจจุบันและอนาคต เมื่อพูดถึงความยั่งยืน หมายความว่าต้องสร้างความสมดุล ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีเรื่องหลักๆ คือ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้กลไก “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy)

“เศรษฐกิจหมุนเวียน” ของ GC แบ่งเป็น 3 หัวข้อย่อย คือ 1. การดำเนินธุรกิจที่ลดการใช้ทรัพยากร” โดยปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงาน ลดการใช้พลังงาน ใช้วัตถุดิบน้อยลง ใช้น้ำน้อยลง ลดการปล่อยของเสีย ถัดมา คือ 2. การออกแบบผลิตภัณฑ์” ให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน คงทน ใช้ได้นาน ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ และ ผลิตภัณฑ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ฟิล์มบางชีวภาพ (Bio Flexible Film) สำหรับผลิตถุงชอปปิง บัตรสมาชิก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. การเชื่อมโยงแนวคิดกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง” เป็นการสร้างแนวร่วม โดย 5 ปีที่ผ่านมา GC ได้เริ่มต้นทำ Upcycling โดยนำเอาพลาสติกที่ถูกทิ้งมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ ครบทั้งต้นทาง ระหว่างทาง และปลายทาง โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ใน “โครงการ YOU เทิร์น” หรือ พลาสติกเทิร์นสุข แพลตฟอร์มของ GC ที่สนับสนุนกระบวนการ Loop Connecting รับขยะผ่านจุดรับขยะดิจิทัลที่สามารถสะสมคะแนนผ่านแอพพลิเคชั่นได้

162032441570

รวมถึง ร่วมมือพาร์ทเนอร์ไม่ว่าจะห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมัน ปตท. และร้านอาหาร ในการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง จับมือ กับพาร์ทเนอร์ด้านโลจิสติกส์ในการจัดส่ง และนำมารีไซเคิล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะ 60,000 ตันต่อปี ที่มาบตาพุด จ.ระยอง และนำมาทำผลิตภัณฑ์ Upcycling อย่างครบกระบวนการ 

“ตอนนี้ ประชาชนและองค์กรใหญ่ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันเยอะขึ้น เป้าหมายความสำเร็จของ GC คือ สร้างแนวร่วมให้เพิ่มขึ้น เช่น การให้คำแนะนำกับธุรกิจขนาดเล็ก สนับสนุนกระบวนการ Loop Connecting เพราะมองว่าความสำเร็จในอนาคต ต้องสร้างการมีส่วนร่วมและบทบาทในการช่วยกันขับเคลื่อน” ดร.คงกระพัน กล่าว

  • เมื่อชีวิตไม่ปลอดภัย ต้องยอมทำลายสิ่งแวดล้อมจริงหรือ ?

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด 19 หลายคนพูดว่าต้องยอมทำลายสิ่งแวดล้อมไปอีกสักระยะหนึ่ง เพราะเราไม่ปลอดภัย เช่น ขยะใช้ครั้งเดียวทิ้ง หน้ากากอนามัย รวมไปถึงภาชนะที่ต้องทิ้งเพราะกลัวติดเชื้อ ส่งผลให้ขยะมูลฝอยเพิ่มจาก 4 ตัน เป็น 5.3 ตัน ต่อวัน

“ดร.คงกระพัน” กล่าวต่อไปว่า GC มีแนวคิดว่า ความยั่งยืน ต้องยั่งยืนในทุกสภาวะ ไม่ใช่ตอนนี้รู้สึกไม่ปลอดภัยแล้วจะไม่ทำต่อ ทั้งสองเรื่องสามารถทำไปพร้อมกันได้ทั้งความยั่งยืน และ ความปลอดภัย ในช่วงปีที่ผ่านมา จึงมีโครงการ ความร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ ได้แก่ “ชุดกันเชื้อแบบความดันบวก” (PAPR) เสื้อกาวน์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก PE หน้ากากอนามัย “ชุด Coverall ภายใต้แบรนด์ Greater Care by GC จากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) 100% เป็นชุด PPE Level 2 ตัวแรกของโลกที่สามารถทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง

162032441553

“โครงการฮาวทูแยก-แยกอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ” โดย GC เป็นผู้ริเริ่มประสานกับภาครัฐและพันธมิตร เพื่อคัดแยกและทิ้งขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธีในหลายจังหวัด และ “โครงการใช้ Bio Package ใน Food Delivery เพื่อเป็นทางเลือกในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่งอาหาร

 

“อุปกรณ์การแพทย์ เช่น PPE ชุดคลุม ฯลฯ มีการบริจาคให้แก่ รพ.หลายแห่ง โดยเฉพาะ ในกทม. ระยอง อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา หลังโควิด 19 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะยังคงมีการดำเนินการต่อไป เพราะการป้องกันสุขภาพจะคงอยู่ ต่อให้ไม่มีโควิด 19 ก็มีโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ อุปกรณ์ทางการแพทย์คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดี” ดร.คงกระพัน กล่าวทิ้งท้าย

162032441599

  • ฮาวทูแยก..แยกอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ

สำหรับโครงการฮาวทูแยก..แยกอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ” เกิดจากการร่วมมือระหว่าง GC สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย และบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด หรือ GDH เพื่อการคัดแยกขยะและทิ้งอย่างถูกวิธี ไม่ให้เกิดการปนเปื้อนและแพร่เชื้อ โดย GC สนับสนุนอุปกรณ์สำคัญ ได้แก่ ถังขยะสีแดงแบบลดการสัมผัส ด้วยการใช้เท้าเหยียบในการเปิดตัวถัง ความจุ 120 ลิตร สำหรับคัดแยกขยะมูลฝอยติดเชื้อ จำนวน 300 ใบ และถุงขยะสีแดงสำหรับใส่ขยะมูลฝอยติดเชื้อจำนวน 35,000 ใบ ซึ่งผลิตจากเม็ดพลาสติกคุณภาพสูง InnoPlus มีความทนทาน ได้รับการรับรอง Carbon Footprint

โดยบนถุงและถังแดง ได้มีคำอธิบายภาษาไทย และภาษาเมียนมา ภาษาถิ่นของแรงงานต่างด้าว ส่งมอบให้แก่สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย ได้นำไปใช้ในการจัดการกับขยะมูลฝอยติดเชื้อตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขต่อไป